in on September 27, 2016

ซิก้า ค้างคาว ยุงจีเอ็มโอ

read |

Views

เมื่อไวรัสซิก้าแพร่ระบาดไปทั่วโลกก็เกิดกระแสการไล่ล่าฆ่ายุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคด้วยวิธีการแปลกๆแต่ละวิธีการบ่งบอกมุมมองต่อชีวิตและธรรมชาติไว้อย่างชัดเจนบ้างใช้สารเคมีเต็มอัตราบ้างหันหน้าเข้าสู่แนวชีววิถีแบบน่ารักน่าเอ็นดูและบ้างคิดกำจัดให้ยุงลายสูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว

เราอาจเคยได้ยินคำพังเพยขี่ช้างจับตั๊กแตน แต่กรณีนี้ขอเรียกว่าขับเครื่องบินฆ่ายุงข่าวชวนช็อคเมื่อเช้าตรู่วันหนึ่งเทศบาลเมืองดอร์เชสเตอร์เคาน์ตี้ รัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งพบผู้ป่วยไข้ซิกาใช้เครื่องบินเล็กฉีดพ่นยาฆ่าแมลงที่ชื่อนาเลด (Naled) เพื่อกำจัดยุง ผลก็คือแมลงตกลงมาตายเหมือนสายฝน ส่วนผึ้งพยายามกระเสือกกระสนออกมาจากรัง แต่ตายคาปากรังนั้นเอง เรียกว่าตายแบบปัจจุบันทันด่วน เฉพาะฟาร์มผึ้งฟลาวเวอร์ทาวน์ ในเมืองซัมเมอร์วิวมีผึ้งตาย 46 รัง รวม 2.5 ล้านตัว ผู้หญิงคนหนึ่งเขียนในเฟสบุคว่าเหมือนเดินไปในสุสาน ช่างน่าเศร้าเสียจริง(คลิ๊กดูเพิ่มเติมที่นี่)

เป้าหมายเดียวกันแต่วิธีการตรงข้าม ที่เมืองนอร์ธ เฮมพ์สเตดหันไปใช้วิธีกำจัดยุงแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติสุดหัวใจ ด้วยการสร้างบ้านเพื่อเชื้อเชิญให้ค้างคาวสวนมาอยู่อาศัยในสวนสาธารณะ วิธีการนี้ได้ไอเดียมาจากงานวิจัยที่ว่าค้างคาวสวน 1 ตัว กินยุงได้ถึงคืนละกว่า 1,000 ตัว เมืองนีเริ่มรณรงค์ให้ชาวบ้านทำบ้านค้างคาวมาตั้งแต่ปี 2550 ล่าสุดเทศบาลเมืองได้อนุมัติให้สร้างบ้านค้างคาวติดตั้งในสวนสาธารณะของเมือง 7 แห่ง ซึ่งคนที่สร้างบ้านให้ค้างคาวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เห็นเด็กๆ ในเมืองนั้นเอง คุณจูดี้ บอสเวิร์ธที่ปรึกษาเมืองบอกว่า แค่ทำบ้านค้างคาวไม่ใช่คำตอบหรอก แต่อย่างน้อยเราก็มองหาทางออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปรบมือรัวๆ ค่ะ (คลิ๊กดูเพิ่มเติมที่นี่) 

ในจำนวนวิธีการกำจัดยุงที่ช็อคโลกและกระแสแรงแซงทางโค้งคือการปล่อยยุงจีเอ็มโอที่ตัดต่อยีนที่มีพิษร้ายแรงเข้าไปในยุงลายตัวผู้แล้วปล่อยออกสู่ธรรมชาติไปผสมพันธุ์กับยุงลายตัวเมียยุงลูกผสมที่ออกมาจะไม่สามารถเติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้ในที่สุดประชากรยุงก็จะลดลง

