in on December 11, 2015

เที่ยวทิ้งทวน

read |

Views

ใกล้สิ้นปี หลายคนเลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวช่วงวันหยุดยาวๆ แบบนี้ เพื่อเคลียร์สมองให้โล่งก่อนจะกลับมาเผชิญกับงานและการเรียนในปีใหม่ แม้ว่าที่มาเลเซียจะไม่มีการฉลองวันปีใหม่สากลอย่างเอิกเกริก เพราะไม่ได้เป็นวันสำคัญต่อศาสนาหลักๆ ของคนมาเลเซีย จึงมีวันหยุดแค่เพียงวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น ไม่หยุดยาวจากวันส่งท้ายปี แต่ถึงกระนั้นภาคการศึกษาของที่นี่ก็เป็นใจให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสพาเด็กๆ ไปเที่ยว เพราะปิดเทอมใหญ่มาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ไปเปิดปีการศึกษาใหม่อีกทีตอนต้นเดือนมกราคม

p17ft61r6l1bpgt081qiqejp1c6h5

การวางแผนเที่ยวส่งท้ายปีเพื่อล้างวันลาพักร้อน จึงเป็นกิจกรรมที่หลายๆ ครอบครัว ตั้งตารอ ครอบครัวของผู้เขียน มักจะไปลงเอยตามมุมต่างๆ ของเมืองไทยตามปกติแล้ว ครอบครัวผู้เขียนเดินทางในลักษณะของนักท่องเที่ยวงบจำกัด คือไม่ถึงกับเป็นแบคแพคเกอร์ที่แบกเป้ โบกรถ และค่ำไหนนอนนั่น แต่ก็ไม่ได้เดินทางอย่างนักท่องเที่ยวแบบหรูหรา ทำให้เด็กๆ ยินดีที่จะไปนอนในกระท่อมเล็กๆ ริมทะเล กางเต๊นท์นอน และกินข้าวแกงหน้าตลาดเป็นอาหารเช้า ในขณะเดียวกัน ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งตารอวันที่จะได้ลงเล่นในสระว่ายน้ำและทานอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ของโรงแรม

ด้วยความแตกต่างของสถานที่พักแต่ละแห่ง ทำให้พวกเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวตามพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้ในแต่ละแห่ง ผู้เขียนพยายามที่จะทำให้การท่องเที่ยวของตัวเองและครอบครัวทิ้งรอยเท้าที่ย่ำยีบนทรัพยากรธรรมชาติและสร้างผลกระทบไว้อย่างไม่เอิกเกริกนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่ก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน

ลองมาดูกันว่า มีอะไรบ้างที่อาจจะเลือกๆ ไปใช้กับการท่องเที่ยวทิ้งทวนปีนี้ของคุณได้บ้าง

  • เลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและบำรุงผิวของตัวเอง – หลายๆ คนมักจะสงสัยว่าทำไมไม่ใช้ของที่โรงแรมจัดไว้ให้ล่ะ ของฟรี คิดอยู่ในค่าห้องแล้วทั้งนั้น ความจริงแล้วคือ นโยบายของโรงแรมส่วนมากจะไม่เติมเจ้าขวดเล็กๆ พวกนี้ หากว่าผู้เข้าพักโรงแรมใช้จนมันพร่องลงไป แม่บ้านจะรวบทิ้งเพื่อรักษาสุขอนามัย หากโรงแรมไหนที่ยังให้สบู่ก้อนแล็กๆ จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าเราจะไม่เคยเห็นสบู่ก้อนเก่าที่ใช้เมื่อวานนี้เลย
  • จงทำประหนึ่งว่าพักอยู่ในบ้านตัวเอง ระมัดระวังในการใช้ข้าวของ เช่น ปิดสวิทช์ไฟเมื่อไม่ใช้ เวลาอยู่บ้านของตัวเองอย่างไร ก็จงทำอย่างเดียวกันเวลาที่ไปพักตามโรงแรม อย่าคิดแค่ว่าจ่ายค่าโรงแรมไปแล้ว ต้องใช้ให้คุ้ม ยิ่งแพง ยิ่งต้องผลาญให้มากเข้าไว้ บางคนเสียบบัตรพลาสติกที่ได้มาจากการเป็นสมาชิกห้างร้านต่างๆ ลงไปในช่องคีย์การ์ด เพื่อให้เครื่องปรับอากาศเดินเครื่องตอนที่ออกไปตะลอนๆ วางแผนเป็นอย่างดีว่า พอกลับเข้ามาห้องพักจะได้เย็นฉ่ำทันที คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปเป็นค่าห้องอย่างดี
  • พกพากล่องใส่อาหารติดรถไปด้วยซัก 2-3 ใบ เผื่อว่าอยากรับประทานอาหารหน้าตาน่าอร่อยที่วางขายข้างทาง เช่น ขนมครก ขนมถ้วย กล้วยแขก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟมและดูแลสุขภาพของตัวเอง เพราะอาหารชุ่มน้ำมันและอุณหภูมิสูงจากการปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรสัมผัสกล่องโฟมหรือ ถุงก๊อบแก๊บ
  • ใช้หมดแล้วนำกลับมาด้วย เช่น แบตเตอรี่ (ถ่านไฟฉาย) ขวดแก้ว และขวดพลาสติกต่างๆ เพราะบางแห่ง การจัดการขยะอย่างเป็นระบบยังเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะที่พักตามเกาะและภูเขาต่างๆ อย่าแปลกใจที่จะเดินไปพบว่าด้านหลังเกาะ หลังเขา จะกลายเป็นที่ฝังกลบหรือมีการเผาขยะทุกชนิดเกิดขึ้น การนำของข้ามไปยังเกาะหรือขึ้นเขาสูงๆ มีค่าใช้จ่ายมาก การนำออกมาในปริมาณมากๆ ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน แต่หากนักท่องเที่ยวช่วยกันนำขยะเหล่านี้ติดมือกลับมาทิ้งที่แผ่นดินใหญ่หรือในเมือง ก็จะช่วยให้ขยะมีโอกาสเดินทางไปถึงสถานที่รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ต้องหลิ่วตาตามคนเมืองตาหลิ่ว หากไปเห็นเขาทิ้งขยะลงกับพื้น โดยเฉพาะการไปปิคนิคแบบที่เป็นการซื้อจากร้านและตลาดไปกินกันในบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่การทำอาหารมาเองจากบ้านเพื่อไปเปลี่ยนบรรยากาศในการกิน หลังจากอิ่มหนำสำราญ ก็อย่าลืมทำความสะอาดสถานที่และรวบรวมขยะกลับมาทิ้งเอง ไม่ต้องห่วงว่าต้นไม้ในสถานที่เหล่านั้นจะมีปุ๋ยไม่เพียงพอ จนถึงกับต้องนำเศษอาหารไปกองๆ หมกไว้ตามสุมทุมพุ่มไม้

เก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้เที่ยวทิ้งทวนกันให้สนุก ไปเก็บเกี่ยวพลังงานสำหรับลุยปีหน้ากันอย่างเต็มที่ แล้วอย่าเผลอทิ้งขยะไว้เป็นที่ระลึก อย่าลืมที่จะเก็บขยะของตัวเองกลับมาทิ้งในที่ที่มีการจัดการขยะเข้าถึงด้วยนะ…

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: http://www.truelife.com/
  3. ภาพจาก: https://www.ilovetogo.com/Article/29/131/Article.aspx
  4. ภาพจาก: https://paow007.wordpress.com/2010/09/09/10-จุดหมายปลายทางสุดฮอตข/
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share