in on May 11, 2017

ทำใจเมื่อต้องกินสารพิษ (ตอนที่ 2)

read |

Views

เมื่อเดือนที่เเล้วผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสารพิษตกค้างที่เราบริโภคกันเข้าไปในเเง่จุดเริ่มต้นของสารเคมีเเละผลกระทบที่เกิดกับระบบต่างๆ ในร่างกายของเรา ครั้งนี้เป็นเรื่องราวของผลที่เกิดกับด้านอื่นๆ ของผู้ที่มีการสัมผัสสารเคมีโดยตรง-อ้อม พร้อมบทสรุปของต้นตอของการเกิดปัญหาของสารพิษ

ผลต่อสุขภาพในด้านอื่นเนื่องจากสารกำจัดสัตว์รังควาน 

ผลร้ายแบบเฉียบพลันมักเกิดกับเกษตรกรผู้ใช้สารพิษโดยตรงเมื่อได้รับสารพิษในปริมาณสูง คือ ความผิดปรกติอย่างรุนแรงต่อระบบประสาท เช่น ปวดและเวียนหัว ตาลาย เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง จมูก ตา และหนักกว่าก็หมดบุญพ้นกรรมไปจากดาวดวงนี้ ส่วนความเป็นพิษเพิ่มเติมต่อเกษตรกรสตรี คือ อาจออกมาในรูปของการมีลูกที่เกิดความผิดปรกติทางร่างกายและฮอร์โมน (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า การเกิดลูกวิรูป หรือ Teratogenicity)

ความอวดรู้ ความไม่รู้จริง ความมักง่าย นั้นเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มักไม่มีการกล่าวในรายงานเกี่ยวปัญหาของสารพิษที่ใช้กำจัดสัตว์รังควาน ตัวอย่างเมื่อนานมาแล้วผู้เขียนเคยจ้างผู้ที่ทำงานดูแลเกี่ยวกับป่าไม้ให้มาช่วยจัดการกับปลวกที่ขึ้นบ้านหลังเก่าในซอยเสนานิคม สิ่งที่พบ คือ ทั้งผู้คุมงานและคนงานต่างไม่กลัวการสัมผัสกับสารฆ่าปลวก (ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นกลุ่มเดียวกับดีดีที) ด้วยมือเปล่า บางจังหวะของการผสมสารเข้มข้นกับน้ำมีการใช้มือเปล่าในการคนสารให้เข้ากันด้วยซ้ำ เมื่อผู้เขียนถามว่าไม่กลัวอันตรายของสารเคมีหรือ วลีที่เป็นคำตอบประจำของคนไทยคือมันชินแล้ว” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในภูมิภาคใด ถ้าขาดการศึกษาที่ดีพอ คำตอบนี้ก็ยังเป็นอมตะนิรันกาล เหมือนเมื่อพี่วินมอเตอร์ไซต์ให้เหตุผลในการขับรถย้อนศรหรือขับรถขึ้นบนทางเดินเท้านั่นเอง

ในเดือนกรกฏาคม ค.. 2007 มีรายงานการศึกษาของสถาบันสาธารณสุข (Public Health Institute) ของรัฐแคลิฟอร์เนียร่วมกับคณะสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเบอร์คเลย์ว่า เด็กที่เป็นลูกของสตรีที่สัมผัสกับสารกำจัดสัตว์รังควานชนิดออร์กาโนคลอรีน มีความเสี่ยงต่ออาการออติซึมสูงกว่าเด็กที่เป็นลูกของสตรีที่ไม่สัมผัสสารพิษถึง 6 เท่า (autism คือ ความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสาร เด็กที่เป็นออติซึมบางคนเข้าสังคมได้บ้าง อาจสบตาแสดงสีหน้าท่าทางตอบรับและสื่อสารกับผู้อื่นได้พอประมาณ ในขณะที่เด็กบางคนอาจไม่สามารถสนทนาสื่อสารถึงความรู้สึกของตนเอง จึงไม่สบสายตา พูดช้าหรือไม่พูดเลย และบางคนอยู่แต่ในโลกส่วนตัว ขาดความสนใจที่จะทำกิจกรรมหรือร่วมสังคมกับผู้อื่น)

สารกำจัดสัตว์รังควานหลายชนิดมีศักยภาพเป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ ฯ

จากการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI ของสหรัฐอเมริกา) ได้พบประเด็นสรุปที่น่ากังวลว่า ชาวนาอเมริกันซึ่งควรมีสุขภาพในภาพรวมดีกว่าประชาชนทั่วไป เพราะทำงานในสถานที่เป็นธรรมชาติ ได้ออกแรง กินอาหารค่อนข้างสดใหม่เป็นธรรมชาติและอื่น ๆ เริ่มมีสถิติเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลใจ

มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากวารสารทางวิชาการเป็นหลักฐานว่า ผู้ที่ได้รับสารกำจัดสัตว์รังควานเข้าสู่ร่างกายมีระบบการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อผิดไปจากเดิม โดยมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ และการพัฒนาของตัวอ่อนในท้องแม่ ผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อนั้นอาจแสดงออกในลักษณะทำให้เป็นหมันหรือเกิดลูกวิรูป เช่น ความผิดปรกติของฮอร์โมน การพัฒนาอวัยวะเพศไม่สมบูรณ์ การพัฒนาสมองไม่เต็มที่ พฤติกรรมที่ผิดปรกติไปจากคนธรรมดาและอื่น ๆ 

ในประเด็นที่เกี่ยวกับการก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของมนุษย์เนื่องจากสารกำจัดสัตว์รังควานโดยรวม มีกรณีการเกิดอาการที่เรียกว่า Multiple chemical sensitivity (MCS) หรืออีกชื่อคือ Idiopathic environmental intolerances (IEI) ซึ่งหมายถึง การที่ร่างกายของมนุษย์บางคนไวต่อการเจ็บป่วยเมื่อมีการสัมผัสสารเคมีในปริมาณน้อยมาก สภาวะนี้ถูกอ้างว่า เป็นความเจ็บป่วยเนื่องจากสิ่งแวดล้อม (environmental illness) ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่สารกำจัดสัตว์รังควานถูกจัดให้เป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิดอาการ MCS ซึ่งได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการแพ้ที่ผิวหนังข้อต่อ ทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ดีแม้ว่าอาการ MCS ที่ปรากฎนี้สามารถบำบัดให้หายได้ในหลายๆ คน แต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) ตลอดจนองค์กรด้านวิชาแพทย์ต่างๆ ยังอิหลักอิเหลื่อในการรับรองว่าอาการนี้เกิดเนื่องจากสารเคมี เนื่องจากเมื่อมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้กลุ่มอาสาสมัครที่สัมผัสสารและกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่สัมผัสสาร ในลักษณะที่เรียกว่า double blind randomized controlled trial ซึ่งอาสาสมัครในการศึกษาไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มใด ผู้ดำเนินการทดลองก็ไม่รู้ว่าตนได้ให้สารเคมีที่ศึกษากับใคร โดยมีคนจำนวนน้อยระดับหัวหน้าโครงการเท่านั้นที่รู้รายละเอียดการศึกษาทั้งหมดกลับพบว่า อาการ MCS ที่เกิดนั้นพบได้ทั้งในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ MCS จึงมีผู้กล่าวว่า ต้องกระทำโดยการแยกผู้ป่วยออกจากการสัมผัสสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง ในลักษณะที่เรียกว่า isolated environment ซึ่งเป็นวิธีการที่ปัจเจกบุคคลปฎิบัติได้ยากบนดาวดวงนี้ แต่อาจไม่ยากนักถ้ามีสตางค์พอและประสงค์ไปอยู่บนดาวอังคารที่ชาวโลกคงสามารถไปได้ในราวกลางศตวรรษนี้

สารกำจัดสัตว์รังควานและพิษภัยในเด็ก

เนื่องจากเด็กยังมีระบบการเปลี่ยนแปลงสารพิษและขับทิ้งออกจากร่างกายไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเด็กจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิษเนื่องจากสารกำจัดสัตว์รังควานมากที่สุด ที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาระบบต่างๆ ในสมองของเด็กนั้นยังไม่สมบูรณ์จนกว่าอายุราว 12 ปี ดังนั้นการสัมผัสสารพิษก่อนวัยนี้จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางระบบประสาทส่วนกลาง ความไม่สมบูรณ์ในระบบต่างๆ ของเด็กนั้นยังรวมไปถึงระบบภูมิต้านทานที่ยังไม่พร้อมเท่าที่ควรด้วย

กิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันของเด็กที่ขาดการระมัดระวังตัวมักเกี่ยวข้องกับการเล่นในสนามหญ้า การหยิบของเล่นเข้าปาก หรือแม้แต่การคลานบนพรมที่เป็นใยสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มโอกาสการสัมผัสสารกำจัดสัตว์รังควานซึ่งมีการใช้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ดังนั้นปัจจัยทั้งจากภายในและจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กจึงส่งผลให้เด็กเป็นกลุ่มผู้ที่มักจะเคราะห์ร้ายที่สุดเมื่อต้องสัมผัสสารพิษกลุ่มนี้ โดยผู้ที่รับผิดชอบในปัญหาเนื่องจากพิษของสารกลุ่มนี้มักมองข้ามเด็กไป

ต้นตอของการเกิดปัญหาจากสารพิษกลุ่มนี้

สารกำจัดสัตว์รังควานเป็นสารเคมีที่ต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในสิ่งมีชีวิตหลายระดับ ในครั้งที่ผู้เขียนศึกษาวิชาพิษวิทยาในอเมริกา ราว 30 กว่าปี ต้นทุนต่ำสุดในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของสารเคมีแต่ละชนิดอยู่ที่อย่างน้อย 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันนี้ค่าของเงินนั้นลดลงต่ำกว่าเมื่อก่อน (ช่วง 1978-1982 ที่ผู้เขียนศึกษาในอเมริกา อัตราของเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.2-13.2 แต่ในช่วง 2006 – มกราคม 2017 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราวร้อยละ 2.5) ดังนั้นจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเนื่องจากสารพิษแต่ละชนิดจึงต้องเพิ่มขึ้นจากปี 1978 ถึง 2017 หลายเท่าตัว

