in on December 18, 2017

บทเรียนจากดัตช์และเดน

read |

Views

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาฉันไปเยี่ยมเพื่อนที่เนเธอร์แลนด์

เดบบี้เป็นเพื่อนสนิทคนแรกเมื่อฉันไปเรียนที่อังกฤษนานนมเนมาแล้ว เธอเป็นเชื้อชาติอังกฤษสัญชาติสวิส และย้ายไปอยู่เมืองฮาเล็มใกล้ๆ อัมสเตอร์ดัมเมื่อสองปีก่อน หลังจากพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง

เธอบอกว่าเธออยากอยู่ที่ที่เธอทำงานหาเงินได้ มีสังคมที่อยู่ได้อย่างสบายใจ มีคุณภาพชีวิต เมืองสวย ปั่นจักรยานเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายๆ

แล้วเธอก็พบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดีเกินคาด เพราะชาวดัตช์ได้สอนให้เธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเองอย่างแท้จริง

เดบบี้เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในกลุ่มสนทนาที่เธอต้องจัดเป็นประจำ คุยถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน แทบทุกคนเห็นพ้องกับไอเดียหนึ่ง แต่ผู้หญิงคนหนึ่งยืนยันไม่เอา ยังไงๆ ก็ไม่เอา ไม่ชอบ จึงปรับไอเดียกันจนหาฉันทามติได้ในที่สุด เป็นกิจกรรมที่คล้ายกับไอเดียแรก แต่เปลี่ยนมุม ซึ่งทุกคนแฮปปี้

เดบบี้รู้สึกทึ่งมาก เธอเป็นคนอังกฤษ ขี้เกรงใจ เธอถูกสอนให้คล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ แทนยืนยันความต้องการของตัวเอง ทำเช่นนั้นมานานตั้งแต่เด็ก จนบ่อยครั้งไม่รู้ความต้องการของตัวเอง ถ้ายกมือโหวตกันแล้วได้เสียงส่วนมาก ก็ยอมรับไปแต่โดยดี ไม่คิดจะพินิจว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร

แต่คนดัตช์สอนให้รู้ใจตัวเองกันแต่เด็ก ถ้าถามความเห็น ไม่มีตอบว่าอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ไม่เป็นไร แล้วแต่คุณ

เขาพูดจากันตรงๆ จนบางครั้งคนจากวัฒนธรรมอื่นจะรู้สึกว่าไม่รักษามารยาท

รู้ความต้องการของตัวเอง แต่ก็ฟังความต้องการของผู้อื่น

เรื่องของเดบบี้ทำให้ฉันคิดถึงความประทับใจต่อชาวเดนมาร์กเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นมูลนิธิโลกสีเขียวเขียนโครงการนักสืบสายน้ำขอทุนรัฐบาลเดนมาร์ก ทางแหล่งทุนสนใจจึงอยากให้ไปพบปะกับกลุ่มต่างๆ ที่เดนมาร์กเผื่อจะหาความร่วมมือ ช่วงนั้นเดนมาร์กกำลังเริ่มฟื้นฟูกายภาพแหล่งน้ำ แม่น้ำที่เคยถูกขุดให้ตรงเพื่อระบายน้ำเร็วๆ ก็ขุดให้คดเคี้ยวใหม่ตามเดิม ฟื้นฟูแก่ง วังน้ำ และชายตลิ่ง ประชาชนกระแสหลักสนับสนุนเพราะมันดูสวยกว่าคลองทื่อๆ ตรงๆ

แต่พอคิดจะรื้อเขื่อนบนแม่น้ำกูเดนาเพื่อให้ปลาอพยพวางไข่ได้ ก็มีคนกลุ่มใหญ่คัดค้านอย่างแรง

เขื่อนนี้เป็นเขื่อนทำนบดินเก่าแก่โบราณสร้างเมื่อ ค.ศ.1920 ชื่ออ่านไม่ออก ประมาณ “แทงเจเวอเกต” (Tangevaerket Dam) มีอาคารก่ออิฐแดงที่ใช้ปั่นไฟ 3.3 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ มันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนันทนาการ และอาคารนี้กลายเป็นไอคอนของเมืองแทงเจ เป็นที่ที่หนุ่มสาวนิยมใช้เป็นฉากหลังถ่ายรูปแต่งงาน ตายายแต่งงานถ่ายรูปที่นี่ พ่อแม่แต่งงานก็ถ่ายรูปที่นี่ รุ่นลูกแต่งงานก็ถ่ายรูปกับอาคารนี้ มันเป็นความทรงจำในชีวิตที่จะถูกรื้อออกไปไม่ได้

ทางแหล่งทุนพาเรามาฟังตัวแทนคู่กรณีทั้งสองกลุ่มถกเถียงกัน คนที่ขับรถพาเราไปเป็นนักชีวะทำงานองค์กรอนุรักษ์ ฉันสะดุดใจตั้งแต่ตอนที่เขาเกริ่นแบ็คกราวด์ให้ฟังในรถ พอเขาบอกว่าคนค้านเพราะมีความทรงจำถ่ายรูปแต่งงานที่นี่ ฉันหัวเราะลั่น เพราะรู้สึกว่ามันไร้สาระ แต่เขาหน้าขรึมบอกว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก “It’s valid”

ถึงเวทีที่นัดหมาย เขาซัดกันแหลกลาน พูดกันแรงๆ อารมณ์ท่วมท้น “ยูรู้ไหม …ออกทีวีด่าเรา มันเต็มไปด้วยความเกลียดชัง!”

แต่พอจบงาน ผู้หญิงคนหนึ่งก็เชิญทุกๆ คนไปกินกาแฟและขนมที่บ้านเธอ ทั้งสองกลุ่มที่เพิ่งว้ากใส่กันน้ำตาคลอก็เฮโลกันไปจนแน่นเต็มบ้าน พูดคุยหัวเราะกัน แล้วเขาก็หันมาถามฉันว่าคิดยังไงกับเวทีอภิปรายเมื่อตะกี้

ไม่ต้องคิดนาน ฉันตอบได้ทันที

“ไอเป็นนักนิเวศวิทยา แน่นอนว่าความเห็นส่วนตัวไอก็ไปทางรื้อเขื่อนฟื้นฟูแม่น้ำ แต่วันนี้ไอโคตรประทับใจพวกยูทุกคน ดูพวกยูสิ นั่งกินกาแฟกินขนมหัวเราะกันทั้งๆ ที่เพิ่งเถียงกันเลือดขึ้นหน้ามาหยกๆ ไอไม่เคยเห็นอะไรอย่างงี้เลย”

ทุกคนหัวเราะลั่น บอกว่าเราฝึกกันมานาน

เดบบี้บอกว่าการเมืองของดัตช์ก็เป็นอย่างนี้ เต็มไปด้วยการถกเถียง คนไม่ชินจะรู้สึกว่ามันช่างวุ่นวายเหนื่อยหน่ายใจ กว่าจะสรุปอะไรได้ก็ใช้เวลายาวนาน

แต่ที่สุดแล้วก็มักได้ทางออกที่ทุกคนโอเคกัน อาจจะไม่เสมอไป แต่เสียงคนส่วนน้อยได้รับฟังเสมอ ทุกคนมีที่ยืนในสังคม

เดบบี้สรุปว่า “คนดัตช์ทำให้ฉันเรียนรู้ที่จะให้ค่ากับความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง พอฉันรักตัวเองได้ ฉันกลับพบว่าฉันรักคนอื่นได้มากขึ้น”

ฟังผ่านๆ เหมือนจะเป็นคำพูดโหลๆ บนบัตรคำ แต่ฉันรู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเดบบี้จริงๆ ออร่าเธอเปลี่ยนไปตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่เจอเธอเมื่อสี่ปีก่อน เธอมีแสงแห่งความกรุณาชัดเจน

เราทั้งสองคนไม่ใช่เซียนการเมือง แต่ก็รู้สึกร่วมกันว่า บางทีสาเหตุหนึ่งที่โลกขวาหันอย่างแรงในช่วงนี้ เพราะเราใช้กฎประชาธิปไตยที่แข็งและขาดความละเอียดอ่อน เมื่อเราลงคะแนนเลือกตั้ง ฝ่ายที่ได้เสียงมากกว่าชนะ ที่เหลือเป็นผู้แพ้ ก้มหน้ายอมรับจำนนไปอีกสี่ปี ใครสู้ไม่ได้ก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความอึดอัด ความต้องการที่หลากหลายของคนจำนวนมากไม่เคยได้เป็นประเด็นในสังคม ผู้ชนะไม่เคยฟังเสียงของผู้แพ้ แถมยังเย้ยหยัน ถากถางทับถม

(ไม่ต้องพูดถึงเมืองไทยที่เสียงส่วนน้อยไม่ยอมแพ้ ไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ ยึดอำนาจทำอะไรตามใจเลย)

แต่เนเธอร์แลนด์ยังคงรักษาสมดุลไว้ได้ ไม่พลิกผันอย่างอเมริกา ไม่เหวี่ยงอย่างอังกฤษ หรือซวนเซให้ลุ้นใจแทบขาดอย่างฝรั่งเศสก่อนเลือกตั้งครั้งล่าสุด

เพราะสังคมได้ยินและได้ฟังทุกเสียงอย่างต่อเนื่อง หัดกันมาแต่เด็ก เริ่มด้วยฟังเสียงตัวเอง ถูกถามให้สำรวจดูใจและความคิดตัวเองกับทุกๆ เรื่อง จึงต้องหาทางออกร่วมกันที่ทุกคนรับได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปถึงเรื่องใหญ่ ไม่มีใครเอาแต่ใจตัวเองได้ฝ่ายเดียว

รู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น เมื่อรู้จักและรู้ใจจึงรักได้

กับโลกทั้งใบนี้ก็เช่นกัน


กรุงเทพธุรกิจ, พฤศจิกายน 2560

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share