in on October 6, 2016

เมื่อโลกมาถึงทางแยก: รายงานการประชุม World Conservation Congress 2016

read |

Views

นี่คงเป็นงานประชุมระดับโลกที่สำคัญที่สุด ที่มีคนรู้จักน้อยที่สุด” Thomas Friedman คอลัมนิสต์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าไว้อย่างนั้น โธมัสหรือทอมกำลังพูดถึงการประชุม World Conservation Congress ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปีโดย IUCN หรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยในปีนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่รัฐฮาวาย ระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน

สี่ปีครั้งที่ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์จากทั่วทุกมุมโลกจะมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอผลงาน ความก้าวหน้าในการอนุรักษ์ และผลักดันวาระด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่าหนึ่งหมื่นคนจาก 184 ประเทศ รวมทั้งหัวหน้ารัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูง ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ทั้งนานาชาติและภาคประชาสังคมระดับท้องถิ่น

‘Planet at the crossroads’ หรือโลกที่กำลังอยู่บนทางแยกคือสาระหลักของงานประชุมคราวนี้ที่มุ่งชี้ให้เห็นว่าเราอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างการพัฒนาแบบล้าหลังที่ต้องแลกมาด้วยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้กลายมาเป็นเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของมวลมนุษย์ นักอนุรักษ์และนักพัฒนาสายพันธุ์ใหม่พากันประกาศว่า การพัฒนาไปข้างหน้าไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการสูญเสียธรรมชาติอีกต่อไป การพัฒนาไม่ควรเป็นเรื่องของผลประโยชน์ระยะสั้นแต่ทำลายตัวเองในระยะยาว และเราไม่ควรปล่อยให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต้องรับกรรมจากภัยที่พวกเขาไม่ได้ก่อเช่นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เพราะความจริงเรามีทางออกที่เหมาะสมมากมายในการใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายในการประชุมครั้งนี้มีตั้งแต่ ทางออกของการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) ความจำเป็นเร่งด่วนของการอนุรักษ์ทะเล การอนุรักษ์ระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม การแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า การชักนำผู้คนให้หันกลับมาสนใจธรรมชาติ รวมไปถึงการผลักดันการลงทุนภาคธุรกิจในเรื่องงานอนุรักษ์ รวมเป็นงานประชุมย่อยๆ และการแลกเปลี่ยนพูดคุยมากกว่า 1,300 เวที

นอกจากนั้นในงานประชุมครั้งนี้องค์กรอนุรักษ์ที่เป็นสมาชิกของ IUCN กว่า 1,300 องค์กรทั้งที่เป็นตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนภาคประชาสังคมจากกว่า 160 ประเทศจะได้ร่วมกันออกเสียงในประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วนกว่า 100 วาระ เพื่อกำหนดเป็นมติและข้อตกลงในการแก้ปัญหาต่อไป

ตัวอย่างวาระที่จะมีการพิจารณาร่วมกันก็เช่น ข้อเรียกร้องให้มีการยุติการค้างาช้างภายในประเทศต่างๆ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทะเลหลวง ข้อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองตัวนิ่มหรือลิ่นให้มากขึ้นโดยปรับสถานภาพในอนุสัญญาไซเตส ข้อเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์ชนิดฉลามและกระเบนให้มากกว่านี้ รวมไปถึงการหารือแนวทางการแก้ปัญหาการค้างาเลือดจากนกชนหิน

บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างเต็มไปด้วยความหวังเพราะประชาคมโลกได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันเกี่ยวกับความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธะสัญญาปารีส และรัฐบาลทั่วโลกก็ได้ให้การรับรอง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) 17 เป้าเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ปกป้องโลกและสร้างความเจริญอย่างเท่าเทียม ความยั่งยืนจึงเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ถูกพูดถึงตลอดงาน

โดยปกติงานประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเกือบหนึ่งหมื่นคนเป็นเวลานับ 10 วันคงจะสร้างขยะจำนวนมหาศาล งานประชุม IUCN World Conservation Congress ที่จัดขึ้นที่ Hawaii Convention Center ครั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะสร้างรอยเท้าทางนิเวศให้น้อยที่สุดทางผู้จัดจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะลดขยะให้เป็นศูนย์และทำให้เป็นการประชุมที่ปราศจากพลาสติก

เริ่มตั้งแต่การนำเอาข้อมูลรายละเอียดและกำหนดการต่างๆ ที่คงจะเป็นกระดาษกองโตทั้งหมดลง ไปอยู่ใน Application บนมือถือแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำแก้วส่วนตัวมาใช้สำหรับกาแฟและเครื่องดื่มโดยมีจุดเติมน้ำอยู่ทั่วไปบรรจุภัณฑ์ตามบูธร้านอาหารก็เป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้มีถังรวบรวมอาหารสดและขยะที่ย่อยสลายได้เพื่อเอาไปทำปุ๋ยการประชุมกลุ่มย่อยที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายสิบห้องก็พยายามใช้กระดาษให้น้อยที่สุดหรือแทบไม่มีเลยเก้าอี้และบอร์ดนิทรรศการต่างๆที่นำมาตกแต่งอย่างสวยงามก็ใช้กระดาษลังเป็นวัสดุหลัก

แม้อาจจะยังทำให้ปราศจากขยะได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นความพยายามที่น่าชื่นชมและเป็นตัวอย่างที่ดีในการลดรอยเท้าทางนิเวศของงานประชุมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

ก่อนการเปิดการประชุมที่ฮาวายไม่กี่วัน ประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจลงนามขยายพื้นที่อนุรักษ์ Papahanaumokuakea Marine National Monument ทางตอนเหนือของหมู่เกาะฮาวายถึงสี่เท่า จนกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้การคุ้มครองพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทยถึงเกือบสามเท่า เท่ากับเป็นการช่วยส่งสัญญานว่า โลกมาถึงทางแยกแล้วจริงๆ และธรรมชาติต้องไม่เป็นฝ่ายเสียสละให้กับการพัฒนาแบบทำลายล้างของมนุษย์อีกต่อไป

หมายเหตุ ดูรายละเอียดกำหนดการของงานประชุมได้ที่เว็บไซด์ >>>คลิ๊กที่นี่

ชมวิดีโอ Be part of the action – IUCN World Conservation Congress 2016 >>> คลิ๊กที่นี่

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=e2KvZRa8TYw
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share