in on May 14, 2018

เมื่อพระอาทิตย์ไม่ตกดิน

read |

Views

มีใครเป็นเหมือนกันบ้างที่ออกอาการดีใจเวลาที่เห็นพระอาทิตย์เพิ่งขึ้นหรือกำลังจะตก ตามความรู้สึกของผู้เขียน สีของท้องฟ้าในช่วงเวลาทั้งสองนั้นสวยมาก และแม้ว่ากล้องจากโทรศัพท์มือถือจะไม่สามารถถ่ายทอดได้อย่างที่ตาเรามองเห็น ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบขึ้นมาถ่ายรูปเมื่อมีโอกาสทุกครั้งไป


ภาพจาก: http://www.knotmirai.com/author/admin/

แล้ววันนี้เองที่เกิดสะดุดใจตอนที่ขับรถออกไปส่งลูกชายที่สนามเทนนิส ภาพพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือยอดไม้นั้นเป็นภาพที่หายากเหลือเกินสำหรับคนเมืองอย่างผู้เขียน ปกติแล้ว พระอาทิตย์จะหายไปทางหลังตึกสำนักงาน หรือคอนโดสูงๆ หรือไม่ก็พ้นสายตาไปเพราะป้ายโฆษณาใหญ่ยักษ์ทั้งหลายบดบัง หากไม่ได้ออกไปนอกเมือง โอกาสที่จะเห็นพระอาทิตย์ตกดินจึงยากเย็น ได้แต่ดูพระอาทิตย์ลับตึกและสิ่งก่อสร้างเป็นประจำ และก็รวมไปถึงการดูพระจันทร์โผล่จากยอดตึกด้วยเช่นกัน

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งก่อสร้างในเมืองกัวลาลัมเปอร์และเมืองบริวารรอบๆ ที่มีทั้งอาคารพักอาศัยและสำนักงานผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก เฉพาะในรัศมีไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรของบ้านผู้เขียน มีห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน 2 แห่ง อพาร์ทเมนท์อีก 6 โครงการเกิดขึ้นมาแบบที่ได้เห็นตั้งแต่ตอนลงเสาเข็มจนเสร็จเปิดทำการ จนทำให้เกิดแลนด์มาร์คใหม่ๆ ในการอ้างอิงเวลาบอกทาง ไม่ใช่สวนสาธารณะหรือที่ทำการไปรษณีย์อย่างแต่ก่อน ถ้าจะเปรียบเทียบกับตอนอยู่กรุงเทพ ก็คงเหมือนที่เคยบอกตำแหน่งบ้านว่าอยู่ใกล้ท้องฟ้าจำลอง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจจะบอกเพื่อนว่าบ้านอยู่ใกล้เมเจอร์สุขุมวิทแทน

ที่น่าเป็นห่วงคืออาคารสำนักงาน เพราะเท่าที่เห็น อาคารสำนักงานที่สร้างเสร็จภายในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา มีไม่กี่แห่งที่มีคนเข้าใช้พื้นที่เกือบเต็ม ข้อมูลทางสถิติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รายงานว่ามีแค่ราวๆ 60-70% ของอาคารสำนักงานต่างๆ ที่มีการเช่าซื้อ นอกนั้น ก็ยังว่างโหวงไร้คนเข้าใช้พื้นที่หรือเข้าอยู่อาศัย ที่เก็งไว้ว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเปิดบริษัทนานาชาติ ก็ยิ่งเป็นการเก็งที่ผิดคาด เพราะมาตรฐานอาคารสำนักงานที่สร้างในกัวลาลัมเปอร์และเมืองบริวารนี้ ยังด้อยกว่าอาคารสำนักงานในเมืองศูนย์กลางธุรกิจอื่นๆ ในเอเชียอย่างสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ส่วนธุรกิจรุ่นใหม่ภายในประเทศ ก็ผันตัวไปเป็นธุรกิจออนไลน์กันซะส่วนมาก “การทำงาน” จึงต้องการแค่มีคอมพิวเตอร์ แทปเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ “การประชุม” ก็เกิดขึ้นตามร้านกาแฟ หรือประชุมออนไลน์ หากต้องมีการนำเสนองานหรือประชุมกลุ่มใหญ่ ก็มี “ออฟฟิศรายชั่วโมง” เปิดให้บริการอยู่หลายแห่ง ประหยัดค่าเช่าสำนักงานและค่าบำรุงรักษาได้มากอยู่

เมื่อมองในมุมของเศรษฐกิจ การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เหล่านั้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเงิน เริ่มตั้งแต่ธนาคารปล่อยกู้ คนทำงานมีรายได้ คนขายอาคารได้เงิน คนซื้อได้กู้ธนาคาร ซื้อไว้เก็งกำไรก็ได้เงินเพิ่ม ดีดราคาอาคารสูงขึ้น ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้นอีก เงินจำนวนมากเดินสะพัดเพราะการเปลี่ยนมือและมูลค่า การที่จะมีใครออกมาบอกว่า หยุด! อย่าสร้างอะไรต่อมิอะไรอีกเลย จึงเหมือนเป็นการเอาเรือเข้าไปขวางลำ

ผู้เขียนลองสัมภาษณ์มนุษย์ตัวเล็กใกล้ตัวว่า รู้สึกอย่างไรกับตึกรามใหญ่โตที่กำลังผุดขึ้นรอบๆ หมู่บ้านที่เราอยู่ เขาตอบว่า “อีก 2-3 ปี เราคงไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกดิน เพราะมีคอนโดที่กำลังถูกสร้างใกล้ๆ บ้าน พอสร้างเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะมีตึกมาบังพระอาทิตย์แทนที่พระอาทิตย์จะได้ตกดิน” แสดงว่ารอดูพระอาทิตย์ตกดินในวันที่ไปเรียนเทนนิสเหมือนกัน

จะว่าไป สำหรับผู้เขียนก็คงแค่กระทบกระเทือนทัศนียภาพ แต่เพื่อนบ้านที่สู้อุตส่าห์ตั้งใจจะทำให้บ้านเป็นบ้านยั่งยืน ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ทั้งหลังคานั้นคงเดือดร้อนกว่า จู่ๆ เคยได้รับแสงอาทิตย์สาดส่องบนหลังคาครึ่งค่อนวัน กักตุนพลังงานไว้ใช้สอยในบ้านได้อย่างเต็มที่ อีกไม่นาน ตึกคอนโดที่สร้างเสร็จก็จะบดบังแสงอาทิตย์ไปตลอดเช้า เหลือไว้ให้รับแสงตอนใกล้ๆ เที่ยงเท่านั้น

วันไหนที่มีโอกาสได้เห็นพระอาทิตย์ตกดิน อย่าลืมถ่ายรูปเก็บไว้ อีกหน่อย ก็จะกลายเป็นภาพหายากไปด้วยเหมือนกัน…

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share