ประเด็นสำคัญในเรื่องการอนุญาตให้ใช้สารพิษกลุ่มนี้คือ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพเกือบทุกคนได้ยอมรับแล้วว่า สารกำจัดสัตว์รังควานนั้นเป็นสารพิษที่ต้องระวังอย่างสูงในการใช้ แต่การอนุญาตให้มีการใช้สารพิษนี้ไม่ว่าในประเทศใด กลับขึ้นกับคณะกรรมการ (ซึ่งมักเป็นบุคคลที่อาจสนใจหรือไม่สนในเรื่องของพิษวิทยา) พร้อมใจกันอนุญาตให้มีการซื้อขายสารพิษกลุ่มนี้ตามกฏหมายที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประชากรในสภาและมีอำนาจในการออกกฎหมายนั้น

สิ่งที่น่าช้ำใจที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายคนในหลายประเทศ คือ การได้เห็นคำอธิบายที่ใช้ในการแก้ตัวของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจอนุญาตให้มีการใช้สารพิษกลุ่มนี้ เมื่อถูกตั้งคำถามหลังเกิดวิบัติภัยเกี่ยวกับการใช้สารกำจัดสัตว์รังควานว่า ต้องยอมให้สารพิษกลุ่มนี้ถูกซื้อขายไปใช้ในไร่นา เนื่องจากต้องเป็นไปตามหลักฐานการประเมินความปลอดภัยขององค์กรนานาชาติ ซึ่งกล่าวว่า สารพิษชนิดนั้นๆ มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการรับอันตรายจากสารพิษ เมื่อใช้ในปริมาณหนึ่ง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งมีสภาวะแวดล้อมเฉพาะ มิเช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่ากีดกันทางการค้า”

ตัวอย่างเช่น สารพิษ ก ได้รับอนุญาตให้ใช้ในนาที่ปลูกแตงชนิดหนึ่งของประเทศ (ผู้ผลิตสารพิษ) ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดช่วงการปลูกแตงเป็น 20 องศาเซลเซียส และมีหิมะตกติดต่อนาน เช่น 3 เดือน เมื่อสารพิษ ก นี้จะถูกอนุญาตให้ใช้ในประเทศอื่นซึ่งมีอุณภูมิเฉลี่ยขณะปลูก 35 องศาเซลเซียสและไม่เคยมีหิมะตกเลยตลอดช่วงอายุคนปัจจุบัน สารพิษนั้นก็จะถูกทดสอบพอเป็นพิธีว่า ได้ผลในการกำจัดแมลงที่เป็นเป้าหมายของประเทศผู้ซื้อ เพียงเพื่อประกอบการขึ้นทะเบียน โดยไม่ได้มีความกังวลในประเด็นว่า สารพิษนี้จะตกค้างในพืชผักผลไม้ที่เป็นอาหารมากกว่าและ/หรือนานกว่าเมื่อมีการใช้สารพิษนี้ในประเทศผู้ผลิตสารพิษ ทั้งนี้เพราะการทดลองระดับที่ทราบปัญหาดังกล่าวนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ยิ่งถ้าต้องคำนึงถึงการที่เกษตรกรต้องสัมผัสสารพิษทั้งทางตรงและอ้อมแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทดสอบที่ต้องลงทุนมหาศาล เนื่องจากจำเป็นต้องใช้บุคคลากรเฉพาะทางและเงินจำนวนมากเกือบเท่าการประเมินความปลอดภัยของสารพิษชนิดใหม่ทีเดียว

จากข้อมูลที่เสนอมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้ เราทุกคนจึงต้องทำใจอยู่กับสารพิษกลุ่มนี้ พร้อมทั้งหาวิธีเลี่ยงการได้รับเข้าสู่ร่างกายเท่าที่จะมีภูมิปัญญาช่วยให้ลดความเสี่ยงอันตรายได้ ทั้งโดยการล้างผักผลไม้ด้วยน้ำ หรือการปอกเปลือก ตลอดจนสืบเสาะหาแหล่งของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารพิษ เช่น การปลูกแบบไม่ใช้ดิน (โปรดอย่าได้หวังต่อการซื้อ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดสารพิษ ในราคาถูก เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะปลูกพืชปลอดสารพิษบนดินซึ่งมักมีสารพิษปนเปื้อนเสมอ) หรือสุดท้ายแล้วให้หาทางไปอยู่ที่ประเทศภูฏานหลังเกษียณถ้ามีสตางค์พอ

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share