in on January 19, 2016

เสี้ยวเดียว

read |

Views

หลังจากที่เขียนเรื่อง “เที่ยวทิ้งทวน” ไปเมื่อเดือนที่แล้ว ครอบครัวของผู้เขียนก็ออกเดินทาง ไปทิ้งทวนทันที คราวนี้ นอกจากจะได้ไปพบครอบครัวของผู้เขียนที่กรุงเทพตามปกติแล้ว ยังโชคดี ที่มีเวลาพอได้ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง-เขาค้อ-ภูหินร่องกล้า และจบด้วยอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

ซึ่งผู้เขียนคิดว่าพื้นที่แนวเขาบริเวณที่กล่าวมา หลุดลอดสายตานักเดินทางมากกว่า แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของเมืองไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ซึ่งไม่นับนักดูนก) ที่ส่วนมากจะขึ้นรถไฟหรือบินข้ามไปที่เชียงใหม่ หรือไม่ก็ลงทางใต้ๆ ตามเกาะแก่งต่างๆ พื้นที่เหล่านี้ จึงถูกพัฒนาตามความชอบและรสนิยมของนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่เดินทางขึ้นไปสูดอากาศบริสุทธิ์ และสัมผัสความหนาวเย็นเป็นหลักเขาค้อเป็นจุดหมายแรกที่เดินทางไปพัก ทางขึ้นเขาโปรยไปด้วยบรรยากาศของป่าเบญจพรรณที่ กำลังทิ้งใบเพราะเข้าฤดูหนาวแล้ว สร้างบรรยากาศโรแมนติกเหงาๆ ชวนให้เคลิ้มตามได้เป็นอย่างดี

1111

ผู้เขียนเลือกที่พักแบบเต็นท์รีสอร์ท เพราะรู้สึกว่าเปิดโอกาสให้อยู่ใกล้ชิดกับบรรยากาศความ หนาวเย็นมากกว่าที่จะอยู่ในบ้านสไตล์ต่างๆ ราวกับยกยุโรปมาไว้ที่นี่ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ มากมายจนน่าตกใจ จากข้อมูลที่พักบนเขาค้อในเว็ปไซต์แห่งหนึ่งแสดงให้เห็นว่าใน 6 ตำบลที่เป็นจุดท่องเที่ยวมีที่พักรวมกัน แล้วไม่น้อยกว่า 240 แห่งทีเดียว

โชคดีที่ผู้เขียนเดินทางไปพักในช่วงวันธรรมดาก่อนจะถึงช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสิ้นปี เราจึงเป็นเพียงแขกชุดเดียวที่เข้าพักในหนึ่งใน 50 เต็นท์ของรีสอร์ทแห่งนี้ แต่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาพักเต็มอัตรา โอ้ว… หลับตาคิดถึงปริมาณอาหารเช้าที่จะต้องทำเลี้ยงคนทั้งหมด น้ำที่ต้องใช้อาบและล้าง (ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เปลืองมากเท่าไหร่เพราะอากาศหนาวเย็นเป็นใจให้ประหยัด) ขยะที่จะเกิดตามมา โดยเฉพาะตอนที่เหลือบไปเห็นการเตรียมการรับนักท่องเที่ยวด้วยลังเครื่องดื่มเพิ่มไออุ่น ที่ตั้งซ้อนสูง อยู่ใกล้ๆ ห้องอาหาร… หวั่นไหวจริงๆ

1412652861-DSC1616-o

พอได้จังหวะ ผู้เขียนจึงเลียบๆ เคียงๆ ถามเจ้าของรีสอร์ทเกี่ยวกับเรื่องขยะ เพราะเหลียวซ้ายแลขวาก็มองไม่เห็นถังรองรับขยะที่รีไซเคิลได้ ลำบากใจทุกครั้งที่ต้องทิ้งขวดพลาสติกลงในถังขยะ แบบรวมๆ คุณพี่เจ้าของเล่าว่า เคยจัดถังแยกแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้สนใจที่จะทำตาม ยิ่งตกดึกยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครลุกจากวงไปทิ้งขยะแน่นอน ทางรีสอร์ทจึงจัดการเก็บเองแยกเอง อะไรที่ขายได้ก็เอาลงไปขาย อะไรที่ขายไม่ได้ก็เอาไปฝังกลบไว้ อ้าว…

