in on March 19, 2018

ป่าต้นน้ำปิง ไร่กระเทียม พาราควอต

read |

Views

ปลายมกราคมที่ผ่านมา ฉันเดินเข้าป่ากับคณะธรรมยาตราต้นน้ำปิง—กลุ่มฆราวาสและพระประมาณ 60 ชีวิตที่มีภารกิจเดินป่าเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ—เริ่มต้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ บ้านเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นฉันเห็นสวนกระเทียมสีเขียวสดลดหลั่นตามระดับพื้นดินกว้างไกลสุดสายตา แนวต้นไม้ใหญ่หนาทึบอยู่ลิบๆ นั่นคือเส้นแบ่งเขตประเทศไทยกับเมียนมาร์

“ปลูกกระเทียมหนึ่งรอบใช้เวลา 4 เดือน ฉีดยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงแบบผสมไปกับการให้น้ำทุก 4 วัน” ชาวสวนกระเทียมที่กำลัง “ให้ยา” ผสมไประบบน้ำฉีดพรมลงไปในแปลงกระเทียมให้ข้อมูล ผู้ร่วมทางของฉันซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงสารเคมีเกษตรบอกว่าสารเคมีที่ใช้ในสวนกระเทียมเป็นสารเคมีชนิดดูดซึม ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ “พาราควอต” และ “ไกลโฟเซต”

3 วันที่เดินลัดเลาะและลุยไปตามแม่น้ำปิง จากสวนกระเทียมสู่แนวป่า จากหมู่บ้านหนึ่งสู่หมู่บ้านหนึ่ง จากบริเวณต้นน้ำที่เป็นลำธารน้ำใสสายเล็กๆ บางช่วงสามารถกระโดดข้ามได้ ค่อยๆ ขยายกว้างขึ้น ช่วงต้นน้ำแม้น้ำใสสะอาดแต่ไม่มีสัตว์น้ำอย่างกุ้งหอยปูปลาหรือแมลงปอซึ่งเป็นสัตว์ที่บ่งบอกว่าน้ำมีคุณภาพดีปรากฎให้เห็น บางช่วงน้ำจากสวนกระเทียมไหลผ่านหญ้าที่เหี่ยวเฉาและไหม้เกรียม จนเมื่อเดินลึกเข้ามาในเขตป่าในวันที่สอง จึงเริ่มเห็นชาวบ้านขุดดินกลางแม่น้ำเพื่อวางเครื่องมือหาปลา

ยามค่ำคืน คณะของพวกเราหยุดพักค้างคืนริมแม่น้ำปิง ล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่พบเห็นช่วงที่เดินผ่านมา กลุ่มคนกรุงเทพและต่างถิ่นบอกเล่าถึงความประทับใจในธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำปิง ทว่า “ตุ๊ลุง” พระวัยเจ็ดสิบที่ทำงานรณรงค์รักษาป่าและแม่น้ำปิงมากว่า 20 ปีกลับบอกว่าสลดใจ เพราะเห็นความเสื่อมโทรมของแม่น้ำและป่าไม้เพิ่มขึ้นทุกปี ตุ๊ลุงเคยเห็นป่าสมบูรณ์ที่บริเวณชายแดนที่ค่อยๆ ผันเปลี่ยนเป็นชุมชน เริ่มจากชาวบ้าน 5 ครอบครัวแรก ขยายพื้นที่กลายเป็นวัดบ้านและสวนกระเทียมดังที่เห็น ส่วนป่าไม้ริมแม่น้ำปิงก็มีไร่สวนรุกคืบเข้ามาจนเกือบถึงแนวแม่น้ำ

“เราล็อคคอชาวบ้านเป็นตัวประกัน ๆ ๆ” ตุ๊ลุงบอกให้พวกเราพูดซ้ำๆ เมื่อมีคำถามจากพวกเราชาวเมืองว่า “ทำไมชาวบ้านยังใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง ทำไมถึงใช้สารเคมีที่แหล่งต้นน้ำที่จะไหลลงไปถึงกรุงเทพ ทำไมชาวบ้านไม่ปลูกพืชอินทรีย์”

ชาวไร่ชาวสวนที่ใช้สารเคมีเกษตรมักถูกสังคมมองเป็นผู้ร้ายที่นำพาสารเคมีเหล่านั้นมาสู่ร่างกายเรา โดยลืมคิดไปว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่ “ตายก่อน” เพื่อแลกกับเงินเลี้ยงชีพอันน้อยนิดเนื่องจากไม่มีทางเลือกอาชีพมากนัก ขณะที่นักวิชาการเกษตรที่สนับสนุนการใช้สารเคมีเกษตรอ้างว่าเกษตรกรใช้ยาผิดวิธี ใช้มากเกินไปและไม่ป้องกันตัวเอง…ช่างเป็นตัวประกันที่ได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

