in on August 10, 2018

Beginner’s Mind อัศจรรย์ของการเห็นครั้งแรก

read |

Views

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วฉันไปเปิดหลักสูตรใหม่ของมูลนิธิโลกสีเขียวที่เชียงดาว เป็นการอบรม Nature Mentor สร้างผู้ทำหน้าที่เปิดประตูสู่ความมหัศจรรย์ของโลกธรรมชาติคนใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคมไทย

เป็นที่น่าประหลาดใจและสะพรึงใจไปพร้อมๆ กัน เมื่อเปิดรับสมัครแล้วพบว่ามีผู้สมัครเข้าคอร์สกันอย่างท่วมท้น จนต้องปิดรับสมัครก่อนกำหนด เพื่อคัดเลือกผู้ร่วมหลักสูตรมาเพียง 37 คน

ไม่เคยนึกเลยว่าคนจะสนใจกันถึงเพียงนี้ มันน่าจะแสดงถึงปรากฎการณ์เล็กๆ อะไรบางอย่างที่เริ่มผุดขึ้นมาในสังคมไทย เป็นการมองเห็นปัญหาร่วมกัน เห็นความต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมกับธรรมชาติ ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการสูญพันธ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 ของโลกใบนี้

ผู้สมัครแต่ละคนที่เราได้มีโอกาสช้อนเข้ามาจึงล้วนแล้วแต่เป็นคนมี “ของ” และไม่ใช่ของธรรมดา หลายคนเป็นขั้นเซียนในสายงานตนเอง

มีตั้งแต่นักสัตววิทยาระดับแนวหน้า แอบกรอกใบสมัครมาว่าเป็นแม่บ้าน นักเขียนเบส์ทเซลเลอร์มือทองขวัญใจวัยโจ๋ นักวิทยาศาสตร์ ครูศิลปะธรรมชาติลือชื่อในวงการ นักการศึกษาหลายแนวทั้งในและนอกระบบ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาลัย หมอสมุนไพรผู้มีสัมผัสละเอียดอ่อนต่อความสมดุลของธาตุ นักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงนางผู้มีญาณทัศนะ เรียกง่ายๆ ว่ามีความเป็นแม่มด

ทีมวิทยากรของเรา ซึ่งรวบรวมมาจากหลายองค์กร เห็นชื่อผู้เข้าอบรมก็หนาว ใจสั่น ไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนคนเก่งๆ เหล่านี้

แต่ฉันมั่นใจว่าคนเก่งที่สมัครมาเรียนกับเรา ล้วนเป็นคนน้ำไม่ล้นแก้ว เขาต้องรู้สึกว่าหลักสูตรเรามีอะไรให้เขาที่เขายังขาดและอยากเติมเต็ม อย่างน้อยก็เพื่อได้เจอได้แลกเปลี่ยนกับผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกันจากพื้นเพที่ต่างกัน

ที่สำคัญ เราต้องการคนเก่งหลายๆ ด้านเข้ามาร่วมทำงานฟื้นฟูความสัมพันธ์ธรรมชาติกับเรา ช่วยให้งานที่เราพยายามทำมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต สนองความต้องการของคนในสังคมวงกว้างขึ้นกว่าที่เรารู้จัก

เราไม่กลัวคนเก่งเพราะเราถือหลักแบ่งปันความรู้ ผลัดกันเรียนผลัดกันสอน ถ้าเรื่องไหนใครเก่งก็ขอให้แชร์มา ช่วยทั้งกลุ่มรวมถึงวิทยากรได้เรียนรู้ด้วย

สิ่งที่เกร็งจึงไม่ใช่ว่าผู้เข้ามาเรียนจะมีความรู้ความสามารถในบางด้านมากกว่าเรา ที่น่ากลัวกว่าคือเขาจะเบื่อเมื่อต้องเจอกับเรื่องที่รู้อยู่แล้วในจังหวะที่เขาไม่ได้เป็นผู้สอน

หวั่นใจที่สุดว่าคนจะไม่สนุกกับเนื้อหาและกิจกรรมที่ทีมวิทยากรเราเตรียมมา

ฉันเชื่อว่าทุกคนก็คงมีมารยาท ไม่แสดงความเบื่อออกมา แต่ไม่สนุกก็คือไม่น่าสนใจ ไม่ได้ประโยชน์ก็คือไม่ได้อะไรใหม่

ฉันจึงตัดสินใจกล่าวเปิดคอร์สด้วยการพูดถึงความสำคัญของ “หัวใจของผู้เริ่มต้น” หรือ Beginner’s Mind ซึ่งเราต้องปลุกขึ้นมาใหม่

หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเบื่อเพราะเจอะเจอกับเรื่องที่รู้อยู่แล้ว ขอให้เราล้วงลึกไปค้นหาจิตใจดั้งเดิมที่เคยทึ่ง เคยตื่นเต้นกับการรู้จักมันครั้งแรก

