in on February 20, 2018

ภาพบาดตา

read |

Views

เปล่านะ ผู้เขียนไม่ได้จะพูดเรื่องของใครไปเห็นใครทำอะไรไม่ดีไม่งามที่ไหน แต่เป็นภาพบาดตาที่ผู้เขียนต้องเจอตามข้างถนนอยู่บ่อยๆ

ตั้งแต่ปลายปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่าจากบ้านของผู้เขียนไปยังโรงเรียนของลูกชาย อันมีระยะทางราวๆ 5 กิโลเมตรนั้น มี “ภาพบาดตา” เกิดขึ้นถึง 3 แห่ง ก็เจ้าป้ายโฆษณาแบบระบบทีวีดิจิตอลใหญ่เบิ้มเหล่านั้น ออกอิทธิฤทธิ์เปล่งแสงกันสนั่นลั่นจอเหมือนดูสตาร์วอร์เลยทีเดียว ป้า เอ๊ย ผู้เขียนคงไม่บ่นอะไรมาก หากว่ามันอยู่ในที่ในทางและเปล่งพลังกันพอตัว

ตอนเช้าที่ขับรถส่งเด็กๆ ไปโรงเรียน ท้องฟ้ายังคงมืดมิดอยู่ เพราะนาฬิกาที่มาเลเซียนี่เร็วกว่าท้องฟ้าจริง (ตามความเคยชินของสาวไทย) ไปหนึ่งชั่วโมง แสงที่เจิดจ้าออกมาจากป้ายโฆษณา จึงบาดตาคนขับขี่กว่าปกติ โดยเฉพาะป้ายหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เรี่ยกับพื้นและเป็นช่วงทางโค้ง เวลาที่ขับรถลงมาจากสะพานข้ามสามแยก จะเผชิญหน้ากันจังๆ กับคนขับรถพอดี ในทางการโฆษณา ป้ายนี้ถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์แน่ๆ เห็นกันชัดๆ แต่สำหรับผู้เขียน มันกลับทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพตาบอดไฟไปสิบวินาที ก่อนที่จะสามารถปรับสายตาเพ่งมองรถข้างหน้าและรถที่เข้ามาเทียบข้างๆ จากเลนคู่ขนานสะพาน ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่โฆษณาสีสดๆ แบบสีเหลืองจ๋อยทั้งจอโผล่ขึ้นมาพอดีด้วยแล้ว ยิ่งทรมานเหลือเกิน

เคยนึกอยู่เสมอว่า ป้าย LED น่าจะดีกว่าป้ายไวนิล เพราะในด้านของการผลัดเปลี่ยนโฆษณาแต่ละชนิดมีความถี่กี่ครั้งก็ได้แล้วแต่ราคาที่ตกลงกัน ส่วนการนำเสนอออกสู่สายตาผู้บริโภค ก็เพียงแต่ตั้งโปรแกรมให้โฆษณาขึ้นบ่อยครั้งตามที่ตกลง


ภาพจาก: http://punestartups.org/forum/topics/led-display-advertising-in-pune

ในขณะที่ป้ายไวนิล ทำมาจากส่วนผสมของพลาสติกกับคลอรีน มีชื่อเต็มๆ ว่าโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride) หรือที่คุ้นกันดีในนาม PVC ซึ่งในการผลิตพีวีซีนั้น จะต้องใส่สารอื่นๆ เพื่อทำให้มีความคงตัวและสามารถขึ้นรูปได้ ได้แก่ตะกั่ว Phthalates และสารเคมีที่ช่วยชะลอการเผาไหม้หากเกิดกว่าติดไฟ  แต่ว่าสารเหล่านี้มีอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมและยังปล่อยสารระเหยอย่างต่อเนื่องทั้งขณะที่ใช้งานและเมื่อนำไปทิ้ง

