in on October 16, 2017

ถามรถไฟ

read |

Views

โครงการรถไฟเมืองจีนที่จะวางรางทั่วเอเชีย เชื่อมประเทศจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปากีสถาน เอเชียกลาง และทางเดินสมุทร ด้วยระบบขนส่งภาคพื้นดิน เพื่อเปิดเส้นทางการค้าไปยังยุโรปและตะวันออกกลางให้สะดวกง่ายขึ้น โดยถือกันว่าเป็น “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” เลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนขอพูดถึงเฉพาะรางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์  เพราะถือว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่างประเทศมาเลเซียที่ผู้เขียนอาศัยอยู่และเมืองไทยที่ผู้อ่านอยู่อาศัย

ต้นปี ค.ศ. 2020 เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น ผู้โดยสารจะสามารถใช้บริการรถไฟ Pan-Asia Railway Network ซึ่งเครือข่ายรถไฟดังกล่าว สร้างขึ้นเพื่อขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยมีการเชื่อมต่อระยะทางประมาณ 4,500 – 5,500 กิโลเมตรจากประเทศจีนครอบคลุมไปทั่ว จึงทำให้เราๆ ท่านๆ สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันโดยใช้เวลาน้อยลง เพราะจากคุนหมิงไปถึงสิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น

ก่อนที่จะมีสายการบินราคาแบบโลว์คอสต์วิ่งไปมาระหว่างกรุงเทพและกัวลาลัมเปอร์นั้น ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานขึ้นลงอยู่สองสามครั้ง ได้อาศัยบริการรถไฟไทยซึ่งวิ่งจากปีนังเข้าไปยังกรุงเทพ โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดกว่าหนึ่งวัน เริ่มจากการนั่งรถบัสจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังสถานีบัตเตอร์เวอร์ธที่ใช้เวลาราวๆ 5 ชั่วโมง แล้วจึงจับรถไฟขบวนบ่ายโมง วิ่งแบบนั่งๆ นอนๆ ไปถึงกรุงเทพตอนใกล้เที่ยงของวันถัดไป

ถ้าหากว่าใช้รถไฟสายไหมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ การเดินทางนั้นคงจะลดลงมาเหลือราวๆ 5-6 ชั่วโมง คำล้อเลียนเสียงรถไฟที่แล่นบนรางว่า “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” คงจะหายไป เปลี่ยนมาเป็นร้องเพลง “ถามรถไฟ รถไฟไปไหน” ของวงสองวัยได้

เมื่อสะดวกรวดเร็วขนาดนี้ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งที่อยู่บนสายเหนือใต้อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย หรือสายตะวันออกอย่างเวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งสายตะวันตกที่วิ่งเข้าไปยังเมียนมาร์นั้น ก็คงจะขยับกระเตื้องขึ้นกันอย่างเห็นได้ชัด วีดิโอที่จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายเส้นทางรถไฟสายที่เรียกว่า ECRL (East Coast Rail Link) เส้นทางเชื่อมต่อฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย ที่ถือว่ามีเมืองท่าหลายแห่งที่หันหน้าเข้าสู่ทะเลจีนใต้ ทำให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างมาเลเซียกับจีน และเนื้อหาของวีดิโอยังแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เมื่อทางรถไฟวิ่งเข้าพื้นที่ไหน เมืองใหม่ก็จะเกิดขึ้นเพื่อขยายตัวตอบรับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไปด้วย

เล่ามาถึงตอนนี้แล้ว ใช่ว่าผู้เขียนจะปลาบปลื้มกับรถไฟสายใหม่กำลังบังตา เพราะอดไม่ได้ที่จะรู้สึกกังวลตามประสาคนที่สนใจเรื่องป่าเรื่องสิ่งแวดล้อม มากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะคงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่าโครงการรถไฟนี้จะไม่รบกวนแนวเขาติติวังสา ที่เป็นแนวต่อมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรีของไทย และทอดแนวยาวลงมากลางแหลมมลายู มองดูคล้ายกับเป็นกระดูกสันหลังของประเทศมาเลเซีย

ในปี 2005 มีการวางมาสเตอร์แพลนเพื่อรักษาป่า 4 ผืนใหญ่ที่อยู่ในเทือกเขาติติวังสา แต่ถูกตัดขาดจากกันด้วยถนน ทางหลวง และเมืองต่างๆ ภายใต้โครงการ Central Forest Spines (CFS) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งไปยังการทำนุบำรุงป่าปฐมภูมิและฟื้นฟูรอยต่อเชื่อมของป่าทั้งสี่ผืนนั้น อันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแหล่งน้ำของประชากรบนแหลมมลายูไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ถิ่นอาศัยของเสือที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในมาเลเซีย

มาเลเซีย เป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะ “เสือเหลือง” จากวงการฟุตบอล เพราะมีเสือสองตัวเป็นองค์ประกอบหลักของตราแผ่นดิน หากวันหนึ่ง เสือต้องมามีอันสูญพันธุ์ไปจากประเทศ คงเป็นเรื่องที่แสนเศร้าของวงการอนุรักษ์ และไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกนักของผู้บริหารประเทศ ฤาจะต้องเปลี่ยนตราแผ่นดินซะก็ไม่รู้

อ้างอิง
  1. ภาพ เส้นทางสายไหม จาก: http://www.bbc.com/thai/international-39913381
  2. ภาพ รถไฟ Pan-Asia Railway Network จาก: http://www.railwaypro.com/wp/malaysia-and-thailand-agree-on-preliminary-studies-for-high-speed-rail/
  3. วิดีโอ Connecting Lives, Accelerating Growth จาก: https://www.youtube.com/watch?v=hB_eAgTL8VE
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share