เกี่ยวกับมูลนิธิโลกสีเขียว

มูลนิธิโลกสีเขียวก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2534 โดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ได้รับพระกรุณาจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ต่อสาธารณชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมของไทย ผ่านสื่อหลากรูปแบบ เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย

มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชุมชนท้องถิ่น ครู เด็ก และครอบครัว โดยสร้าง กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในพื้นที่ เพื่อให้คนท้องถิ่นหรือประชาชนทั่วไปสามารถวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมรอบตัวได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์ราคาแพง

โครงการนักสืบสิ่งแวดล้อมของเรา อาทิ นักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด นักสืบสายลม ใช้การสังเกตสิ่งมีชีวิต ในน้ำจืด ในทะเล และพื้นที่ธรรมชาติรอบตัว เป็นเครื่องมือชี้วัดสภาวะแวดล้อม โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น แว่นขยาย และคู่มือสำรวจ กับทักษะพื้นฐานที่ทีมวิทยากรและพี่เลี้ยงของเราช่วยฝึกฝนให้

ด้วยวิธีการนี้ เราสามารถสร้างเครือข่ายนักสืบสิ่งแวดล้อมได้ทั่วประเทศ โดยกลุ่มคนที่ได้รับการฝึกฝนจาก เราเป็นผู้สืบทอดกระบวนการนักสืบไปยังชุมชนกลุ่มอื่นๆ ด้วยตัวเอง จากการติดตามผลของโครงการนี้ พบว่าหลายท้องถิ่นสามารถบริหาร จัดการ ดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามูลนิธิฯ จึงหันมามุ่งเน้นงานในเมืองมากขึ้น โดยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนเมือง ให้กลับมาเชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกครั้ง เราจัดกิจกรรมกลางแจ้งเป็นประจำ เพื่อให้คนเมืองได้เรียนรู้เกี่ยว กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวและความหลากหลายทางชีวภาพที่แอบอาศัยอยู่ร่วมกับเราในเมือง หนึ่งในงานรณรงค์ หลักของเราคือการส่งเสริมให้กรุงเทพ เป็นเมืองจักรยาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาหลายประการในเมือง ทั้งปัญหา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่ ทั้งสำหรับมนุษย์และชีวิตร่วมโลก

มูลนิธิฯ มุ่งมั่นที่จะคิดค้นและพัฒนาสร้างกระบวนการเรียนรู้กับชุมชนผ่านประสบการณ์จริง และเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน เพื่อหวังจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และท้ายสุดสามารถ สร้างสังคมที่แข็งแกร่งสืบต่อไปในอนาคต ด้วยความเชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังจากพลเมือง


คณะกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว

  1. หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์

  2. ประธานผู้ก่อตั้ง

  3. ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์

  4. ประธานกรรมการมูลนิธิ

  5. คุณ ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์

  6. รองประธานกรรมการ

  7. คุณ อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์

  8. รองประธานกรรมการ

  9. ดร.สุภัชญา เตชะชูเชิด

  10. กรรมการมูลนิธิ

  11. ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

  12. กรรมการมูลนิธิ

  13. คุณ สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา

  14. กรรมการและเหรัญญิก

  15. ดร.เพชร มโนปวิตร

  16. กรรมการและเลขาธิการ

เจ้าหน้าที่มูลนิธิ

  1. สมนึก ซันประสิทธิ์

  2. ผู้อำนวยการมูลนิธิ

  3. ศิริพร ศรีอร่าม

  4. ผู้อำนวยการแผนงานพัฒนาความร่วมมือ

  5. อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ

  6. ผู้จัดการฝ่ายผลิตสื่อและกิจกรรมพิเศษ

  7. รสมาลี เขม้นงาน

  8. ฝ่ายการตลาด

  9. สุวนันท์ กันเรือน

  10. ฝ่ายผลิตสื่อและกิจกรรมพิเศษ

  11. ณิชาบูล เชิมชัยภูมิ

  12. ฝ่ายผลิตสื่อและกิจกรรมพิเศษ

  13. นิธิพจน์ ชัยอาจ

  14. นักศึกษาฝึกงาน

  15. กรรณิกา บุญปลูก

  16. นักศึกษาฝึกงาน

  17. อรุณสิริ เต็มพิทักษ์สิริ

  18. นักศึกษาฝึกงาน

  19. ธวัลรัตน์ ภู่กัน

  20. นักศึกษาฝึกงาน

ประวัติความเป็นมาของ Green world Foundation

  1. การก่อตั้ง

    ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ เพื่อเป็นองค์กรจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์

  2. จัดทำนิตยสาร “โลกสีเขียว”