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการผลิตคลอรีนเองก็ยังมีการปล่อยสารไดออกซินออกมาสู่สิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสารไดออกซินนี้ ถือว่าเป็นผู้ร้ายตัวเอกของสาเหตุของโรคมะเร็ง สร้างปัญหากับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และระบบสืบพันธุ์ด้วย โดยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้คำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ไม่มีระดับใดที่ถือว่าปลอดภัย ในการรับไดออกซินเข้าสู่ร่างกาย

พอมาถึงการกำจัด พีวีซีถือเป็นข่าวร้ายในการจัดการขยะที่ปลายทาง เพราะหากนำไปฝังกลบ สารต่างๆ ที่ช่วยให้พีวีซีคงตัวคงรูปอยู่ได้ ก็จะซึมเข้าสู่ดินและถูกชะล้างไปกับน้ำใต้ดิน ปนเปื้อนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ต่อไป  หรือถ้าหากส่งเข้าระบบเตาเผา สารพิษไดออกซินก็จะถูกปล่อยออกมาสู่อากาศรอบๆ

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเริ่มมีโรงงานกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นที่หนองแขม สามารถจัดการขยะได้วันละ 300-500 ตัน และจัดการกับสารไดออกซินได้ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า บรรดาป้ายโฆษณาที่หมดโปรโมชั่น หมดรุ่นสินค้าเหล่านั้น จะพากันเดินตบเท้าเข้าไปที่โรงงานกำจัดขยะแห่งนี้ได้ ไม่หลุดไปเป็นขยะอันตรายแบบภัยเงียบในพื้นที่อื่นๆ

นี่ยังไม่นับถึงการพิมพ์ภาพนะ…

ความที่ป้ายไวนิลทำมาจากวัสดุที่น่ากลัวเสียขนาดนี้ ผู้เขียนจึงถือว่าป้าย LED มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แม้ว่าโครงสร้างของป้ายอาจจะทำมาจากวัสดุที่ไม่ต่างกันซักเท่าไหร่ แต่ก็ติดตั้งแค่ครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอด ที่ต้องเปลี่ยนคือโปรแกรมที่วิ่งวนอยู่บนจอเท่านั้น แต่พอมาเจอความสว่างผิดที่ผิดเวลา แล้วผู้คนก็ออกมาบ่น คนที่ทำงานด้านโฆษณาอาจไม่ชอบใจคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพราะกลายเป็นว่าทำนู่นก็ไม่ดี ทำนี่ก็ไม่ได้

ที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของตำแหน่งที่ติดตั้ง มุมที่หันเข้าสู่ถนนและระดับความสว่าง เพราะป้ายที่อยู่สูงลิบลับแบบที่ต้องเงยหน้าขึ้นไปอ่านให้ชัดเจนก็ไม่ได้เป็นภาพบาดตาแต่อย่างได้ และยิ่งตอนกลางวันที่แสงแดดเจิดจ้าพอๆ กับป้ายเหล่านั้น ก็ไม่ทำให้รู้สึกแตกต่างอะไร

นอกจากนี้ ก็ยังมีการวิจัยถึงผลกระทบของป้ายโฆษณาเหล่านี้ต่อสมาธิคนขับรถ เพราะภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นมีความน่าสนใจ จนลืมดูถนน ประเด็นนี้ ผู้เขียนรู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสเมื่อเจ็ดแปดปีก่อน แต่นับตั้งแต่ที่ระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตฝังตัวมากับบริการโทรศัพท์ ดูมันก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากการที่คนขับรถแบบขับไปดู Google Map หรือ Waze ไปด้วย คล้ายๆ กับว่าเป็นทักษะที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งที่คนขับรถเป็นต้องมีควบคู่ไปด้วย

อีกหน่อยเวลาไปสอบใบขับขี่ นอกจากจะต้องฝึกถอยหลังเข้าซอง จอดเลียบข้างทางได้แล้ว อาจจะต้องให้ขับไปดูแผนที่ไปได้ด้วย เพื่อแสดงความสามารถในการจัดการสิ่งที่เข้ามารบกวนสมาธิได้

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share