ตั้งสติได้ก็เลยถามต่อว่า ที่ต้องฝังกลบขยะนี่เป็นเพราะรถเก็บขยะมาไม่ถึงบนนี้หรือไร คุณพี่เจ้าของบอกว่า เมื่อก่อนนี้เคยมีรถเก็บขยะของอบต. วิ่งมาเก็บขยะตามพื้นที่ต่างๆ เสร็จแล้วก็เอาไปทิ้งไว้ในพื้นที่บ้านเข็กน้อยกลายเป็นการย้ายความเดือดร้อนไปให้ชุมชนที่ส่วนมากเป็นชาวม้ง และยังเข้าไปถมทิ้งในพื้นที่ที่เป็นสุสานดั้งเดิมอีกด้วย ตอนนี้ไม่มีรถมาเก็บขยะแล้ว เลยต้องจัดการขยะ กันไปตามมีตามเกิด นักท่องเที่ยวหลายคนอาจรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวพอๆ กับระยะทางจากกรุงเทพ ไปเขาค้อร่วมสี่ร้อยกิโลเมตร

กิจกรรมหลักของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวเขาค้อนี้ คือการถ่ายรูปเก็บบรรยากาศต่างๆ ทั้งบรรยากาศจัดสรรอย่างการโพสต์ท่าเก๋ไก๋ที่หน้าบ้านพักสไตล์อังกฤษ ไปจนถึงการนั่งจุมปุ๊กข้างๆ ฝูงแกะจำลองที่ฟาร์มคาวบอย อีกส่วนหนึ่งคือถ่ายรูปกับบรรยากาศธรรมชาติมอบให้ เช่น เวลาหมอกปกคลุมยามเช้า พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกตามแนวเขา แล้วแต่ความขยันของนักท่องเที่ยว ในการสรรหามุม ก่อนจะโพสต์ภาพสวยๆ เหล่านั้น ช่วยเพิ่มความนิยมในการมาเที่ยวเขาค้อมากขึ้นไปอีก ผู้เขียนเอง ก็ทำความรู้จักกับสถานที่เพียงด้านหน้าแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง

1412653348-DSC1658-o

เพราะถ้าดูจากข้อมูลที่คุณพี่เจ้าของรีสอร์ท (หนึ่งในสองร้อยกว่าแห่ง) เล่าให้ฟังแล้ว ผู้เขียนคิดว่าหากไม่มีการจัดการขยะ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม อีกไม่นานนัก เขาค้อจะกลายเป็นเขาซ่อนขยะที่น่ากลัวแห่งหนึ่ง ยิ่งความที่อยู่สูง เป็นพื้นที่ต้นน้ำตามธรรมชาติมากมาย เวลาฝนตก ก็จะชะเอาเศษซากขยะเหล่านั้นปนเปื้อนลงมาสู่พื้นที่ด้านล่างด้วย (นี่ยังไม่นับสารเคมีที่ใช้ใน การเพาะปลูกสตรอเบอรี่และผักอื่นๆ นะ)  ลำธารต่างๆ ที่ไหลทางทิศตะวันออก ทำหน้าที่ส่งน้ำลงไปสู่แม่น้ำ ป่าสัก ส่วนด้านทิศตะวันตก ไหลลงสู่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน อืมม… ล้วนแต่เป็นแม่น้ำชื่อคุ้นๆ ทั้งนั้นเลย

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนร้องเพลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และรู้ว่าแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านเป็นสองใน สี่สายหลักที่มาประกอบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่บางคนอาจไม่รู้หรอกว่าแม่น้ำป่าสักเองก็ไหลมารวมกับ แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ตรงหน้าวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นไง

เดี๋ยวก่อน เมื่อสักครู่นี้เราเพิ่งคุยกันถึงขยะบนเขาค้อจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ใช่ไหม ทำไมปัญหาที่เกิดบนนั้นถึงตามมาติดๆ ใกล้บ้านขนาดนี้แล้วล่ะ

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th
  2. ภาพจาก: http://travel.thaiza.com
  3. ภาพจาก: http://pantip.com/topic/32678741
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share