    จัดทำนิตยสาร “โลกสีเขียว” ราย 2 เดือน เป็นนิตยสารที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจกระแสการเปลี่ยนแปลง ของความรู้ ความคิด เหตุการณ์ และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ (ระยะเวลาดำเนินงาน 17 ปี 2535-2551)

  3. จัดทำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อม

    จัดทำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รายงาน เอกสารสัมมนา วารสาร นิตยสาร สื่อวิดีทัศน์ ทั้งภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป (ระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี 2536-2556)

  4. จัดทำหนังสือ “สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย”

    จัดทำหนังสือ “สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” ราย 2 ปี เป็นหนังสือประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยในรอบสองปีที่นำเสนอบทวิเคราะห์ภาพรวมของสิ่งแวดล้อมไทยอย่างครอบคลุมทุกด้าน ให้ข้อมูลและสถิติที่ทันสมัยที่สุดในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงและใช้เป็นฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

  5. เริ่มจัดทำคู่มือและสื่อเรียนรู้ธรรมชาติ

    เริ่มจัดทำคู่มือและสื่อเรียนรู้ธรรมชาติในประเทศไทย ทั้งโปสเตอร์ แผ่นพับ และคู่มือจำแนกพันธุ์สัตว์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาโครงการนักสืบสิ่งแวดล้อมต่อไป

  6. เริ่มต้นโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม

    เริ่มต้นโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องด้วยโครงการ “นักสืบสายน้ำ” เป็นกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาที่มุ่งให้โรงเรียนและประชาชนในลุ่มน้ำปิงตอนบน สามารถสำรวจสิ่งมีชีวิตในสายน้ำเพื่อประเมินคุณภาพน้ำ เกิดความตระหนักต่อสุขภาวะของระบบนิเวศน้ำ เชื่อมโยงสู่ระบบนิเวศอื่นๆ และหาแนวทางดูแลสายน้ำในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง (ระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี 2541-2548)

  7. จัดทำแผนที่คุณภาพน้ำฉบับประชาชน ผ่านกิจกรรม “เฝ้ามองแม่ปิง”

    จัดทำแผนที่คุณภาพน้ำฉบับประชาชน ผ่านกิจกรรม “เฝ้ามองแม่ปิง” กับโรงเรียน 50 โรงในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ร่วมออกสำรวจคุณภาพน้ำแม่ปิงตอนบนมากกว่า 100 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน

  8. ดำเนินโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบชายหาด”

    ดำเนินโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบชายหาด” เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้ตอนกลาง (ฝั่งทะเลอันดามัน จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง) สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมชายหาดท้องถิ่น ที่มีระบบนิเวศที่สำคัญแต่กำลังถูกคุกคามมากที่สุด เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดูแลเฝ้าระวังชายหาดได้ด้วยตนเอง โดยมีเครื่องมือและกระบวนการเรียนรู้ให้ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปนำไปใช้ต่อได้ (ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี 2546-2549)

  9. ดำเนินโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบชายหาดในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน”

    ดำเนินโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบชายหาดในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน” เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและชุมชนในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตก (บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี) ให้สามารถดำเนินการวางแผน เฝ้าระวังรักษาพื้นที่ชายหาดท้องถิ่น ใช้เป็นฐานข้อมูลรองรับปัญหาการพัฒนาชายหาดในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี 2549-2550)

  10. ริเริ่มโครงการหนังสือสิ่งแวดล้อมอ่านง่าย

    ริเริ่มโครงการหนังสือสิ่งแวดล้อมอ่านง่าย นำร่องด้วยหนังสือเล่ม “โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำเปลี่ยนแปลงโลกเสมอ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สภาวะโลกร้อน โดยใช้ภาพดำเนินเรื่อง ประกอบกับการย่อยข้อมูลสถิติตัวเลขต่างๆ ให้อ่านง่ายและสนุก เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยม ตีพิมพ์ถึง 8 ครั้ง รวมกว่า 20,000 เล่ม ตามด้วยหนังสือเล่มอื่นๆ ในแนวเดียวกันอีกหลายเล่ม

  11. จัดทำโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบสายลม”

    จัดทำโครงการ นักสืบสิ่งแวดล้อม “นักสืบสายลม” เพื่อให้เยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมศึกษาการกระจายพันธุ์ของไลเคน เพื่อประเมินคุณภาพอากาศ และให้คนเมืองเห็นปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้เกิดความตระหนักที่จะร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มที่ตนเอง (ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี 2552-2553)

  12. จัดทำโครงการ สู่วิถีจักรยานกรุงเทพฯ “จักรยานกลางเมือง”

