in on December 18, 2017

น้ำอัดลมในขวดแก้ว

read |

Views

วันหนึ่ง ขณะที่ร่วมวงอาหารกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน ก็มีเสียงบิดเกลียวฝาขวด กริ๊ก.. ฟู่… ก๊าซของน้ำอัดลมพวยพุ่งออกมาจากขวดพลาสติกบรรจุน้ำสีดำ คงไม่กระตุกใจผู้เขียนมากซักเท่าไหร่ หากว่าไม่ใช่เพราะเพิ่งกลับมาจากเมืองไทย ก็ตามร้านอาหารในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นร้านเหลา หรือยองๆ เหลา ต่างก็เสริฟน้ำอัดลม (ขวดเล็ก) ในขวดแก้วด้วยกันทั้งนั้น เลยถือโอกาสเล่าให้เพื่อนที่มาเลเซียฟังเกี่ยวกับเวลา…เอ๊ย..น้ำอัดลมในขวดแก้ว

หลายๆ คนที่ทำงานอยู่ด้วยนั้น โตไม่ทันที่จะได้ดื่มน้ำอัดลมจากขวดแก้ว เพราะโตมาก็เจอเครื่องดื่มเหล่านั้นในกระป๋องและขวดพลาสติกแล้วเท่าที่ไต่ถามผู้อาวุโสในบ้าน เขาบอกว่า เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่เขายังเป็นเด็กๆ ก็ยังได้ดื่มน้ำอัดลมจากขวดแก้วอยู่ แต่จำไม่ได้ว่ามันหายไปจากตลาดตอนไหน สำหรับน้องๆ ที่ทำงาน การที่ได้ยินว่าเมืองไทยยังคงขายในขวดแก้วอยู่ จึงทำให้เกิดคำถามพรั่งพรูตามมา

“ดื่มเสร็จแล้วทิ้งขวดเลยหรือ” ถ้าเป็นคนไทยรุ่นอายุสามสิบขึ้น คงเคยได้เห็นรถบรรทุกน้ำอัดลมแบบเปิดโล่งสองข้าง มีลังน้ำสีต่างๆ ซ้อนกันอยู่ พอถึงหน้าร้านอาหารหรือร้านขายของชำที่สั่งน้ำเหล่านั้นเข้าร้าน พนักงานก็จะกระโดดลงมายกลังน้ำเหล่านั้นใส่รถเข็นสองล้อ ซ้อนกันเป็นตั้งสูงจนกลัวว่าจะหล่นลงมา (แต่ก็ไม่เคยเห็นใครทำหล่น) ยกเข้ามาวางแทนลังที่มีแต่ขวดเปล่า เป็นแบบระบบคืนขวด ส่งมากี่ลัง ก็เก็บคืนเท่านั้นลัง พอขวดเดินทางไปถึงโรงงาน ก็จะถูกส่งเข้าสู่ไลน์การล้างขวดด้วยสารละลายผสมโซดาไฟทั้งข้างนอกข้างใน มีการตรวจสอบสารตกค้าง และฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำมาบรรจุเครื่องดื่มอีก ซึ่งผู้เขียนชอบมากที่เรายังคงมีระบบคืนขวดแบบนี้ เพราะทำให้ไม่ต้องใช้ขวดพลาสติกหรือกระป๋อง ที่แม้ว่าจะนำมารีไซเคิลได้จริง แต่ทรัพยากรและพลังงานที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการเหล่านั้น มันเริ่มที่จะลดน้อยลงไป ในขณะที่ภาชนะหลังใช้ก็ยังเกลื่อนกลาดทั่วไป โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่การรีไซเคิลยังไม่อยู่ในนิสัยของคนส่วนมาก

“คนงานยกลังเป็นคนที่มาจากไหน งานมันหนักนะ” คำถามต่อมาเป็นคำถามที่สะท้อนสถานการณ์แรงงานในมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของชำ แรงงานโรงงาน เด็กปั๊ม คนใช้ เรื่อยไปจนถึงยามหมู่บ้าน กว่า 95% จะเป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งอินเดีย เนปาล อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม และบังคลาเทศ เป็นต้น ซึ่งพอมีปัญหาเรื่องการจับกุมแรงงานผิดกฏหมาย ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจึงเห็นได้ชัดเจน คนมาเลเซียเองได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีจนจบม.ปลาย การใช้แรงงานเพื่อเงินเดือนน้อยนิดจึงกลายเป็นช่องว่างที่ต้องเติมเต็มโดยแรงงานต่างชาติ การขายเครื่องดื่มแบบกระป๋องหรือขวดพลาสติกจึงเป็นการจัดการที่ง่ายกว่าสำหรับผู้ผลิตและผู้ค้า ทั้งการขนส่งระหว่างทาง และการจัดการเก็บกลับไปล้างที่ปลายทาง โดยเปลี่ยนมือความรับผิดชอบในการกำจัดไปอยู่ในมือของผู้บริโภคแทน

“แล้วเงินเดือนของคนที่ทำงานในโรงงานและการขนส่งเหล่านั้น มากพอเหรอ” ผู้เขียนตอบได้เกือบทันทีว่าไม่มากหรอก แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการและวิถีชีวิต แต่สำหรับเมืองไทย ขั้นตอนที่ยังต้องพึ่งพาคนทำงานในระดับต่างๆ เหล่านี้ กลับทำให้คนจำนวนมากยังมีงานทำ มีรายได้เข้ากระเป๋าโดยไม่เป็นภาระให้กับสังคมและรัฐบาล ผู้เขียนเชื่อว่าอาชีพบางอย่าง เป็นเพียง Stepping stones ที่จะนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น อย่างเช่นเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน เด็กหนุ่มๆ ที่เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด จะเข้ามาทำงานเป็นเด็กปั๊ม สักพักก็ขยับไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย จากนั้นก็จะเริ่มมีทางแยกแล้วแต่ความถนัดและโอกาส เช่น ขับตุ๊กๆ หรือแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ขายไอศครีม หรือออกรถเข็นขายผลไม้ ขายอาหาร ไปทำงานตามห้างร้านต่างๆ เป็นต้น

เรื่องน้ำอัดลมในขวดแก้วขวดเดียว เล่าถึงความพร้อมด้านแรงงานในสังคมไทย พร้อมๆ กับช่องทางการหารายได้ของคนที่เข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองหลวง และผลกระทบต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี หากแต่ยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไป แรงงานไทยเปลี่ยนเป้าจากการทุ่มเททำงานหนัก (เพราะไม่มีใครอยากทำงานหนัก) ไปเป็นการทำงานให้บริการที่สบายกายมากขึ้น และรายได้มากขึ้น อีกไม่นาน น้ำอัดลมในขวดแก้วก็อาจจะลดปริมาณลงหรือหายไป เปิดทางให้ขวดพลาสติกและกระป๋องเข้ามาแทนที่

คงเหลือแต่เวลาที่ยังเก็บไว้ในขวดแก้วได้ซินะ แม้น้ำอัดลม…ก็ยังต้องโบกมือลา…

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share