in on March 26, 2015

ความหมายของต้นไม้ใหญ่

read |

Views

ช่วงนี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่หลายข่าวซึ่งเผยให้เห็นว่าเรามองต้นไม้ใหญ่ๆ ด้วยความหมายที่แตกต่างกันไป และยังมีความหมายใหม่ๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึง

เริ่มด้วยข่าวการตัดต้นมะหาดอายุกว่า 143 ปีเพื่อให้ศิลปินชาวญี่ปุ่นทำงานประติมากรรมและจัดวางไว้กลางเมืองกระบี่ เจ้าของต้นไม้บอกว่ามะหาดไม่ใช่ต้นไม้พรรณหวงห้ามและเป็นต้นไม้ที่อยู่ที่ในที่ดินของเอกชน โดยตนตั้งใจจะตัดไม้เพื่อนำมาสร้างบ้าน แต่เมื่อมีคนขอมาทำงานศิลปะก็ให้เพราะคิดว่ามีประโยชน์และคุณค่ากว่านำไปสร้างบ้าน ขณะที่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์แสดงความไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ให้เหตุผลคล้ายคลึงกันว่าต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ยืนต้นมาเป็นร้อยปี มีค่าทางศิลปะมากกว่าการนำมาทำงานศิลปะใดๆ การโค่นลงมาด้วยกิจประการใดก็ตาม คือการทำลายธรรมชาติซึ่งถือเป็นศิลปะชั้นสูงสุด

ข่าวล่าสุดที่กำลังคึกโครมและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นมุมกว้างคือการตัดอุโมงค์ไม้สักบนถนนท่าวังผา-น่าน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรเพื่อขยายไหล่ทาง โดยกรมทางหลวงให้เหตุผลว่าเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ขณะที่ผู้คัดค้านโครงการเห็นว่าอุโมงค์ต้นไม้ดังกล่าวเป็นเสน่ห์และสัญลักษณ์ของเมืองน่าน และเป็นอุโมงค์ไม้สักเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย

จากพลังของมวลชนทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศที่ไม่แสดงเห็นด้วย โดยในเว็บไซต์ change.org ที่จัดทำแคมเปญคัดค้านการตัดอุโมงค์ต้นไม้มีคนเข้าไปลงชื่อคัดค้านแล้วประมาณ 72,000 คน นำมาสู่เวทีแสดงความคิดเห็นระหว่างเจ้าของโครงการอย่างกรมทางหลวงกับประชาชนในพื้นที่ โดยฝ่ายคัดค้านยังคงเน้นถึงความสำคัญของอุโมงค์ต้นสักแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับคนน่านได้ ส่วนกรมทางหลวงยืนยันถึงความจำเป็นในการขยายถนน อย่างไรก็ตามกรมทางหลวงให้ข้อสรุปว่าเดินหน้าโครงการขยายถนนต่อไป แต่ยังไม่ดำเนินการใดๆ ในช่วงอุโมงค์ต้นไม้ระยะ 800 เมตร จนกว่าจะนำข้อเสนอของประชาชนเข้าไปในที่ประชุมของกรมทางหลวง เพื่อสรุปในการขยายเส้นทางจุดที่เป็นปัญหาให้ออกมาดีที่สุดหรือกระทบกับต้นไม้น้อยที่สุด

ก้าวไปสู่ข่าวระดับสากล เมื่อปลายปีที่แล้วสำนักข่าว World News Daily Report ตีพิมพ์บทความบริษัททำไม้ตัดต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมีอายุถึง 5,800 ปี ความสูงเกือบ 40 เมตร ตั้งอยู่ในเขตป่าอเมซอนบริเวณชายแดนประเทศเปรูและบราซิล โดยอ้างว่าไม่ทันสังเกตว่าได้ตัดไม้ลึกเข้าไปในเขตของเขตป่าอนุรักษ์ที่ห้ามตัดไม้ โดยหัวหน้าเผ่ากล่าวว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นมารดาของจิตวิญญาณของป่าฝนผืนนี้ ที่มาจากพลังชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในผืนป่า เมื่อมารดาของจิตวิญญาณถูกทำลายก็จะนำความมืดมิดมาสู่มนุษย์และโลกทั้งมวล

แม้ต่อมาข่าวนี้จะติดอันดับข่าวแปลกระดับโลกเนื่องจากเป็น “ข่าวเต้า” ที่มีคนนำไปเผยแพร่ต่อมากมาย แต่แท้จริงแล้วไม่มีทั้งชาวเผ่าและการตัดต้นไม้ใดๆ ส่วนต้นไม้ที่ถูกตัดในรูปอายุ 5,062 ปี ที่อยู่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามการที่ข่าวดังกล่าวถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำในสื่อชั้นนำและโลกออนไลน์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่ามีความรู้สึกร่วมที่เป็นสากลว่าต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งที่ควรปกป้องและน่าเศร้าสะเทือนใจทุกครั้งที่ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดทำลาย

ส่วนอีกข่าวหนึ่งเป็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับคุณค่าของต้นไม้ใหญ่ เมื่อวารสารเนเจอร์ซึ่งเป็นวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงตีพิมพ์บทความเรื่องอัตราการสะสมคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามขนาดของต้นไม้ จากโครงการสำรวจขนาดใหญ่เพื่อวิเคราะห์การดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าฝนจำนวน 402 ชนิด ใน 6 ทวีปพบว่าต้นไม้ที่ขนาดใหญ่กว่าและอายุมากกว่าจะดูดซับคาร์บอนได้เร็วกว่าและมากกว่าต้นไม้ขนาดเล็กและอายุน้อย

ความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้คือการหักล้างความเชื่อดั้งเดิมที่บริษัททำไม้และนักวิชาการเกษตรที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการในพื้นที่ป่าชอบอ้างว่าต้นไม้ที่ทีอายุน้อยจะดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ใหญ่เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่า ดังนั้นจึงเสนอให้ตัดต้นไม้เก่าแก่โบราณแล้วปลูกป่าเศรษฐกิจแทนที่ แต่แท้จริงแล้วยิ่งอายุมากขึ้นต้นไม้ใหญ่ยิ่งดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นตามขนาดและจำนวนใบที่เพิ่มขึ้นของมันนั่นเอง

นักวิจัยบอกว่าการค้นพบครั้งนี้ทำให้เรารู้แน่ชัดว่าว่าต้นไม้ใหญ่มีรูปแบบการเติบโตที่สวนทางกับมนุษย์ตรงที่ยิ่งแก่ยิ่งเติบโต และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและภาวะโลกร้อนมากเพียงใด ทั้งนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่าป่าไม้ทั่วโลกกักเก็บคาร์บอนไว้ถึง 300 พันล้านตันหรือ 30 เท่าของการเผาไม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแต่ละปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ต้นไม้ใหญ่ยังมีคุณค่ามากกว่าต้นไม้เล็กเนื่องต้นไม้ใหญ่เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

จากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนามองป่าไม้และต้นไม้ในมิติที่กว้างกว่าความต้องการใช้พื้นที่หรือหารายได้จากต้นไม้ใหญ่ และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของผลได้ผลเสียที่รอบด้านก็จะทำให้ทางเลือกในการพัฒนาเปิดกว้างขึ้น ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับโครงการอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่านนั่นเอง

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาจาก: voice tv
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share