in on December 13, 2017

สาหร่ายแดงลดโลกร้อน…ความหวังของคนกินเนื้อและนม

read |

Views

ความนิยมในการบริโภคเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นหนึ่งความท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะรู้ทั้งรู้ว่าวัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปฏิเสธเมนูเนื้อวัวที่แสนเย้ายวน ยังไม่รวมนม เนย และไอศกรีมหวานมันสุดอร่อย แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าบางทีคำตอบของการเลี้ยงวัวแบบรักษ์โลกอาจมีอยู่จริง เป็นคำตอบที่ซ่อนอยู่ในสาหร่ายสีแดงที่ชื่อ Asparagopsis taxiformis 

วัวกลายเป็นผู้ร้ายในปัญหาโลกร้อนก็เพราะวัวนับเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถ้าเทียบกันตัวต่อตัวในปริมาณเท่ากันแล้วมีอานุภาพรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ถึง 30เท่า จะว่าไปการปล่อยก๊าซมีเทนด้วยการตดหรือการเรอก็ไม่ใช่ความผิดของวัวที่แต่เป็นลักษณะทางชีววิทยาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับบรรดาสัตว์เคี้ยวเอื้อง สัตว์ที่กินหญ้าและอาหารที่มีเซลลูโลสเป็นองค์กระกอบสูงจำเป็นต้องพึ่งแบคทีเรียในกระเพาะอาหารช่วยย่อยในกระบวนการหมักที่เรียกว่า enteric fermentation ผลผลิตของกระบวนการย่อยอาหารของวัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์

เพราะฉะนั้นวัวจึงต้องเรอและผายลมเพื่อระบายก๊าซออกทั้งวัน ประมาณ 90% เป็นการเรอ ที่เหลืออีก 10% เป็นตด วัวตัวหนึ่งปล่อยก๊าซมีเทนออกมาถึง 200-500 ลิตรต่อวัน คราวนี้ลองคูณกับจำนวนวัวที่มีมากกว่า 1.5 พันล้านตัวทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าการทำปศุสัตว์ทั่วโลกทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด

เมื่อรวมๆกันแล้วปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำปศุสัตว์จึงสูงกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของรถยนต์และเครื่องบินรวมกันทั้งหมดเสียอีกนี่จึงเป็นที่มาว่าถ้าอยากจะช่วยลดโลกร้อนให้ลดการบริโภคเนื้อวัว

แม้สัตว์เคี้ยงเอื้องอื่นๆ เช่นแกะ แพะ ควาย ต่างก็ผลิตก๊าซมีเทนเช่นกัน แต่วัวก็ยังนับว่าเป็นตัวการหลัก โดยปล่อยก๊าซมีเทนคิดเป็น 65% จากกิจกรรมปศุสัตว์ทั้งหมด เมื่อเร็วๆ นี้ เคน คัลไดรา นักวิจัยจากภาควิชานิเวศวิทยาโลก คณะวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันคาร์เนกี้ ได้คำนวณว่าการกินเนื้อ 1 ปอนด์ ทำให้เกิดปรากฎการณ์โลกร้อนมากกว่าการใช้น้ำมัน 1 แกลลอนเสียอีก เฉพาะร้านแม็คโดนัลด์ในสหรัฐอเมริกาใช้เนื้อมากถึงปีละ 1 พันล้านปอนด์ลองคิดดูว่าผลกระทบในการสร้างเรือนกระจกจากปศุสัตว์นั้นมากมายมหาศาลขนาดไหน

ทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือเลิกเลี้ยงวัว และเลิกบริโภคเนื้อวัว เมื่อไม่นานมานี้ กิดอน อีเชล ศาสตร์จารย์ด้านฟิสิกส์สิ่งแวดล้อมแห่งวิทยาลัยบาร์ดในนิวยอร์ก คำนวณว่าถ้าคนอเมริกัน 1 คนเลิกกินเนื้อวัว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้เท่ากับการเผาทิ้งน้ำมัน 61 แกลลอน หรือถ่านหิน 580 ปอนด์และจะยิ่งดีขึ้นไปอีกถ้าเลือกกินมังสวิรัติ งดเนย นมไปเลย เพราะวัวนมนอกจากจะปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าวัวเนื้อแล้ว ในสหรัฐอเมริกาวัวนมยังมีจำนวนมากกว่าวัวเนื้อถึง 10 เท่า

การทำให้คนทุกคนหันไปกินมังสวิรัติย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และคงจะง่ายกว่ามากหากเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการผสมสาหร่ายในอาหารสัตว์