ฝ่ายสนับสนุนพากันออกมาพูดถึงข้อดีสารพัดของยุงจีเอ็มโอ เช่น ตอนนี้ชาวโลกร้อยละ 40 มีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคซิก้าไข้เลือดออกและชิคุนกุนยาจึงมีความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะลดประชากรยุงลายและต้องใช้วิธีก้าวร้าวรุนแรงเท่านั้นจึงจะได้ผลเพราะวิธีการที่ทำกันอยู่คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในน้ำนิ่งติดมุ้งลวดและพ่นยาฆ่ายุงแบบบ้านต่อบ้านต้องใช้แรงงานสูงบ้างก็ว่าการฉีดยาฆ่ายุงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันไม่แม่นยำมักจะยิงผิดจุดส่วนยุงจีเอ็มโอเปรียบเหมือนปืนไรเฟิลที่ทรงพลังและแม่นยำผู้ใช้มีความเสี่ยงต่ำจากยาฆ่าแมลง

ครั้งหนึ่งโอลิวา จัดสัน นักชีววิทยาวิวัฒนาการเคยเขียนไว้ในนิวยอร์คไทม์ว่า หลักการกำจัดยุงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มาหยาบและฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากกว่าฆ่ายุง และไม่มีอะไรน่ากลัวเกี่ยวกับสูญพันธุ์เลย สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ตลอดเวลา การสูญหายไปของบางสายพันธุ์ไม่ได้ทำให้ระบบนิเวศน์ทั้งหมดล่มสลาย เราจะไม่ถูกปล่อยให้อยู่ในที่รกร้างทุกครั้งที่สายพันธุ์นั้นหายไป การเอาสายพันธุ์หนึ่งออกไป บางครั้งก็นำไปสู่การเพิ่มประชากรของสายพันธุ์อื่น แต่ความแตกต่างไม่ได้หมายความว่าแย่ลง (คลิ๊กดูเพิ่มเติมที่นี่)

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งออกมาตอบโต้ว่า ในเชิงวิทยาศาสตร์แนวทางยุงจีเอ็มโอมันดี แต่ทุกๆ เรื่องมักจะมีฉากถ้าไม่อยู่เสมอ ถ้ามันไม่ได้ผลล่ะ? มันก็เหมือนกับการปล่อยยุงสายพันธุ์ใหม่ออกสู่ธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งมันอาจจะจบลงตรงที่ทำให้สถานการณ์ซิก้าแย่ลงกว่าเดิมเสียอีกไม่มีใครรู้

แม้ว่าจะยังไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบที่ชัดแจ้งจากยุงจีเอ็มโอ แต่ดูเหมือนยุงจีเอ็มโอกำลังจะครองการได้เปรียบจากการแพร่ระบาดของซิก้ารอบนี้ ท่ามกลางความตื่นตระหนกจากไข้ซิก้าฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอมักมีความสามารถในใช้โอกาสนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาอนุมัติให้มีการทดลองภาคสนามโดยจะปล่อยยุงจีเอ็มโอในชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อคีย์เฮเวน ในฟลอริด้า หลังจากเคยมีการทดลองมาแล้วที่ประเทศบราซิลและมาเลเซีย พลันเมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็มีการคัดค้านจากคนในพื้นที่และออกแคมเปญต่อต้านการทดลองครั้งนี้ทาง www.change.orgโดยมีผู้ลงชื่อค้านแล้ว 1.6 แสนคน

เห็นมั้ยคะว่าวิธีการกำจัดยุงนั้นบ่งบอกถึงทัศนคติของผู้พัฒนาและผู้เลือกใช้ได้จริงๆ และตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ทางแพร่งว่าจะเลือกกำจัดยุงด้วยวิธีใด….ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกใช้วิธีไหน

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://health.kapook.com/view139846.html
  2. https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2016/09/01
  3. ภาพจาก: http://www.nytimes.com/2016/07/05/nyregion/devouring
  4. ภาพจาก: http://www.theatlantic.com/technology/archive/2016/
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share