ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Lichen

ไลเคน (Lichen) คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกันระหว่างรา (fungi) หนึ่งชนิดกับสาหร่าย (algae) หนึ่งชนิด โดยความหลากหลายของไลเคนขึ้นอยู่กับชนิดของราเป็นสำคัญ  ราที่ก่อให้เกิดไลเคนมีประมาณ 13,500 ชนิด ส่วนสาหร่ายมีประมาณ 100 ชนิด 40 สกุล  ทั้งสองพึ่งพาในลักษณะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  เส้นใยราช่วยรักษาความชื้นและห่อหุ้มเซลล์สาหร่ายเพื่อปกป้องไม่ให้แห้งหรือ เป็นอันตราย  ส่วนสาหร่ายก็ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้าง อาหารให้กับราเป็นการตอบแทน

ในประเทศไทยพบไลเคนจำนวน 1,700 ชนิด จากทั่วโลกซึ่งพบไลเคนแล้วประมาณ 13,500 ชนิด  แต่คาดว่าทั้งหมดอาจมีกว่า 30,000 ชนิด  ไลเคนสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า “แผ่นใบ” หรือ แทลลัส (thallus) ได้แก่

1. กลุ่มเป็นดวงหรือเป็นฝุ่นผง (crustose)  ลักษณะเป็นวงติดกับวัตถุที่ยึดติด จนดูคล้ายกับว่าไลเคนกับวัตถุเป็นเนื้อเดียวกัน
2. กลุ่มใบ (foliose) ลักษณะคล้ายใบไม้ มีผิวสองด้าน  ด้านบนสัมผัสอากาศ ด้านล่างมีส่วนที่คล้ายราก แต่เกิดจากเส้นใยของรา เรียกว่า รากเทียม (rhizine) ใช้เกาะกับวัตถุ
3. กลุ่มเป็นพุ่ม หรือเป็นเส้นสาย (fruticose) ลักษณะเป็นพุ่ม แตกกิ่งเล็กๆ มีโคนต้นเล็กๆ ไว้ยึดเกาะกับวัตถุ
4. กลุ่มสะแควมูโลส (squamulose) มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ คล้ายเกล็ดปลา

เรา จะสามารถพบไลเคนได้เกือบทุกแห่งในโลก ทั้งที่แห้งแล้งอย่างทะเลทราย และที่ชุ่มชื้นอย่างริมแม่น้ำ  ทั้งบนวัตถุจากธรรมชาติอย่างก้อนหิน ต้นไม้ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างเสาปูน รั้วบ้าน  โดยบริเวณนั้นจะต้องมีความเหมาะสมต่อการเติบโตของไลเคน เช่น ไม่มีมลพิษทางอากาศ มีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย มีความชื้นมากพอที่ไลเคนจะเติบโตได้ ได้รับสารอาหารจากอากาศเพียงพอ และมีความเป็นกรด-ด่างอย่างเหมาะสม

เราสามารถพิสูจน์ดวงด่างที่อยู่บน ต้นไม้ว่าเป็นไลเคนหรือไม่ โดยการใช้ปลายเล็บขูดเบาๆ แล้วใช้น้ำแตะที่รอยขูด  ถ้าเกิดเป็นรอยสีเขียวหรือเหลือง นั่นคือสาหร่ายที่อยู่ภายในไลเคน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อมันถูกน้ำ  แสดงว่าดวงด่างนั้นเป็นไลเคน

ไลเคนกับคุณภาพอากาศ
แม้เราจะไม่สามารถเห็นถึงความเข้มข้นในแต่ละระดับของมลพิษทางอากาศได้ด้วยตา เปล่า แต่เราสามารถสังเกตคุณภาพอากาศผ่านการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตรอบบริเวณ นั้นๆ อย่างเช่นไลเคน

ไลเคนส่วนใหญ่ไม่สามารถทนต่อสารจากมลพิษทาง อากาศได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และโลหะหนัก  ดังนั้นเราจึงแทบจะไม่พบไลเคนประเภทต่างๆ ในที่อากาศเสีย หรือถ้าพบก็จะอยู่ในลักษณะไม่สมบูรณ์  ธรรมชาติของไลเคนจะเจริญเติบโตโดยการรับน้ำและสารอาหารที่ละลายอยู่ในฝนหมอก และน้ำค้างเข้าสู่แผ่นใบโดยตรง  ผิวของไลเคนไม่มีชั้นคิวติเคิล (cuticle) ที่มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งเคลือบป้องกันอยู่  ถ้าอากาศมีมลพิษ สารพิษจึงเข้าถึงไลเคนเพื่อทำอันตรายได้โดยตรง  อีกทั้งไลเคนไม่มีการผลัดใบ ต่างจากพืชทั่วไป ไลเคนจึงสะสมสารพิษเอาไว้จนป่วยและตายไป

ทั้งนี้ไลเคนแต่ละชนิดทนทานต่อมลพิษในอากาศได้ไม่เท่ากัน การสำรวจสังคมของไลเคนจึงสามารถบ่งชี้คุณภาพอากาศบริเวณรอบๆ ได้