in on June 8, 2015

เปิดป่า-ค้าสัตว์ หวังยืมมือรัฐประหารผ่านกฎหมาย

read |

Views

หนึ่งในเรื่องที่ร้อนแรงของช่วงนี้ก็คือการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. … ที่กรมอุยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหมายมั่นว่าจะให้ออกมาใช้บังคับแทน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยกร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …ขึ้นใหม่ เพื่อจะใช้แทนฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ที่เรียกว่าเป็นการเปิดป่า-ค้าสัตว์ ก็เพราะว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีหลักการที่ผิดไปจาก พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยหลักการสำคัญก็คือ เป็นการเปิดให้ใช้พื้นที่ป่ามากขึ้นทั้งอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

โดยสรุปการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้ใช้ประโยชน์มากขึ้นคือ กำหนดให้มีเขตผ่อนปรน และให้บุคคล สมาชิกชุมชนท้องถิ่นเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ตามความจำเป็น หรือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ติดกับเขตผ่อนปรนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ในบางเรื่อง ให้เอกชนสามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ถึง 30 ปี ส่วนเขตหวงห้ามนั้น ให้มีการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้ ขณะที่กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะมีพื้นที่ให้บริการที่ท่องเที่ยวได้ และพื้นที่ที่จะถูกสงวนรักษาระบบนิเวศไม่ให้ถูกรบกวน

ส่วนการเปิดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้ใช้ประโยชน์มากขึ้นก็คือ กำหนดให้มีเขตหวงห้าม ให้เข้าศึกษาธรรมชาติได้ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่  กำหนดให้มีเขตศึกษาธรรมชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วไป ที่ให้มีบริการนำเที่ยวได้  กำหนดให้มีเขตผ่อนปรน ให้มีการนำเที่ยว ค้างแรมและจัดกิจกรรมหาผลประโยชน์ได้ รวมทั้งให้มีการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยได้ ส่วนหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ขณะที่กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นพื้นทางธรรมชาติที่จะสงวนรักษาระบบนิเวศเอาไว้ไม่ให้ถูกรบกวน

ส่วนในด้านทรัพยากรพันธุกรรมหรือสัตว์ป่า  ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีการเปิดให้มีการล่า ค้า ครอบครอง เพาะพันธุ์สัตว์ป่าได้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือสัตว์ป่าควบคุม จากกฎหมายปัจจุบันที่ไม่ให้ทำกิจกรรมเหล่านั้น

แม้ว่าการใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั้นจะมีบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมกำกับไว้ด้วยทุกขั้นตอนวิธีการ ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบคณะกรรมการ รัฐมนตรี หรืออธิบดี

แน่นอน เหตุผลของเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากไม่สามารถควบคุมหรือจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น การจัดการร้านค้า ร้านอาหาร การจัดการการท่องเที่ยว การจัดการเอกชนผู้ให้บริการที่พักและนำเที่ยว เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่าหลักการในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ อาจจะมีข้อดีอยู่บ้างในบางประเด็นก็น่าจะอยู่ในระดับที่แก้ไขปรับปรุงกฎหมายก็น่าจะเพียงพอ  ไม่น่าจะถึงกับยกร่างใหม่  เพราะร่างใหม่ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์การอนุรักษ์ จากการที่กฎหมายปัจจุบันบอกให้เอาไปเก็บ ร่างกฎหมายใหม่นี้กลับมีหลักการบอกให้เอาไปใช้  แม้ว่าการเอาไปใช้จะมีกลไกควบคุม  แต่ก็เป็นกลไกที่ให้อำนาจคนบางคน บางกลุ่ม ซึ่งง่ายต่อการใช้ผลประโยชน์เข้าแลกเปลี่ยน

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังวิพากษ์ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เปลี่ยนจากการเอาระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นเอาคนเป็นศูนย์กลาง ทั้งการบริหารจัดการที่ไม่สามารถทำได้ ความย่อหย่อนบกพร่องในความสามารถของบุคลากรกรมอุทยานฯที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญงานอนุรักษ์ทำงานในพื้นที่ การตอบสนองการใช้ประโยชน์  ร่างกฎหมายนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้คน ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติสาธารณะ

ส่วนด้านความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนั้น ได้มีการเปิดให้รับฟังความคิดเห็น 2 ครั้งไปแล้ว ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ และคงไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่จะเดินหน้าตามขั้นตอนการออกกฎหมายและจะผลักดันผ่านในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากการออกกฎหมายในรัฐบาลเลือกตั้งเป็นเรื่องยากกกว่าการออกกฎหมายภายใต้เงารัฐประหาร

งานนี้คงวัดใจ วัดวิสัยทัศน์และวัดความรู้ผู้มีอำนาจว่าจะยอมถูกใช้เป็นตรายางหรือเปล่า

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: www.seub.or.th
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share