การค้นพบที่น่าตื่นเต้นครั้งนี้ เป็นผลงานวิจัยของ โรเบิร์ต คินลีย์ นักวิทยาศาสตร์จาก CSIRO ในออสเตรเลีย และร็อคกี เดอ นีส์ ศาสตราจารย์ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊กในออสเตรเลีย ซึ่งได้ทำการทดลองผสมสาหร่ายชนิดต่างๆกว่า 20 ชนิดลงในกระเพาะวัวจำลองในขวดแก้ว กระเพาะวัวจำลองนี้มีจุลชีพนานาชนิดเหมือนในกระเพาะวัวจริงๆ การทำเช่นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักได้อย่างแม่นยำ  ผลปรากฎว่าในขวดที่มีสาหร่ายแดง Asparagopsis taxiformis ที่ร็อคดี เดอ นีส์ บรรยายว่าโดดเด่นที่สุดในบบรรดาสาหร่ายที่ทดสอบทั้งหมด สามารถลดการเกิดก๊าซมีเทนได้มากเกือบทั้งหมด หรือลดลงร้อยละ 99

การทดลองในแกะก็ได้ผลคล้ายกันในกรณีที่ผสมสาหร่ายแดง Asparagopsis taxiformis ในอาหารสัตว์ด้วยสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ2 ปรากฎว่าการปล่อยก๊าซมีเทนลดลงไปถึงร้อยละ70 คุณแค่ใช้สาหร่ายโรยหน้า เหมือนเหยาะพริกไทยเครื่องเทศบนอาหารศาสตร์จารย์เดอนีส์กล่าวด้วยความภูมิใจ

สาหร่าย Asparagopsis มีประสิทธิภาพอย่างมากเพราะพวกมันมีสารเคมีที่ชื่อว่าโบรโมฟอร์ม (bromoform – CHBr3) ซึ่งทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ของจุลชีพที่เป็นตัวการสร้างก๊าซมีเทนการที่สัตว์ปล่อยมีเทนออกมานั้นไม่เพียงส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังเป็นการเสียพลังงานไปอย่างเปล่าประโยชน์แทนที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหารได้มากขึ้น

การทดลองผสมสาหร่ายในอาหารสัตว์ที่แคนาดาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสังเกตวัวที่เลี้ยงอยู่ริมทะเลซึ่งมีโอกาสได้กินสาหร่ายที่ถูกพายุซัดขึ้นมาบนฝั่งเป็นระยะๆนอกจากวัวเหล่านี้จะสุขภาพดีกว่าแล้วยังตัวใหญ่กว่าวัวที่เลี้ยงที่อื่นอีกด้วยหมายความว่าถ้าวัวปล่อยก๊าซมีเทนน้อยลงก็จะยิ่งเป็นวัวที่มีเนื้อมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสาหร่ายทะเลอาจยังไม่ใช่ทางออกสำเร็จรูปในการแก้ปัญหาก๊าซมีเทนมหาศาลในชั้นบรรยากาศ เพราะความจริงที่ว่าเรายังผลิตสาหร่ายได้ไม่เพียงพอ นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า เราต้องใช้พื้นที่มากถึง 37,500 ไร่ในการทำฟาร์มสาหร่ายให้ได้ปริมาณมากพอต่อวัว 2.9 ล้านตัว หรือเพียงร้อยละ 10  ของวัวเกือบ 30 ล้านตัวที่มีอยู่ในออสเตรเลีย  ถ้าจะต้องผลิตสาหร่ายให้เพียงพอต่อวัว 92 ล้านตัวในอเมริกา เราต้องมีพื้นที่มากกว่านี้ถึง 30 เท่าหรือมากกว่าแม้การเพาะสาหร่ายกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่มาแรงแต่สำหรับสาหร่ายทะเลชนิดนี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนอุปสรรคสำคัญอีกอย่างคือการขนส่งเพราะการทำปศุสัตว์ส่วนมากมักอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลชายฝั่ง

ถ้าเราพิจารณากฎหมายหลายฉบับในปัจจุบันจะเห็นว่าต่างพุ่งเป้าการลดก๊าซมีเทนจากภาคปศุสัตว์ ตัวอย่างเช่นแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงวัวให้ได้20% ภายในปีค..2020 ส่วนผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียเองก็ประกาศว่าควรจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมวัวที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนมากๆ

บางทีเทคโนโลยีลดก๊าซมีเทนที่มีประสิทธิภาพที่สุดอาจซ่อนตัวอยู่ในสาหร่ายแดง Asparagopsis taxiformis นี่เอง


เอกสารอ้างอิง

Kinley, R.D. & Fredeen, A.H. (2015) J Appl Phycol 27: 2387. https://doi.org/10.1007/s10811-014-0487-z

Kinley, R.D. & Fredeen, A.H. 2016 The red macroalgae Asparagopsis taxiformis is a potent natural antimethanogenic that reduces methane production during in vitro fermentation with rumen fluid.

Seaweed-fed cows could solve livestock industry’s methane problems http://www.abc.net.au/news/rural/2017-04-21/seaweed-fed-cows-could-solve-livestock-methane-problems/8460512

เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share