in on January 31, 2017

เหล้าเบียร์ละเหี่ยใจ

read |

Views

คนไทยได้ผ่านปีใหม่สากล (ต้นมกราคม) ปีใหม่จีน (ปลายมกราคม) และเร็ว ๆ นี้กำลังจะเข้าสู่ปีใหม่ไทยในเดือนเมษายนอีกแล้ว

ความจริงหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนพยายามไม่นึกถึงคือ คนไทยดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์แล้วตายกันจัง ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อยังเด็กทุกคนเรียนหนังสือเเละครูมักสอนว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ทุกชนิด แล้วเหตุใดเมื่อนักเรียนเหล่านั้นโตขึ้น ส่วนใหญ่กลับตั้งใจดื่มทุกครั้งที่มีโอกาส

มีคนอธิบายว่า ผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์คงยังติดอยู่กับรสชาติของน้ำทองแดงก่อนที่จะมีโอกาสมาเกิดเป็นคน ซึ่งเป็นทำนองเดียวกันกับคนที่ติดบุหรี่ยังติดในกลิ่นควันของฟืนที่ใช้ต้มน้ำในกระทะทองแดงในช่วงที่ยังไม่ได้มาเกิดเป็นคน

ผู้เขียนนั้นไม่ดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลว่า เสียดายเงินเป็นประการเเรกและประการต่อมาคือ เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ทุกชนิดไม่กระตุ้นต่อมรับรสบนลิ้นให้รู้สึกอร่อย แม้ว่าเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ไวน์ เมื่อดูด้วยตานั้นมีสีสวยน่าจะอร่อย พอลองดื่มก็มีความรู้สึกเหมือนดื่มน้ำผลไม้บูด ผู้เขียนเคยทดลองเอาเหล้านอกที่โฆษณาว่าหมัก 12 ปี ซึ่งเพื่อน (ซึ่งได้ฟรีมาหลายขวด) มอบให้ในวันปีใหม่เทใส่จานวางไว้นอกบ้านตั้งแต่เช้าจนเย็น ก็ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดมาสัมผัส จึงสรุปเอาว่าการที่ผู้เขียนไม่ดื่มนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว

เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์นั้นเป็นเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แล้วเหตุใดที่เครื่องดื่มซึ่งถูกจัดเป็นสารเสพติดนี้ได้รับการยอมรับในบางส่วนของสังคมโลก คำตอบเป็นอย่างที่รู้กันว่า เครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้ผู้ดื่มมีความสุขโดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้าง ซึ่งหลายครั้งมีผลต่อเนื่องว่า เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำให้คนดีๆ ตายไปปีละมากมายด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยผู้ตายส่วนหนึ่งไม่ได้มีความประสงค์ในการสัมผัสเครื่องดื่มประเภทนี้แม้แต่น้อย แต่กลับต้องตายในอุบัติเหตุทางรถยนต์โดยฝ่ายผู้กระทำเป็นผู้เสียสติสัมปชัญญะเนื่องจากเมาแล้วขับรถพาผู้โดยสารไปสู่สัมปรายภพ หรือขับรถเหาะข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถซึ่งขับอยู่ดีๆ บนถนนฝั่งตรงข้ามทำให้มีคนซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตาย ซึ่งหลายคนมักกล่าวว่า คนที่ตายโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนั้นถึงที่ตาย ซึ่งไม่น่าใช่

เเอลกอฮอล์เป็นสารเคมี เมื่อเสพเข้าไปถึงระดับหนึ่งจะออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทให้หยุดการนึกคิด ทำให้รู้สึกสบาย เคลิบเคลิ้มหลุดไปจากโลกปัจจุบัน จึงมีผู้นิยมเสพติดในลักษณะที่ยากต่อการถอนตัวกลับมาเป็นคนปกติ

วัยรุ่นไทยส่วนหนึ่งอาจไม่ใส่ใจรับรู้ว่า เครื่องดื่มเหล่านี้มีความเป็นพิษสูงเมื่อเสพมากในช่วงเวลาสั้นๆ ผู้เสพจะเกิดอาการมึนเมาอย่างรุนแรง ควบคุมตนเองไม่ได้ หรืออาจถึงขั้นไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจนสุดท้ายเสียชีวิตแบบไม่ได้สั่งลาใคร