ถ้าหาไม่เจอก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้สังเกตและสงสัยว่าทำไมเราเบื่อ ทำไมจึงชินชากับเรื่องที่เคยรู้สึกน่าพิศวงเช่นนี้

ชื่อก็บอกว่าเราจะฝึกฝนเป็น Nature Mentor “ผู้เปิดโลกธรรมชาติมหัศจรรย์” ให้แก่ผู้อื่น เราก็ต้องรู้สึกถึงความอัศจรรย์ของสรรพสิ่งจึงจะสามารถพาผู้อื่นเข้าสัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติรอบตัวได้

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เรารับมาเป็นความรู้มือสองที่เราได้จากโรงเรียนและหนังสือ เช่น การสังเคราะห์แสงของพืช การเติบโตของชีวิต การวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างพืชและสัตว์จนเกิดการปรับตัวสอดรับกายภาพและพฤติกรรมกัน บางเรื่องเราอาจตื่นเต้นในครั้งแรกที่อ่านพบ มีจิตวิญญานอาการของการค้นพบอยู่ แต่บางเรื่องเราเรียนท่องจำมาอย่างปาวๆ ไม่เคยรู้สึกว้าวด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่หากพิจารณาดีๆ มันโคตรจะน่าทึ่ง

จากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันพบว่ายาแก้อาการต่อมทึ่งตายด้านอยู่ที่การพิจารณานั่นแหละ การหยุดพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ที่เราคุ้นชินเป็นสิ่งที่มีพลังมหาศาล

ลองพิจารณาดูถึงศักยภาพของพืช มันแปรพลังงานจากแสงแดดมาเป็นพลังงานเคมีเก็บไว้ได้ ถ่ายทอดส่งต่อชีวิตอื่นๆ ได้ นี่คือนักเล่นแร่แปรธาตุตัวจริงของโลก ถึงแม้ว่าเราจะรู้เรื่องนี้ผ่านคุณครูที่โรงเรียนประถม เราไม่ได้ค้นพบมันเอง แต่เราสัมผัสปรากฎการณ์นี้ได้ ตอนเด็กๆ เราเคยทำการทดลองเอากะลาไปครอบหญ้าบนสนามจนใบมันเหลืองเกือบตาย เราทำสวน เราสังเกตรูปแบบการงอกงามของใบไม้ในป่า เราตระหนักได้ว่าการสังเคราะห์แสงเป็นกระบวนการสุดวิเศษ

แค่เริ่มเขียนถึงต้นไม้ก็สะกิดให้พิจารณาต่อไปสู่ความวิเศษด้านอื่นๆ อีกมากมายของพวกมัน การนั่งพิจารณาทำให้เราไม่เพียงแต่รู้ข้อมูล แต่ช่วยให้เรารู้สึกถึงความอัศจรรย์ของข้อมูลนั้น มันมีชีวิตขึ้นมาในทันที

และเมื่อประกอบการพิจารณานั้นไปกับการพินิจ สังเกตดูรายละเอียด จะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในครั้งนี้ที่ต่างไปจากครั้งก่อน ใบไม้ใบใหม่ม้วนคลี่ออกมาสวัสดี เรายิ่งรู้สึกถึงความสดใหม่ เป็นความชื่นใจที่ความรู้เก่ามีบทบาทเสริมให้เกิดความยินดี

ความยินดีนั้นเปิดหน้าต่างในหัวใจเรา ให้เราอ้ารับพลังชีวิตของสรรพสิ่งรอบตัว โยงใยต่อกัน

มันคือภาวะของเพลง Morning has broken ของ Cat Stevens เมื่อเรารู้สึกถึงเช้าวันใหม่เสมือนเช้าวันแรกของชีวิต นกร้องเสมือนเพลงนกเพลงแรกที่ได้ยิน ธรรมชาติทุกอณูทุกมิติน่าอัศจรรย์เสมอ

การนั่งพิจารณาปรากฎการณ์ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จึงสามารถนำพาเราไปสู่ความรู้สึกละเอียดอ่อนทางจิตวิญญานได้ เป็นหนทางของเนิร์ด และนักชีววิทยาเก่งๆ ทั่วโลกที่ฉันได้สัมผัสมักเป็นคนที่มีหัวใจพิศวงดั่งคนที่รู้สึกว้าวเป็นครั้งแรก

ธรรมชาติมีความสดใหม่เสมอ แม้ว่าเราอาจสืบสาวความเก่าแก่ของโมเลกุลตรงหน้าไปได้ถึงวินาทีที่เกิดบิ๊กแบงก็ตาม

          “เพียงเราพิจารณาและอนุญาตให้ใจได้รู้สึก”


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, สิงหาคม 2561

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share