in on August 14, 2018

ลอยทะเล

read |

Views

คิดอยู่เป็นนานกว่าจะลงมือเขียนเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าผู้อ่านจะเขี่ยนิ้วเร็วๆ ข้ามไปโดยไม่อ่าน ถ้าหากรู้ว่ากำลังจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับขยะในทะเล ที่มีทั้งเรื่องขยะที่พบในทะเล ริมหาด ในท้องสัตว์น้ำ ติดแหง็กตามร่างกายของสัตว์ทะเล แล้วก็มีหลายภาคส่วนที่ลุกขึ้นมารณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ไม่รับหลอด เลิกใช้กล่องโฟมใส่อาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ดีงามควรทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่ว่า… มีเรื่องที่ต้องคิดตามและทำความเข้าใจกับหลายประเด็น ก่อนที่จะสามารถทำให้การรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นประสบความสำเร็จ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริง ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูก่อนก็แล้วกัน

  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่เวลาดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้จากกระป๋องอะลูมิเนียมแล้วต้องใช้หลอด เพราะรู้มาว่า กระป๋องที่วางไว้ในร้านหรือห้องเก็บของก่อนที่ร้านค้าจะเอามาใส่ตู้เย็นนั้น มีหนูหรือแมลงสาบเดินป้วนเปี้ยนอยู่บนกระป๋องแน่ๆ
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่ไม่กล้าดื่มน้ำอัดลมโดยตรงจากขวดแก้ว เพราะว่ากลัวว่าสนิมจากฝาขวด ที่เกาะอยู่ตามปากขวดนั้น จะไหลลงคอตามไปด้วย
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่ไม่ยอมดื่มน้ำจากแก้วที่ร้านค้าเสริฟให้ เพราะเชื่อว่า ร้านค้าเหล่านั้นล้างแก้วไม่สะอาด และไม่อยากกินขี้ปากคนอื่น
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่เชื่อว่าต้องเปลี่ยนแปรงสีฟันทุกสามเดือนเพื่อสุขอนามัยของช่องปาก
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่สามารถเตรียมของขบเคี้ยวและอาหารว่างสาระพัดเวลาไปเที่ยวที่ต่างๆ แต่ว่าไม่เตรียมน้ำดื่มหรือเตรียมไปไม่พอ (เพราะหนัก) และคิดว่าไม่เป็นไร ไปซื้อเอาดาบหน้า แถมยังได้น้ำเย็นดื่มด้วย
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่เลี้ยวเข้าปั๊มเติมน้ำมันเพราะป้ายน้ำดื่มฟรี 1 ขวด เมื่อเติมครบ 500 บาท ทั้งๆ ที่ชีวิตประจำวันออกจากบ้านก็ตรงดิ่งไปทำงานหรือโรงเรียน และสถานที่เหล่านั้นก็มีตู้น้ำดื่มให้เติมใส่ภาชนะของตัวเอง
  • ใช่คุณหรือเปล่า ที่ต้องซื้อกับข้าวถุง หรืออาหารเข้าบ้าน แต่เดินไปร้านค้าเหล่านั้นมือเปล่า ไม่มีภาชนะใส่อาหารติดมือมาด้วย เพราะรู้สึกว่ายุ่งยาก เป็นภาระ หรือบางทีก็อายเขา
ภาพจาก www.matichon.co.th

ที่มาของขยะประเภทต่างๆ ในทะเล มันไม่ได้มาจากหนึ่งในเจ็ดข้อที่ว่ามาหรอก เพราะเมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่างๆ มักจะมีรถมาเก็บขยะสม่ำเสมอ และมีการจัดการขยะปลายทางที่ดีตามมาด้วย อย่างกรณีร้านค้าที่ให้บริการเครื่องดื่มในกระป๋อง พอลูกค้าดื่มเสร็จ ก็จะแยกหลอดออกจากกระป๋องเปล่าก่อนขายไปให้กับซาเล้งที่มารับซื้อ ส่วนหลอด ถ้าไม่ทิ้งทันทีก็ล้างน้ำเอากลับมาใช้ใหม่ (แอบได้ยินเสียงร้องยี้) การทิ้งนี่แหล่ะที่สำคัญ ถ้าเป็นร้านในเมือง มีรถขยะมาจัดเก็บอย่างทั่วถึง การทิ้งลงถัง ผูกปากถุง แล้วไปวางไว้หน้าร้านรอรถมาเก็บก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสเลย

เมื่อปี 2510 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้ทำวิจัยศึกษาปริมาณขยะที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกต้อง ที่พบในน่านน้ำโลก ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียส่งขยะออกไปลอยในน้ำในปริมาณสูสีกันมาก ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรไทยมีมากกว่าประชากรมาเลเซียกว่า 2 เท่าตัว (จากข้อมูลประชากรปี 2010 มาเลเซีย 28 ล้านคน ประเทศไทย 67 ล้านคน)

ภาพจาก https://www.statista.com/chart/12211/the-countries-polluting-the-oceans-the-most/

คำอธิบายถึงที่มาของปริมาณขยะข้างต้นในมาเลเซีย ผู้เขียนได้มาจากการสังเกตเวลาเดินทางไปทำงานในพื้นที่ พบว่าพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ทั้งฝั่งแหลมมลายู รัฐซาบาห์และรัฐซาราวัค ยังมีระบบจัดเก็บขยะที่เข้าไม่ถึงชุมชนขนาดเล็กและบ้านเรือนที่อยู่กระจัดกระจายห่างเมืองออกไป แต่ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสาธารณะทั้งแม่น้ำและทะเลได้อย่างง่ายดาย การทิ้งขยะเกลื่อนกลาดลงพื้นและลงแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซียมีพื้นที่ติดทะเลยาวถึง 4,500 กิโลเมตร และเมื่อไหร่ที่ฝนตก ปริมาณน้ำฝนที่พรั่งพรูลงมาก็ทำให้ของทุกอย่างบนถนนและพื้นที่เปิดทั้งหลาย พากันไหลลงสู่ทางระบายน้ำและสูงทะเลอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะพบขยะที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกต้องในทะเลเป็นจำนวนมากอย่างไม่เป็นสัดส่วนกับจำนวนคน

ที่สำคัญ คนที่นี่ไม่ได้โตมากับการรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงพื้นอย่างโครงการ “ตาวิเศษ” เวลาที่เขาทิ้งขยะลงพื้นจึงไม่มีใครมาส่งสายตาดุหรือพูด อ๊ะ อ๊ะ ใส่พวกเขา จะมีก็แต่ผู้เขียนนี่แหล่ะ อดไม่ได้ที่จะบีบแตรปี๊นปี๊นสองทีใส่รถคันหน้าที่ทิ้งขยะลงบนถนน (ซึ่งเขาก็คงงงๆ ว่าบีบทำไม)

กดสองทีแทนเสียง อ๊ะอ๊ะ…

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share