สมัยที่ผู้เขียนเรียนระดับปริญญาตรี เพื่อนๆ ที่เรียนสาขาวิศวกรรมเคยเล่าให้ฟังว่า รุ่นพี่มีหน้าที่ต้องสอนให้รุ่นน้องดื่มเหล้าเพื่อให้สามารถเข้ากับผู้ใช้แรงงานเมื่อบัณฑิตเหล่านี้เรียนจบต้องออกไปควบคุม ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานไทยส่วนใหญ่ดื่มเหล้าเป็นนิจ (เนื่องจาก จน เครียด ดื่ม เป็นวงจรอุบาท) ดังนั้นถ้านายไม่ดื่มก็ดูเป็นความห่างเหินทำให้ปกครองลูกน้องยาก จึงพบว่าผู้ที่จบสาขาดังกล่าวส่วนใหญ่ติดเหล้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้การสอนให้รุ่นน้องในสถานศึกษาต่างๆ ดื่มเหล้าเกิดขึ้นแทบทุกสาขาวิชาไม่ได้เฉพาะในสาขาที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานแล้ว เพราะนักศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหญิงชายล้วนอ่อนไหวต่อการชักชวนให้ดื่มเหล้าจนติดและเสียผู้เสียคนได้ (ถ้าไม่ใฝ่ดี)

เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ซึ่งมีเหล้า เบียร์เป็นสมาชิกหลัก ได้รับความนิยมในหลายส่วนของสังคม ขนาดบางประเทศที่มีข้อบังคับทางศาสนาห้ามคนดีดื่ม พลเมืองผู้กระหายในเเอลกอฮอล์จำเป็นต้องข้ามพรมแดนไปดื่มในประเทศที่ให้บริการการมอมเมาขายเหล้าคู่ไปกับการท่องเที่ยว (ข้อมูลจาก Wikipedia ให้ตัวเลขคร่าวๆ ว่า มูลค่าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีบนดาวโลกเเห่งนี้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2557)

ผลจากความนิยมดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ ทำให้ผู้ครองอำนาจรัฐของหลายประเทศเข้าควบคุมและจัดการในการผลิตเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ เป็นนัยว่าเพื่อความสะดวกในการจัดระเบียบการเก็บภาษี เพราะภาษีบาปนี้เป็นรายได้ของรัฐที่เป็นกอบเป็นกำในลำดับต้นๆ ในกลุ่มสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค

สำหรับประเทศไทยหลายคนเข้าใจเองว่าเราเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา เว็บ www.tnamcot.com มีบทความเรื่อง พฤติกรรมเสี่ยงติดสุราช่วงเทศกาล (เมื่อ 2 มกราคม 2560) ตอนหนึ่งกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนของนักดื่มมีแนวโน้มคงที่และไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คิดเป็นร้อยละ 32-33

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว (พ.ศ. 2550-2559) คนไทยดื่มสุรายาดองทุกประเภทที่ผ่านการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย (ไม่รวมประเภททำเถื่อนหรือแอบนำเข้าตามชายฝั่งทะเลหรือชายแดนที่เป็นป่า) ในปริมาณค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี ดูจากในปี พ.ศ. 2553 มีการดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ราว 830 ล้านลิตร เรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2558 ที่มีรายงานว่า ปริมาณคงยังอยู่ในระดับ 828 ล้านลิตร ตัวเลขอาจมีขึ้นลงบ้างในแต่ละปี เข้าใจว่าเป็นไปตามจำนวนนักดื่มที่ตายแต่ก็มีผู้เสพหน้าใหม่เข้ามาทดแทนแบบต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตของสุราและเบียร์ได้ 53,940 ล้านบาท ต่อมาอีกสิบปีคือ พ.ศ. 2555 ภาษีที่เก็บได้เพิ่มเป็น 118,393 ล้านบาท และข้อมูลล่าสุดที่ได้จากเว็บ thaipublica.org เมื่อปี 2557 คือ 141,213 ล้านบาท โดยมีคำอธิบายถึงเหตุที่เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นว่า มีการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้และค่านิยมในการเมาของคนไทยยังคงเหนียวแน่นแบบว่า คำสอนทางศาสนาและการอบรมผ่านสถานศึกษาดูจะมีประสิทธิภาพแค่ในระดับหนึ่งกับคนที่ ยังไงๆ ก็ไม่ดื่ม

ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2558 นั้นคือ 142,602 ล้านบาท ดูจากข้อมูลแล้วท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่า ถ้าคนไทยส่วนหนึ่งกลับใจหันมาอาราธนาศีล 5 แล้วปฏิบัติตามทุกวันบางองค์กรในประเทศไทยอาจลำบากเพราะมูลค่าภาษีบาปที่ต้องนำส่งไปให้องค์กรเหล่านั้นได้ใช้กันสบายมือต้องลดลง แต่ผลดีที่เกิดต่อประเทศเราคือ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดโรคของผู้ประสบเคราะห์กรรมเนื่องจากการดื่มได้เป็นแสนล้านบาทเช่นกัน

บทความมากมายบนอินเตอร์เน็ทกล่าวว่า เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้คนประเภทเดียวกันเข้ากันได้ดี ซึ่งน่าจะเรื่องจริงเพราะหลายคนกล่าวว่า เเอลกอฮอล์นั้นช่วยปรับให้เคมีของคนที่ไม่รู้จักกันเข้ากันได้เสมือนว่า สสส. ไม่เคยมีสป็อตโฆษณาซึ่งมีคำคมว่า “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ที่ติดปากผู้คนเมื่อได้ยินแล้วถูกกลืนลงคอไปกับหยดเหล้าอย่างรวดเร็ว

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อปี พ.ศ. 2558 มีข้อมูลว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์บ้างเป็นบางวันในแต่ละสัปดาห์ โดยที่หลายคนดื่มมันหลายวันตลอดปีที่แล้วและบางคนดื่มมันทุกวันตลอดเดือนที่เพิ่งผ่านไป ทั้งนี้เพราะเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์มีความหลากหลายทั้งรูปแบบที่ยวนใจและความเข้มข้นของเเอลกอฮอล์ ซึ่งมีตั้งแต่เบาๆ แค่ร้อยละ 3-8 ในเบียร์และไวน์ไปถึงร้อยละ 40 ในเหล้าส่วนใหญ่

ข้อมูลที่น่ากังวลคือ เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์นั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 โดย IARC (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งหมายความว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนทั้งทางระบาดวิทยาและการศึกษาในสัตว์ทดลอง

ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจด้วยว่า ตัวสารเเอลกอฮอล์ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า เอ็ททิลเเอลกอฮอล์ (ethylalcohol) ไม่เคยถูกทดสอบพบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะทั้งฤทธิ์และโครงสร้างของเเอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีแนวโน้มในการก่อมะเร็งเลย แต่สิ่งที่ถูกทดสอบพบว่าก่อความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งคือ เครื่องดื่มเเอลกอฮอล์บวกกับพฤติกรรมการดื่ม ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงแล้วเอ็ททิลเเอลกอฮอล์นั้นเป็นสารเคมีที่เซลล์ในร่างกายสามารถย่อยเพื่อใช้เป็นพลังงานได้ดีเมื่อได้รับในปริมาณที่พอเหมาะ

กระบวนการที่ร่างกายนำเอาเอ็ททิลเเอลกอฮอล์ไปใช้เป็นพลังงานนั้น อธิบายง่ายๆ คือ เอ็ททิลเเอลกอฮอล์ที่ถูกดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสโลหิต หลายส่วนถูกส่งไปสมองทำให้เกิดอาการเมา ในขณะที่หลายส่วนไปที่ตับแล้วถูกเอนไซม์ในเซลล์ตับเปลี่ยนให้เป็นสารที่เรียกว่า อะเซ็ตตัลดีไฮด์ จากนั้นอะเซ็ตตัลดีไฮด์ถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นเกลืออะซีเตท ซึ่งถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นอะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอซึ่งเป็นสารชีวเคมีชนิดเดียวกันกับที่ได้จากการที่เซลล์ย่อยน้ำตาลกลูโคส (ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการย่อยแป้งในลำไส้เล็กหรือมาจากแหล่งอื่น) กระบวนการขั้นต่อไปคือ การเปลี่ยนอะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอไปเป็นสารให้พลังงานสูงที่เรียกว่า เอทีพี (อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต) ซึ่งร่างกายใช้สารนี้ในการขับเคลื่อนเกือบทุกกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชีวิต

กระบวนการเปลี่ยนแปลงอะเซ็ตตัลดีไฮด์ไปเป็นเกลืออะซีเตทนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากสารอะเซ็ตตัลดีไฮด์เป็นสารที่ไม่เสถียรนักจึงมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นอนุมูลอิสระได้ง่าย ดังนั้นเซลล์ตับจึงต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายน้ำดีคือ วิตามินซีไปจัดการควบคุมให้การเปลี่ยนไปอะเซ็ตตัลดีไฮด์เป็นเกลืออะซีเตทเป็นไปได้ตลอดรอดฝั่ง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมคนที่ติดสุราจึงต้องการวิตามินซีสูงกว่าคนทั่วไป

อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าผู้ดื่มเเอลกอฮอล์เป็นสตรีมีครรภ์ เเอลกอฮอล์สามารถเข้าสู่ตัวอ่อนซึ่งระบบการจัดการเเอลกอฮอล์ของตับยังไม่เริ่มทำงาน อย่างไรก็ดีตัวอ่อนมีระบบสำรองอื่นซึ่งคล้ายกันใช้แทนและระบบสำรองนี้จะปล่อยสารอนุมูลอิสระออกมาด้วย ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดอันตรายในการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในมดลูก ดังนั้นจึงพบว่าลูกที่เกิดมาจากแม่ขี้เมามักพิการ ดังนั้นสูตินรีแพทย์ทั่วโลกจึงแนะนำว่าสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่มเเอลกอฮอล์หรือแม้แต่ยาบำรุงโลหิตซึ่งเป็นสารละลายที่ได้จากการสกัดสมุนไพรด้วยเหล้าขาว

ดังที่กล่าวแล้วว่า ตับเป็นอวัยวะหลักในการจัดการกับเเอลกอฮอล์ที่ถูกดื่ม ดังนั้นเมื่อดื่มหนักเป็นประจำโอกาสที่ตับเป็นอันตรายนั้นอาจเกิดในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งคือ บางเซลล์ตายโดยออกมาในรูปตับแข็ง (cirrhosis) หรือเป็นมะเร็ง (cancer) นอกจากนี้ผลที่เกิดนั้นยังขึ้นกับพฤติกรรมการดื่มว่า เป็นการดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์อย่างเดียวหรือดื่มพร้อมอาหารที่ใช้เป็นกับแกล้ม

กรณีดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์อย่างเดียวหรือบางครั้งมีการเติมน้ำหรือโซดาบ้างนั้น โอกาสที่เซลล์ตับสัมผัสกับอัลดีไฮด์ที่ถูกเปลี่ยนมาจากเเอลกอฮอล์ในความเข้มข้นสูงย่อมเกิดได้ไม่ยาก กรณีนี้หมายความว่าผู้ดื่มน่าจะมีโอกาสตายด้วยอาการตับแข็ง

ส่วนผู้ดื่มที่มีสุนทรียภาพไปกับกับแกล้มซึ่งมีสารพิษที่ถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ได้แก่ อาหารปิ้งย่างรมควัน อาหารเนื้อสัตว์ทอดทั้งไฟแรงและไฟอ่อนหรือต้มเปื่อย ไส้กรอกฝรั่งหรือกุนเชียงจีนและไก่สามอย่างซึ่งมีถั่วลิสงคั่ว อาหารเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ที่ดื่มมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้สูง

นอกจากนี้ผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์มักมีความคิดที่ผิดพลาดหรือประมาทในเรื่องความปลอดภัยในการเลือกกินอาหารดิบๆ เช่น หอยนางรม ปลาร้าดิบ หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้ติดเชื้อพยาธิ์ต่างๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับ

บทความนี้เป็นตอนที่ 1 ซึ่งเขียนเสร็จในช่วงกลางเดือนมกราคม ขณะที่เตรียมส่งก็ปรากฏข่าวเกี่ยวกับ คราฟต์เบียร์ (หมายถึง เบียร์ที่หมักและผลิตโดยโรงหมักอิสระขนาดเล็ก ใช้วัตถุดิบธรรมชาติและไร้สารกันบูด โดยหยอดความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเติมอะไรต่อมิอะไรลงไปด้วยทุกครั้ง ทำให้เบียร์แต่ละชนิดมีกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ในตัวเองของแต่ละยี่ห้อ) ข่าวนี้มีปรากฏในสื่อทุกประเภท ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจาก ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ซึ่งมีเนื้อข่าวว่า

“…..จากกรณีที่สรรพสามิตจังหวัดนนทบุรี และตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี จับกุมนายxxx อายุ 28 ปี ที่อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งใน ต.บางกระสอ อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี หลังผลิตเบียร์ที่หมักเอง หรือ คราฟต์เบียร์ (Craft Beer) จำหน่ายให้กับกลุ่มเพื่อนเพราะชื่นชอบการดื่มและผลิตเบียร์ ในข้อหามีภาชนะและทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิต มีไว้เพื่อขายและครอบครองสุราโดยไม่ได้ติดแสตมป์สุรา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น วันนี้ (24 ม.ค.) นายxxx ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว MGR Online ว่า ศาลแขวงนนทบุรี มีคำพิพากษาให้ปรับตนเป็นจำนวนเงิน 5,200 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะคดีถึงที่สุดแล้ว…..”

จากข่าวนี้แสดงว่า ปัจจุบันมีการผลิตคราฟต์เบียร์แล้วในไทยแบบเดียวกับการต้มเหล้าเถื่อนของชาวบ้าน ถ้าตำรวจรู้เรื่องไม่ว่าจะรู้เองหรือมีคนไปแจ้งความก็ต้องจับ เนื่องจากการผลิตเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์นั้นต้องขออนุญาตตามกฏหมาย คราฟต์เบียร์หลายยี่ห้อจึงต้องหลบไปผลิตที่ฝั่งลาวบ้าง เขมรบ้างแล้วจึงนำผ่านชายแดนเข้ามา

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือ มีการพยายามในขั้นต่อไปว่าทำอย่างไรมันจึงจะถูกกฏหมาย เพราะดูแล้วกิจการนี้เข้าได้กับการเป็นธุรกิจ SME ซึ่งถ้าคราฟต์เบียร์ทำได้ เหล้าเถื่อนที่ชาวบ้านกลั่นเองก็ต้องทำได้ อนาคตเราคงได้เห็นสถิติการตายช่วงเทศกาลหยุดยาวที่สูงขึ้นอีกเนื่องจากการเมาแล้วขับ เพราะนับวันเหล้าเบียร์ดูจะหายดื่มได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราคงสามารถยกเลิกนโยบาย 7 วันอันตรายที่ก่อความรำคาญใจได้เพราะมันอันตรายทั้ง 365 วัน

สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่า เมื่อใครสักคนหนึ่งที่ตั้งใจเมา ไม่ว่าโดยการกินเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่เสพกัญชาน่าจะเป็นสิทธิส่วนตัวที่ทำได้ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือทำอย่างไรที่จะป้องกันคนซึ่งเมาแล้วไม่ออกมาทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยเฉพาะกับเรา ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพของคนทั่วไปและนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการบังคับให้คนขับรถในเวลากลางคืนต้องหยุดรถแล้วเป่าเครื่องมือที่เรียกว่า Breathalyzer เพื่อวัดระดับเเอลกอฮอล์ในเลือด โดยคนซึ่งไม่ดื่มต้องถูกสุ่มให้เป่าเสียเวลาไปด้วย


(ติดตาม เหล้าเบียร์ละเหี่ยใจตอนที่ 2 ในเดือนมีนาคมก่อนเข้าสู่ เทศกาลตายเกลื่อนเพราะดื่มหนักในช่วงวันปีใหม่ไทยเดือนเมษายน)

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.adintrend.com/show_ad.php?id=7434
  2. ภาพจาก: http://www.gun.in.th/2010/index.php?action=printpage;topic=60371.0
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share