in on August 23, 2016

ไม่เห็นกล่องโฟม ไม่หลั่งน้ำตา

read |

Views

ขณะที่มีข่าวคราวจากเมืองไทยเกี่ยวกับกล่องโฟมว่ามีคนลุกขึ้นมาเถียงแบบข้างๆ คูๆ ว่าโฟมไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเข้าใจว่าคนที่ลุกขึ้นมาเถียงพูดว่าโฟมก่อปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมเดียวไม่เป็นไรพักฟังคนเถียงชั่วคราวแล้วหันมาดูว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเขามองเรื่องนี้กันอย่างไรบ้างดีกว่า

25590_thaihealth_fjklnsuvwx13

ในมาเลเซียมีระบบจัดการขยะที่ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการขยะคือเทศบาลเมือง วิธีการจึงออกจะเป็นไปในแนวทางการเขาสั่งมาว่าตอนแรกๆ ผู้เขียนรู้สึกอึดอัดค่าที่เคยทำงานกับตาวิเศษและถนัดทำงานแบบที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” (มาอยู่ที่นี่แล้วพบว่าคำนี้เป็นของหายาก เลยขอใช้ตรงนี้หน่อยแม้ว่าจะออกเป็นทางการซักนิด) พอมาเจอแบบสั่งให้ทำอย่างเดียวก็เลยไม่เข้าทางตัวเอง ใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ แต่พออยู่มาสิบปีแล้วก็พอจะมองออกว่า เพราะความแตกต่างทางเชื้อสายและวัฒนธรรมของคนที่นี่ ทำให้กระบวนการทำงานหลายๆ อย่างไม่ค่อยจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกันซักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชุมชนด้วยแล้ว อะไรที่สั่งตรงมาจึงได้ผลกว่ามากกว่าเชิญภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมงาน

รัฐสลังงอร์ที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ถือเป็นรัฐที่มีประชากรพักอาศัยอยู่มากที่สุดในมาเลเซียด้วยจำนวนเกือบ 5.9 ล้านคน คิดเป็น 19 เปอร์เซนต์ ของประชากรทั้งประเทศและด้วยความที่เป็นสังคมเมืองที่กำลังโต จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐสลังงอร์ครองตำแหน่งแชมป์ผลิตขยะมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1998 คิดเป็น 14 เปอร์เซนต์ของปริมาณขยะที่ผลิตโดย 15 รัฐทั่วประเทศ (อ้างอิงข้อมูลจากปี 2009 ประเทศมาเลเซียผลิตขยะ 27,284 ตันต่อวัน) การทำงานของรัฐในการจัดการขยะเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปี 20132017 ที่บอกไว้ว่าจะต้องลดปริมาณขยะที่เดินทางไปยังหลุมฝังกลบและยืดอายุขัยของหลุมฝังกลบจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำอย่างจริงจัง

จากข้อมูลที่มีอยู่ในงานวิจัยและการวิเคราะห์ตัวเลขต่างๆ จะพบตัวเลขระบุปริมาณขยะประเภทต่างๆ เช่น เศษกระดาษหนังสือพิมพ์กล่อง UHT แก้ว พลาสติก โลหะ เศษผ้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่กลับไม่พบรายงานที่เป็นตัวเลขของกล่องโฟมเลย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะกล่องโฟมเป็นขยะที่ไร้น้ำหนักเมื่ออยู่โดดเดี่ยวหรือกระจัดกระจายในพื้นที่แบบไร้ขอบเขต แม้จะมีจำนวนมากมายมหาศาลในกองขยะ แต่น้ำหนักก็ยังไม่มากพอที่จะถูกบันทึกไว้ในรายงานเหล่านั้น น่าวิตกแท้ๆ เพราะเข้าข่าย ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตาเมื่อไม่มีตัวเลขโผล่ในรายงานการจำแนกขยะต่างๆการจัดการที่ปลายทางจึงทำได้ยาก

แต่แล้วใครบางคนในเทศบาลมหานครของเปตาลิงจายา (เมืองที่เป็นบ้านใหม่ของผู้เขียน) ก็คิดเรื่องนี้ออก (ไชโย!) ลุกขึ้นมาจัดการที่ต้นทางของการบริโภค คือผู้ขายอาหาร โดยมีการเริ่มแนะนำความคิดนี้มาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ที่ขอให้ผู้ขายอาหารเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบอื่นที่ย่อยสลายได้ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือส่งไปรีไซเคิลได้ เช่น กล่องพลาสติก กระดาษห่อรองด้วยใบตอง เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากนัก แต่นับจากวันที่ 1 กันยายน 2016 นี้เป็นต้นไปหากเทศบาลมหานครฯพบว่าผู้ประกอบการยังใช้กล่องโฟมก็จะออกหนังสือเตือนก่อนและหากยังไม่ปรับเปลี่ยนก็จะออกใบสั่งเปรียบเทียบค่าปรับเป็นอันว่าต้องงัดไม้แข็งออกมาใช้ค่าปรับสูงสุดอยู่ที่หนึ่งหมื่นบาทอาจจะไม่มากนักแต่สำหรับคนขายอาหารตามแผงลอยหรือร้านค้านับว่ามากพอให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการขาย

ถึงจุดนี้ประเด็นของกล่องโฟมไม่ได้หยุดอยู่ที่ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างไรแม้คนที่ลุกขึ้นมาเถียงว่าไม่มีอันตรายและยังอยากจะเชื่ออย่างนั้นก็คงต้องปล่อยไป

ที่ประเทศไต้หวัน สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม (EPA) ได้ออกมาสั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการขายอาหารใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกและโฟมโดยให้เหตุผลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสาเหตุหลักของการห้าม เพราะปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากภาชนะเหล่านี้มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นมาก เมื่อกล่องโฟมหลุดลอดจากระบบจัดการขยะไปสู่โลกกว้าง ก็จะแตกตัวลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลุดเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ท้ายที่สุดก็กลับเข้ามาสู่ร่างกายของผู้บริโภคอาหารทะเลต่อไป 

ใช่ว่าจะหาตัวแทนมาแทนกล่องโฟมไม่ได้ ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายและความอร่อยของอาหารเป็นจุดขายก็สั่งห้ามไม่ให้ใช้กล่องโฟมและถ้วยโฟม ใครที่เคยไปเดินถนน Ximendingในไทเปก็จะรู้ว่าทั้งถนนเต็มไปด้วยรถเข็นขายของกินสาระพัดภาชนะที่ใส่อาหารเหล่านั้นมีทั้งถ้วยกระดาษแก้วกระดาษหรือกล่องพลาสติกขึ้นอยู่กับว่าเหมาะแก่การรองรับอาหารชนิดใด

201501030024t0001

ผู้อำนวยการสำนักงานพิษวิทยา แผนกไต แห่งโรงพยาบาล Linkou Chang Gung Memorial Hospital ของไต้หวัน ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า สไตโรโฟม สามารถทนความร้อนได้ถึง 70 องศาเซลเซียสเท่านั้น เมื่อเลยจุดนั้นไป จะปล่อยเบนซีน (ถูกใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการผลิต) ซึ่งมีความเป็นพิษหากได้รับในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดได้ (อ้างอิงจากhttp://focustaiwan.tw/news/asoc/201501030024.aspx)

จะเชื่อใครก็เชื่อเถอะ อย่าให้ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตาก็แล้วกัน

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.jingathailand.com/healthy-detail.php?view=31
  2. ภาพจาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/27346
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share