    จัดทำโครงการ สู่วิถีจักรยานกรุงเทพฯ “จักรยานกลางเมือง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จักรยานถูกเลือกเป็นพาหนะในการสัญจรสำหรับเมืองใหญ่หลายๆ เมืองทั่วโลก เพื่อแก้ไขปัญหาหลากหลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จักรยานจึงถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองน่าอยู่และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมจัดทำ“แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือคนที่อยากใช้จักรยานในเมืองให้รู้หลักการปั่นเบื้องต้นและหาเส้นทางปั่นสะดวก หลีกเลี่ยงการจราจรคับคั่งและมลพิษในเมือง ข้อมูลเส้นทางที่นำเสนอบนแผนที่นี้ สำรวจและแบ่งปันโดยอาสาสมัครนักปั่นกว่า 40 คน ใช้เวลาจัดทำกว่า 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ชำนาญการด้านแผนที่ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย (ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี 2553-2555)

  13. จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นักสืบสายลมมาบตาพุด”

    จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นักสืบสายลมมาบตาพุด” เพื่อสนับสนุนภาคประชาคมทุกฝ่ายของจังหวัดระยอง ด้วยการแนะนำเครื่องมือทางชีวภาพที่สามารถใช้ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งความหลากหลายของไลเคนจะเป็นตัวบ่งชี้ และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหามาตรการในการดูแลเฝ้าระวังเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี 2554-2555)

  14. จัดงานเทศกาล “ปั่นเมือง”

    จัดงานเทศกาล “ปั่นเมือง” งานแสดงพลังจักรยานสู่กรุงเทพเมืองน่าอยู่ ในวาระครบรอบ 20 ปีการจัดตั้งมูลนิธิ มีเป้าประสงค์เพื่อเผยแพร่ความสัมพันธ์ของวิถีเมืองจักรยานกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในลักษณะจัดคอนเสิร์ตประหยัดพลังงาน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมครบวงจร โดยการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจผ่านงานดนตรีพลังจักรยานกลางสวนลุมพินี ปอดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมกับยกย่องบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมด้วยจักรยาน

  15. จัดทำโครงการ “หนังสั้นปั่นเมือง

    จัดทำโครงการ “หนังสั้นปั่นเมือง : Share the Road แบ่งปันถนนร่วมกัน” เพื่อรณรงค์ให้สังคมรู้จักการใช้ถนนร่วมกัน โดยการผลิตสื่อเพื่อรณรงค์สร้างทัศนคติที่ดีต่อจักรยานและสร้างความตระหนักต่อการใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย

  16. ดำเนินกิจกรรม “Bio Blitz 2014

    ดำเนินกิจกรรม “Bio Blitz 2014 : ชีวะตะลุมบอนบางกระเจ้า” เป็นปฏิบัติการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเร็วในเวลา 24 ชม. โดยทีมอาสาสมัครพลเมือง ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ นักนิยมธรรมชาติ นักศึกษา ชุมชนท้องถิ่น ร่วมลงแขกสำรวจสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ระบบนิเวศสามน้ำที่ยังคงสภาพธรรมชาติและระบบเกษตรดั้งเดิมขนาดใหญ่แหล่งสุดท้ายในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และที่สำคัญถือเป็น “ปอดกรุงเทพมหานคร”

  17. จัดทำแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง”

    จัดทำแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง” (Punmuang Moblie Application) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “เครื่องมือสร้างเมืองจักรยานภาคประชาชน” มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจใช้จักรยานสัญจรในเมืองและใช้เป็นเครื่องมือของภาคประชาชนในการสร้างสรรค์เมืองให้เอื้อต่อการสัญจรด้วยจักรยานมากขึ้น

  18. จัดทำโครงการ “Rewilding Bangkok" ฟื้นชีวิตป่าเมืองกรุง

    เปิดประเด็นเพื่อเชิญชวนคนกรุงทั่วไปให้เห็นความสำคัญ ของการฟื้นฟูชีวิตป่าในเมือง (Rewilding) เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติกลับมา และเปิดเวทีแสดงข้อมูลธรรมชาติของกรุงเทพในอดีต สภาพปัจจุบัน และภาพแห่งอนาคต เพื่อช่วยมองหาอนาคตของเมืองกรุงร่วมกัน หาความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตของป่ากลางเมือง รักษาธรรมชาติดีๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองกรุง ชวนกันมองหาหนทางบรรเทาความขาดธรรมชาติของคนเมืองในปัจจุบัน หาทางออกของปัญหาสังคมต่างๆ โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานสำคัญ