in on April 3, 2017

แก้ปัญหาถุงพลาสติกล้นโลกด้วยเงิน 2 บาท

read |

Views

งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปีแล้วระบุว่าทุกปีมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นราว 275 ล้านตันและไหลลงสู่ทะเลมากถึง 8 ล้านตัน ขยะเหล่านี้ย่อยสลายยากและหมุนเวียนอยู่ในทะเลหลายร้อยปี

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีนกทะเลกว่าร้อยชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลกว่า 30 ชนิดกินพลาสติกจนเป็นอันตรายถึงชีวิต โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ประเมินว่าแต่ละปี ขยะพลาสติกสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลกถึงปีละ 2.8 แสนล้านบาท

การแก้ปัญหาขยะพลาสติกจึงกลายเป็นวาระระดับโลก UNEP เองก็เพิ่งเปิดตัวการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก #CleanSeas ที่งาน World Ocean Summit ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลีเมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าไปที่การกำจัดถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและไมโครพลาสติกในเครื่องสำอางค์ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขยะพลาสติกในทะเลภายในปี 2022

วิธีลดปริมาณถุงพลาสติกที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลที่สุดคือการบังคับเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ซึ่งสามารถนำเงินมาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนงานอนุรักษ์ได้อีกด้วย อังกฤษเป็นประเทศล่าสุดที่นำเอาระบบเก็บภาษีถุงพลาสติกมาใช้ โดยกำหนดให้มีการเก็บเงิน 5 เพนนีหรือประมาณ 2 บาทต่อถุง

เพียง 6 เดือนหลังจากที่นำระบบนี้มาบังคับใช้ในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ผลปรากฎว่าจำนวนการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 83% โดยสถิติระบุว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 7 แห่งมีการใช้ถุงพลาสติกไปทั้งสิ้น 640 ล้านถุงในระยะเวลา6เดือน เมื่อเทียบกับสถิติเดิมที่มีการใช้มากถึง 7.64 พันล้านถุงตลอดทั้งปี

แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรที่ออกกฎหมายบังคับให้มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกก่อนหน้านี้แล้ว โดยเวลส์เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ตามมาด้วยไอร์แลนด์เหนือในปี 2556 และ สก็อตแลนด์ในปี 2557 ซึ่งทุกประเทศต่างเห็นการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกอย่างเห็นได้ชัดภายในปีแรกของการเก็บภาษีถุงพลาสติกตั้งแต่ 76% 71% และ 80% ตามลำดับ

ระบบภาษีดังกล่าวถูกนำมาบังคับใช้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 250 คนขึ้นไปในอังกฤษ โดยห้างค้าปลีกทุกแห่งจะต้องเก็บเงินค่าถุงพลาสติกอย่างน้อย 2 บาทต่อถุงพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งหนึ่งถุง ภายใน 6 เดือนหลังมีการเก็บภาษีรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีการขึ้นทะเบียนทั้งหมดจำหน่ายถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไปทั้งสิ้น 1.1 พันล้านถุง
  • มีรายได้จากการจำหน่ายถุงพลาสติกไปทั้งสิ้น 41.3 ล้านปอนด์หรือราว 1,800 ล้านบาท
  • เงินรายได้ราวสองในสามหรืออย่างน้อย 29.2 ล้านปอนด์หรือกว่า 1,200 ล้านบาทถูกบริจาคให้องค์กรการกุศลหรือกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข และศิลปะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ Therese Coffey กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวนับเป็นข่าวดีมากๆที่จำนวนการใช้ถุงพลาสติกลดลงอย่างเหลือเชื่อ เพราะนั่นหมายความว่า เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การจัดการหาที่ทิ้งขยะ และที่สำคัญท้องทะเลจะมีความสะอาดและปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามสมาคมอนุรักษ์ทะเลแห่งสหราชอาณาจักรเรียกร้องว่าอังกฤษควรยกเลิกข้อยกเว้นสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก เพราะเวลส์และสก็อตแลนด์ก็ไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าว ซึ่งหากร้านค้าปลีกทั่วไปทุกขนาดมีการเก็บภาษีถุงพลาสติกด้วย จำนวนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งน่าจะลดลงมากกว่านี้

สำหรับตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีการเก็บภาษีถุงพลาสติกคืออินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (อันดับหนึ่งคือจีน สามฟิลิปปินส์ สี่เวียดนาม และห้าประเทศไทย) กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียเริ่มเก็บภาษีถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกใน 23 เมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเก็บค่าถุงพลาสติกทุกประเภทราวถุงละ 50 สตางค์ และตั้งเป้าว่าจะนำเงินดังกล่าวมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยจัดการขยะและสนับสนุนงานขององค์กรเอกชนด้านต่างๆ มีตัวเลขระบุว่าภายในหนึ่งเดือนหลังมีการเก็บเงิน จำนวนถุงพลาสติกในเมืองต่างๆลดลงโดยเฉลี่ยถึง 40% กลุ่มอนุรักษ์หลายแห่งให้ความเห็นว่าค่าภาษีถุงละ 50 สตางค์นั้นถูกเกินไป และทางร้านค้าควรมีส่วนร่วมรณรงค์มากกว่านี้

ในส่วนของประเทศไทย โครงการ Chula Zero Waste หรือ จุฬาปลอดขยะ ได้เริ่มต้นรณรงค์ให้คนหันมาใช้ถุงผ้าและงดรับถุงพลาสติกเมื่อซื้อของสินค้าน้อยชิ้นในร้านสะดวกซื้อจำนวน 11 แห่งภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้การรณรงค์จะได้ผลพอสมควรคือสามารถลดจำนวนถุงพลาสติกลงได้เกือบครึ่งหนึ่งจากเดือนละประมาณ 130,000 ถุงเหลือราวๆ 70,000 ถุงภายในระยะเวลาสามเดือน แต่ปรากฎว่าวิธีที่ได้ผลที่สุดก็คือการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในราคาถุงละ 2 บาทแทนการแจกฟรี ซึ่งปรากฎกว่าหลังจากเริ่มเก็บค่าถุงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำนวนถุงพลาสติกลดลงจากเดือนมกราคมที่ใช้รวมกันราวๆ 70,200 ถุงเหลือเพียง 16,700 ถุง หรือลดลงถึง 76%  ภายในระยะเวลาแค่เดือนเดียว

กลไกที่น่าสนใจอีกอย่างของการเก็บภาษีถุงพลาสติกคือเงินทุนที่สามารถนำมาใช้ในการให้การศึกษา สนับสนุนองค์กรชุมชน และส่งเสริมให้มีการจัดการลดขยะอย่างเป็นระบบได้ เช่นกรณีของประเทศอังกฤษคาดว่าจะสามารถเก็บเงินจากภาษีถุงพลาสติกได้รวมกันสูงกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี

หากประเทศไทยต้องการจะหลุดจาก 10 อันดับแรกของประเทศที่สร้างขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เปิดเผยตัวเลขว่าเราต้องลดขยะลงให้ได้ราว 60,000 – 160,000 ตันต่อปี หรือโดยเฉลี่ยเราต้องลดขยะพลาสติกลงให้ได้อย่างน้อยปีละ 11,000 ล้านชิ้น   

สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลควรผลักดันคือการออกกฏหมายให้ร้านค้าปลีกทุกประเภทเก็บภาษีถุงพลาสติก รวมถึงภาชนะพลาสติกทุกประเภท สำหรับภาชนะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ก็น่าจะนำระบบเงินมัดจำมาใช้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสามารถจัดเก็บและนำกลับไปผลิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทเรียนจากทั่วโลกพิสูจน์มาแล้วในกรณีของถุงพลาสติกว่า เงินแค่ 2 บาทสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เห็นผลกว่าการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเป็นไหนๆ เลิกจัดอีเวนต์แจกถุงผ้าแล้วมาช่วยกันผลักดันให้มีกฎหมายภาษีถุงพลาสติกกันเถอะครับ


ที่มาของข้อมูล

 

 

เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share