in on November 16, 2016

ได้เวลากลับไปหาธรรมชาติ l Nature-based solution for all

read |

Views

ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความชิ้นนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง ช้างป่าหนุ่มตัวหนึ่งคงกำลังหากินอย่างมีความสุขอยู่ข้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติหนองผักชีในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วาฬบรูด้าตัวโตอาจกำลังไล่ต้อนจับลูกปลากินอย่างเริงร่าริมชายฝั่งทะเลกรุงเทพไม่ไกลจากเขตบางขุนเทียน  ผมถ่ายภาพช้างและวาฬบรูด้าทั้งสองตัวนี้ได้จากจุดที่อยู่ห่างจากใจกลางสุขุมวิทราวสองชั่วโมงเท่านั้น

มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เรายังมีโอกาสเห็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองประเภทได้ค่อนข้างง่ายดายไม่ไกลจากมหานครแห่งความวุ่นวายแห่งนี้ เรายังพบครอบครัวนาก สัตว์แสนรู้ผู้ล่าสูงสุดในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำได้ที่ชานเมืองบางขุนเทียน เรายังพบนกหายากอย่างนกอัญชันป่าขาเทา นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว ได้ในสวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯ

ในยุคดิจิตอลที่ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกเสมือน การได้ออกไปเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าในธรรมชาติเป็นเครื่องย้ำเตือนสำคัญว่าโลกนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ธรรมชาติยังคงมีอยู่รอบๆ ตัวเรา และแท้จริงแล้วระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ต่างหากที่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาต่างๆ มากมายที่กำลังรุมเร้ามนุษย์ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาวะทั้งในระดับมหภาคและระดับปัจเจก

ในวงการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศัพท์หนึ่งทีได้ยินบ่อยมากในระยะหลังคือคำว่า Nature-based Solution หรือการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน สำหรับคนทำงานด้านพื้นที่คุ้มครอง (Protected Area) เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Ecosystem-based Management หรือการจัดการเชิงระบบนิเวศ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างใหม่และเริ่มใช้อย่างแพร่หลายมาเมื่อสัก 15 ปีมานี้เอง

การจัดการเชิงระบบนิเวศอธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือการบริหารจัดการเป็นองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้านระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน แล้วจึงค่อยพัฒนาการดูแลรักษาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ได้จัดการแบบพื้นที่ใครพื้นที่มันแบบเดิมๆ เช่นเมื่อสัตว์ป่ามีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าห้วยขาแข้ง แม่วงก์ ทุ่งใหญ่ฯ การอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องจัดการป่าผืนใหญ่ทั้งระบบ จนเป็นที่มาของการจัดการพื้นที่แบบกลุ่มป่าเชิงระบบนิเวศ เช่น โครงการจัดการผืนป่าตะวันตก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ผืนป่าแก่งกระจาน เป็นต้น

ต่อมาคำว่าเชิงระบบนิเวศ – Ecosystem-based ก็ถูกนำมาขยายใช้ในบริบทอื่นๆ มากมาย เช่นการจัดการประมง (Ecosystem-based Fisheries Management) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ecosystem-based Adaptation) โดยมีหลักการสำคัญคืออาศัยความรู้ความเข้าใจทางนิเวศวิทยามาปรับใช้กับขบวนการทางสังคมที่ต้องจัดการปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมให้ได้

มายุคหลังปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเริ่มปรากฏในเชิงประจักษ์มากขึ้นๆ ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน น้ำท่วมรุนแรง ฝนแล้งต่อเนื่อง หน้าดินพังทลาย ชายฝั่งถูกกัดเซาะ สังคมโลกเริ่มตระหนักว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้ เผ่าพันธุ์มนุษย์คงจะไม่ได้ไปต่อแน่ๆ