ส่วนเราชาวเมืองและผู้บริโภคก็ตายผ่อนส่งทั้งจากการกินพืชผักที่มีสารเคมีสะสมเกินปริมาณที่กำหนด ดังที่ปรากฎตามข่าวการสุ่มตรวจพืชผักผลไม้ตามตลาดต่างๆ และดินน้ำก็อุดมไปด้วยสารเคมีเหล่านี้เช่นกัน

ฉันมองว่าทั้งหมดเป็นนี้เป็นเพราะระบบบริโภคนิยมทำงานอย่างเต็มที่…คนมีกำลังซื้อต้องการสินค้าที่สวยงามและถูก ส่วนระบบกำกับและควบคุมเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ทำงานอย่างที่ควรเป็นด้วยการกำหนดนโยบายและควบคุมสิ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

จากแม่น้ำ ฉันและคณะประมาณ 20 คนเดินหลงทางขึ้นไปบนเขตภูเขา เราเดินขึ้น-ลงภูเขาหัวโล้นลูกแล้วลูกเล่าที่มีเพียงทางจักรยานยนต์เล็กๆ และมีร่องรอยการเพาะปลูกพืชไร่ แต่ไร้ผู้คนและไร้สัญญาณโทรศัพท์ ใกล้ค่ำเราพบชาวไร่ 3 คนนั่งอยู่ที่เพิงพักที่มีเพียงผ้าใบเป็นหลังคา พวกเขามานอนเฝ้าข้าวโพดที่เพิ่งหักกองไว้ รอลำเลียงออกไป

“เข้ามาดูทุกวัน ฉีดยาฆ่าหญ้าไป 3-4 ครั้งถึงจะหักได้” ชาวไร่เชื้อสายลีซูบอกเล่าความยากลำบากในการใช้ชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ แต่ฉันคิดถึงอีกเรื่อง…สารเคมีเกษตรเดินทางแบบไร้พรมแดน แม้ในขุนเขาที่ห่างไกลในเขตชายแดนไทย-เมียนมาร์ ยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลงยังเดินทางไปถึง

เมื่อกลับออกมาจากไร่กระเทียม แม่น้ำที่ไร้ปลา และภูเขาหัวโล้นที่ปลูกข้าวโพด ฉันพบข่าวที่มีความหวัง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามสรุปเดิมของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ว่าให้ระงับใช้พาราควอตภายใน 2 ปี โดยหาสารทดแทนอื่นมาใช้ แม้ว่าราคาจะสูง แต่ราคาคุณภาพและชีวิตของคนไทยสูงกว่า

พาราควอตถือมหากาพย์การต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากว่าสิบปี ยกล่าสุดเมื่อเมษายน 2560 ที่ประชุมขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชี่มีความเสี่ยงสูงครั้งที่ 4/2560 โดยมีตัวแทนของกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 กระทรวงคือ มหาดไทย พาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข และเกษตรฯ  มีมติยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดได้แก่พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และต้องยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561

อีก 6 เดือนต่อมา เมื่อตุลาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ดูแลพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีมติให้ใช้พาราควอตในภาคการเกษตรได้ต่อ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จากนั้นธันวาคม 2560 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอนุมัติให้ต่อทะเบียนใบอนุญาตนำเข้าพาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไฟริฟอสแก่บริษัทเอกชน 4 แห่ง อีก 6 ปี

ยิ่งการต่อสู้งวดเข้ามา บริษัทผู้ค้าสารเคมีเกษตรยิ่งนำเข้าสารเคมีเพื่อสะสมหรือกักตุนไว้ขายให้มากที่สุด ดังสถิติการนำเข้าสารเคมีดังกล่าในปี 2560 ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 45,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการนำเข้าเพียง 31,525 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50%

ด้วยเหตุนี้กรรมาธิการการสาธารณสุข สนช.จึงมีมติเสนอให้รัฐบาลยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ก็เพื่อสะกัดกั้นการนำเข้าสะสมดังกล่าวนั่นเอง

เพื่อนฝูงที่อยู่ในแวดวงการค้าสารเคมีเกษตรบอกฉันว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าสารเคมีเกษตร เนื่องจากมิอาจต้านทานกระแสคัดค้านและข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ

  • พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ และ 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว
  • คลอร์ไพริฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น กระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ และเสี่ยงเป็นพาร์คินสัน
  • ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ มีบริษัทนำเข้าพาราควอต 128 บริษัท และคลอร์ไพริฟอส 81 บริษัท
  • ตไกลโฟเซตเป็นยาฆ่าหญ้าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค 22 ชนิด เช่น เบาหวาน ความดันสูง อัลไซเมอร์
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share