in on February 10, 2018

ประชาชนนั้นโดดเดี่ยว

read |

Views

เมื่อวันพุธ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปร่วมออกรายการสถานีประชาชนของไทยพีบีเอส กับเครือข่ายชุมชนซอยย่านพญาไทผู้ประสบปัญหาผลกระทบจากคอนโดจำนวนมากกว่า 20 หลัง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐร่วมรายการ

ปัญหาที่ชุมชนเขตพญาไทเจอนับเป็นปัญหาคลาสสิคที่ทุกชุมชนซอยเจอ และออกจะเข้มข้นเป็นพิเศษเพราะซอยขนาดเล็กเชื่อมต่อกันเยอะ จำนวนคอนโดหนาแน่น กระทบบ้านเดิมหลายร้อยหลังคาเรือน ตั้งแต่บ้านพังถึงขั้นต้องรื้อทิ้ง ไหนจะรถติดวินาศสันตะโร น้ำท่วมผิดปกติเมื่อคอนโดสูงพากันระบายน้ำออกมา ไหนจะความร้อนระอุที่เพิ่มขึ้นจากมวลคอนกรีต ฯลฯ หลายคอนโดขนาดใหญ่โตเทียบกับขนาดถนนเล็กแคบ จนสงสัยว่าทำไมจึงอนุญาตให้สร้างได้

มันเป็นปัญหาทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นกลางกรุงทั่วไปหมด สมควรหยิบยกมาเป็นวาระปัญหาแห่งเมือง ทางชุมชนพญาไท ภายใต้นาม “กลุ่มอนุรักษ์พญาไท” จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบปรากฎการณ์นี้อย่างจริงจัง

ดิฉันไปร่วมรายการในฐานะตัวแทนชุมชนสุขุมวิท 28-30 ผู้รับผลกระทบจากคอนโดเช่นกัน

ทั้งย่านพญาไทและย่านสุขุมวิทอยู่ในโซนผังเมืองสีน้ำตาล คือโซนที่กำหนดให้เป็นเขตอยู่อาศัยหนาแน่น ดิฉันก็บอกว่าเราเข้าใจเจตนาของโซนสีน้ำตาล ว่าต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองกระชับ (compact city) ใช้พื้นที่และทรัพยากรจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความกระชับจะต้องไม่อึดอัดอุดตัน โครงสร้างเมืองและสาธารณูปโภครองรับได้ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทั้งชาวบ้านผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมและชาวคอนโดผู้มาใหม่

นั้นหมายความว่าอาคารใหญ่และคอนโดทั้งหลายต้องไม่โยนปัญหาออกมาข้างนอก

แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย

เราพยายามพึ่งพากฎหมาย แต่ก็พบข้อจำกัดหลายประการ เป็นต้นว่า นิยามกฎหมายไม่ชัดเจน กฎหมายระบุความกว้างของ “เขตทาง” แทนพื้นผิวจราจร ซอยที่มีพื้นถนนแค่สองเลนรวม 4.5 เมตร แต่มีพื้นที่สีเขียวปลูกต้นไม้ใหญ่ริมทางอย่างซอยบ้านเรา ก็ถูกตีความว่า “เขตทาง” กว้าง 12 เมตร สร้างคอนโดยักษ์ได้ เมื่อรถติดแล้วโวย ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูก “ปรับปรุง” ซอย อาจเกิดการตัดต้นไม้ขยายถนนให้รถอยู่แทนคนในชุมชน ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในซอยหลายซอย

และที่เจอกันบ่อยคือการเล่นกลเลี่ยงกฎหมายซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะร่นห่างจากถนนกับความสูงของอาคาร ที่ชุมชนเราเจอคือโครงการซื้อที่ดินแปลงใหญ่ระหว่างสองซอย เขายึดซอยที่มีเขตทางกว้าง 12 เมตรเป็นที่ตั้งโครงการ ถอยตัวอาคารออกไปจนสามารถทำความสูงที่ต้องการได้ แต่ก็ทำให้ตัวอาคารตั้งใกล้ไปยังด้านซอยอีกซอยที่แคบไม่ถึง 8 เมตร ตามกฎหมายถนนแคบขนาดนี้สร้างอาคารสูงใหญ่ไม่ได้ เขาก็ใช้วิธีเฉือนที่ดินด้านซอยแคบออกจากที่ดินโครงการเป็นแนวเส้นก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ กว้าง 5 เมตร เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่โครงการไม่ได้อยู่ติดซอยฝั่งนั้น

ดิฉันก็ออกจะงงว่าทำได้อย่างไร เมื่อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าความสูงและระยะห่างต้องสัมพันธ์กับถนนสาธารณะที่ใกล้ที่สุด ไม่ได้ระบุว่าที่ดินโครงการต้องอยู่ติดกับถนนนั้นสักหน่อย

