รู้จักนักสืบ

ใครๆ ก็รู้ว่าอากาศสำคัญกับชีวิตเราขนาดไหน เราอาจอดอาหารได้นาน 3 เดือน หรืออดน้ำได้ 3 วัน แต่ถ้าเราขาดอากาศเกิน 3 นาที เราตายแน่

อากาศผ่านเข้าออกร่างกายเราตลอดเวลา ทุกลมหายใจ แต่ในเมืองใหญ่มีคนมากมายอย่างกรุงเทพมหานคร อากาศดีๆ ไม่ค่อยมีให้สูด

อากาศกทม. ปนเปื้อนด้วยมลพิษต่างๆ ทั้งจากท่อไอเสียรถยนต์ จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การเผาขยะ รวมทั้งสารเคมีการเกษตรในบางพื้น ออกจากบ้านไปไหนๆ ไม่นาน ผมเราก็เหม็นสกปรก ผิวหนังคันยิบๆ ขี้มูกดำปี๋ และเหม็นควันจนแทบเป็นลม ทั้งหมดเป็นสัญญาณหยาบๆ ที่มนุษย์อย่างเรารู้สึกได้เมื่อคุณภาพอากาศแย่สุดทน แต่ที่จริง เรามีทางรู้ถึงคุณภาพอากาศได้ละเอียดกว่านั้นด้วยการสังเกตสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ไลเคน ดูเผินๆ ไลเคนเหมือนเป็นรอยด่างดวงหรือโรคที่มักขึ้นอยู่ตามเปลือกไม้ ถ้าดูดีๆ ไลเคนคือสิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่าย ไลเคนบอบบางเพราะรับมลพิษได้ง่าย ไม่เหมือนพืชหรือต้นไม้ที่มีสารคล้ายขี้ผึ้งเคลือบที่ใบ

ดังนั้น ที่ใดมีมลพิษมาก อาจเหลือไลเคนไม่มาก หรือหนักจนเข้าขั้นไม่มีไลเคนปรากฏอยู่เลย ที่ใดมลพิษน้อย อากาศดี ไลเคนก็อยู่กันหนาแน่น หลายหลายชนิด โดยเฉพาะชนิดที่ชอบอากาศสะอาด

พูดได้ว่า ไลเคน เป็นตัวบ่งชี้มีชีวิตที่บอกถึงคุณภาพอากาศได้ ถ้า “อ่าน” เป็น หลายประเทศทั่วโลกใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือทางชีวภาพในการตรวจคุณภาพอากาศควบคู่ไปกับการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ

โครงการนักสืบสายลม ของมูลนิธิโลกสีเขียวจึงเกิดขึ้นจากหลักการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากหน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The British Lichen Society & Natural History Museum of London ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้จัดอบรมอาสาสมัคร นักเรียนและคุณครูจากโรงเรียน 51 โรงเรียน รวมทั้งผู้สนใจจากหน่วยงานและกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสิ้นเกือบ 400 คน ซึ่งกระจายกำลังกันออกสำรวจคุณภาพอากาศในเขตพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เช่น วัด สวนสาธารณะ ทั่วกทม. 214 แห่ง นำมาวิเคราะห์และสรุงจนได้แผนที่คุณภาพอากาศจากการสำรวจไลเคนฉบับประชาขึ้นขึ้นเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจัดทำ หนังสือ “นักสืบสายลม คู่มือสำรวจไลเคนกรุงเทพฯ ตรวจอากาศเมือง” ขึ้นเพื่อเป็นคู่มือประชาชนสำหรับจำแนก สำรวจ และใช้ประเมินคุณภาพอากาศได้ด้วยตนเองด้วย


-โครงการจบเเล้ว-

หากสนใจกระบวนการและกิจกรรมติดต่อ >>> มูลนิธิโลกสีเขียว โทร 02 662 5766