เมื่อปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาทางแก้ร่วมกัน แต่การแก้ปัญหาแบบเอาคนเป็นศูนย์กลางแบบเดิม มักทำให้เกิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่รอบคอบ และยิ่งส่งผลร้ายกว่าเดิมในระยะยาว นักวิทยาศาสตร์จึงมีความพยายามเสนอการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ เรียนรู้การทำงานของระบบนิเวศที่สมดุล สมบูรณ์ ลงตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกระบวนการผลิตตามธรรมชาติมีประสิทธิภาพขนาดที่ไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้งเกิดขึ้นเลย หรือนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่หันกลับไปลอกเลียนหลักการทำงานสุดเจ๋งของธรรมชาติในศาสตร์ชีวลอกเลียน (biomimicry)

ด้วยแนวคิดที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงหมายถึงการรื้อฟื้นความรู้เกี่ยวกับห้วยหนองคลองบึง การไหลหลากของน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่คอยรับน้ำดักตะกอน การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงหมายถึงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างระบบกักเก็บน้ำย่อยๆในระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน การเพาะปลูกชนิดพันธุ์ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงหมายถึงการเข้าใจรากของปัญหาต้นทาง และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพืชชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการังที่ล้วนเป็นปราการทางธรรมชาติ

ด้วยความเข้าใจถึงผลดีของการฟื้นฟูธรรมชาติ การแก้ปัญหาสุขภาพและสุขภาวะของคนในชาติจึงหมายถึงการเพิ่มพื้นสวนสาธารณะ เพิ่มจำนวนต้นไม้ใหญ่และพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติให้คนในเมืองได้มีโอกาสใช้ชีวิตกลางแจ้ง สร้างภูมิคุ้มกันด้วยแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต  การปฏิรูปการศึกษาจึงหมายถึงการพัฒนาหลักสูตรเนื้อหาที่สอดคล้องกับนิเวศวิทยาท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดความรักในการเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว การสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงหมายถึงการฟื้นฟูทะเล ฟื้นฟูป่า แหล่งผลิตอาหารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก และส่งเสริมการเพาะปลูก  การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริโภคอย่างยั่งยืนในทุกๆ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนกว่าครึ่งโลก

เมื่อมนุษย์ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพบความจริงว่าทางออกของปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้นมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เราเพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและเข้าใจว่า งานอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มน้อยที่พยายามไล่คนให้กลับไปอยู่ถ้ำ แต่คือการอนุรักษ์ต้นทุนธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐศาสตร์ให้สอดคล้องกับขีดจำกัดของระบบนิเวศ การอนุรักษ์คือการพัฒนาอย่างชาญฉลาด อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ธรรรมชาติคือทางออกของปัญหาตั้งแต่ความยากจน ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าสับสนอ่อนแอในหมู่คนเมือง เราต้องหันกลับมาเรียนรู้จากธรรมชาติ ช่วยกันสร้างพลังความเคลื่อนไหวนี้ ให้เกิดขึ้นกับคนทุกๆกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจและมีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติมากขึ้น  เราต้องนำเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาช่วยกระตุ้นให้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเข้าถึงกลุ่มคนที่อาจยังไม่สนใจหรือไม่มีโอกาส

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติในนามของการพัฒนา และเรียกร้องให้การแก้ปัญหาต่างๆอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพราะมันคือทางรอดเดียวของพวกเราทุกคน

หมายเหตุ:  ติดตามกรณีศึกษาการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน Nature-based Solution อย่างต่อเนื่องได้ที่นี่ และขอเชิญมาร่วมงาน Rewilding Bangkok ฟื้นฟูชีวิตป่าเมืองกรุง วันที่ 19 พ.ย. นี้ เพื่อเรียนรู้ว่า เราจะเริ่มกันอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองหลวงกันอย่างไร ดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/2f9FegT

อ้างอิง
  1. ภาพโดยช้างเเละวาฬ: เพชร มโนปวิตร
  2. ภาพจาก: IUCN
  3. ภาพจาก: The EU Research and Innovation policy agenda on Nature-Based Solutions and Re-Naturing Cities
  4. ภาพจาก: 1st European Urban Green Infrastructure Conference 2015
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share