แต่ปรากฎว่าเมื่อมีโครงการหนึ่งทำแบบนี้ แล้วยกพื้นที่เส้นก๋วยเตี๋ยวให้เป็นพื้นที่สาธารณะแก่กทม. เขาก็สร้างตึกสูงเย้ยกฎหมายข้อนี้ได้

พอทำได้รายหนึ่งก็ทำกันใหญ่จนกลายเป็นการปฏิบัติปกติ

ก็งงว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยปละละเลยเออออห่อหมกอนุญาตไปได้ ทางผู้ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ดูแต่ข้อมูลบนแผ่นกระดาษ ซึ่งไม่แสดงบริบทของสถานที่จริง เห็นแต่แบบอาคารติดกับถนนเดียวที่ยึดเป็นแผนที่โครงการ แลดูดีงามตามกฎหมาย

แต่เรื่องที่ต้องขบคิดกันไม่ได้มีอยู่แค่นั้น นอกจากเราจะมีปัญหากับการปฏิบัติใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว กฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ ความจำเป็นในการควบคุมและบรรเทาอุณหภูมิเมือง การคุ้มครองอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ การเพิ่มศักยภาพการดูดซึมน้ำลงดินเพื่อรักษาระดับมวลน้ำใต้ดินไม่ให้ดินทรุด การคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำและบริการนิเวศในเมือง ฯลฯ อีกมากมาย

ซ้ำร้าย ร่างพรบ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านครม.ไป กลับลดหย่อนความสำคัญของ EIA ภายใต้พรบ.นี้ผู้ประกอบการสามารถทำโคลนนิ่ง EIA โครงการเก่าที่ผ่านการเห็นชอบแล้วได้ ถ้าคิดจะทำโครงการขนาดเดียวกันอีกบนพื้นที่เดิม ก็ทำได้โลดเลย จึงไม่มีการคำนึงถึงความสามารถของพื้นที่ที่จะรองรับปัญหาผลกระทบที่จะสะสม แถมถ้าเป็นโครงการที่รัฐมองว่าเร่งด่วน ก็อนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมๆ กับการศึกษา EIA

เช่นนั้นแล้ว EIA จะมีความหมายอะไร? ปัญหาที่ประชาชนต้องรับอยู่แล้วจะทวีมากยิ่งขึ้น

ทายสิว่าตัวแทนภาครัฐที่มาร่วมรายการตอบเราว่าอย่างไร?

เขาพูดว่ามันไม่มีปัญหา แล้วก็ร่ายระเบียบขั้นตอนต่างๆ ให้ฟัง แถมอธิบายบทบาทของ EIA แบบเสี้ยวกระผีกเดียว ไม่ครบถ้วนกระบวนงาน เหมือนว่ามันเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติดำเนินงานธุรกิจเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว

พิธีกรก็พยายามชี้แจงว่า แต่ในความเป็นจริงมันเกิดปัญหามากมายอย่างที่ประชาชนเหล่านี้ประสบมา เขาก็บ่ายเบี่ยงต่อไป

ดิฉันอยากจะสรุปชัดๆ อย่างนี้ — ประชาชนธรรมดาอย่างเราโดดเดี่ยวมากๆ ไม่มีใครคุ้มครองดูแลเราตามหน้าที่อย่างจริงจัง แม้ว่าเราจะจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้เขาดูแลประโยชน์สาธารณะให้เราก็ตาม ทุกคนในวงการอหังสาริมทรัพย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน รู้รายละเอียดทางหนีทีไล่กฎหมายข้อบังคับดีกว่าเรา ผู้รับจ้างโครงการต่างๆ มุ่งช่วยเหลือนายจ้างให้หลีกเลี่ยงกฎหมายได้ ทราบมาว่าสถาปนิกบางบริษัทมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในการคิดค้นหาวิธีศรีธนญชัย เช่นการแบ่งที่ดินเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เล่ามา จนเจ้าของโครงการต่างๆ ก็อยากจะจัดจ้าง หลายคนไม่โกงไม่คด แต่ไม่มีวันออกมาพูดถึงสิ่งที่รู้เห็น เพราะจะกลายเป็นแกะดำ ทุกคนมุ่งทำมาหากิน ไม่มีใครสนใจผลกระทบต่อพวกเรา

ไม่ได้พูดให้ท้อ แต่มันเป็นสถานการณ์จริงที่เราต้องยอมรับ แล้วรวมตัวกันสู้

เรามีเพียงกันและกันเท่านั้น อย่าหวังพึ่งพาใครอื่นเลย


กรุงเทพธุรกิจ, ธันวาคม 2560

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share