in Wild Watch on December 22, 2016

ตรวจสุขภาพป่ากลางกรุง: Bangkok Wild Watch 2016

read |

Views

ถึงวันหยุดทีไรหลายคนจัดกระเป๋าออกไปหาธรรมชาติ จนบางทีก็อาจลืมว่ายังมีสิ่งมีชีวิตมากมายซ่อนตัวหายใจอยู่ใกล้ๆ เรา เมื่อชุมชนใหญ่กำลังเปลี่ยนไปเป็นเมือง การหายไปของสิ่งชีวิตที่หลากหลายใกล้ตัวอาจหมายถึงชีพจรเมืองที่เต้นเบาลงเรื่อยๆ

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิโลกสีเขียวเเละองค์กรต่างๆ กว่า 10 องค์กร ได้เเก่ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.), สวนสาธารณะสวนลุมพินี, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เเห่งชาติ (อพวช.), สำนักอนุรักษ์เเละวิจัยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์, สำหอพรรณไม้ กรมอุทยานเเห่งชาติสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช, มูลนิธิสวนหลวง ร.9, หน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำเเหง, สมาคมอนุรักษ์นกเเละธรรมชาติเเห่งประเทศไทย, กลุ่ม Ecoliteracy & ConservationinAction (ECA) ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเเละสิ่งเเวดล้อม (Siamensis’org), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละชมรมรักษ์ผีเสื้อ พร้อมกับเหล่าอาสาสมัครกว่า 200 ชีวิต ร่วมสำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวงเพื่อตรวจสุขภาพกรุงเทพ ในงาน “Bangkok wild watch 2016 @ Limpini – สำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวง” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว มีมูลนิธิโลกสีเขียวเเละแม่งานใหญ่ ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ชูธงนำคนเมืองออกมาสำรวจสิ่งมีชีวิตใจกลางกรุงเทพ

การสำรวจครั้งนี้เเบ่งกลุ่มสำรวจออกเป็น 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสำรวจนก กลุ่มสำรวจพรรณไม้ กลุ่มสำรวจเเพลงก์ตอน กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลานเเละสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กลุ่มสำรวจสัตว์หมวด ก. (กระรอก กระเเต) กลุ่มสำรวจไลเคน และกลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมง เเมลงอื่นๆ เเละกลุ่มสำรวจสัตว์หน้าดิน ร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 2 ชั่วโมง พบ 155 ชนิด เเบ่งเป็นสำรวจกลุ่มสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดังนี้

กลุ่มสำรวจนก พบนก 27 ชนิด เเบ่งเป็นนกประจำถิ่น 18 ชนิด เเละนกอพยพฤดูหนาว 9 ชนิด นกส่วนใหญ่พบได้ทั่วไป เช่น นกเอี้ยงสาริกา นกเอี้ยงด่าง นกเขาใหญ่ นกตีทอง เป็นต้น สามารถจัดเป็นกลุ่มได้โดยเเบ่งตามอาหารที่กิน คือ กินพืช กินเเมลง หากินตามพื้น หากินบนต้นไม้ รวมถึงหากินบนฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณสวนลุมยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีอาหารเพียงพอสำหรับเป็นแหล่งอาศัยเเละพักพิงของนกหลากหลายประเภท ทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ

กลุ่มสำรวจพรรณพืช พบพืช 30 ชนิด พืชที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่มเเละไม้ผล เเบ่งเป็นพืชท้องถิ่น เช่น โพทะเล สำโรง กร่าง กระท้อน เเก้ว ทำปาเทศ มะกอกน้ำ เป็นต้น เเละพืชต่างถิ่น เช่น มะขาม มะขามเทศ โพธิ์ศรี จามจุรี เป็นต้น ไม้ผลส่วนใหญ่เป็นอาหารให้สัตว์นานาชนิดเเละไม้ยืนต้นส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยที่อาศัยหลบภัยให้กับสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ

กลุ่มสำรวจสัตว์หมวด ก. (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม) พบ 4 ชนิด ได้เเก่ สุนัข เเมว กระรอก บทบาทของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น กระรอกเป็นสัตว์เมืองที่ปรับตัวได้ดีมาก กินอาหารได้หลากหลายจึงเจอกระรอกได้ทั่วไปเป็นนักล่าเมล็ดพืช เช่น หูกวาง มะขาม หางนกยูงฝรั่ง ช่วยกระจายพันธุ์พืชไปในที่ต่างๆ ส่วนสุนัข แมว ก็มีบทบาทในการจำกัดสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น หนู

กลุ่มสำรวจผีเสื้อ เเมลง เเมง พบทั้งหมด 30 ชนิด กลุ่มเเมลงเเละเเมงเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก ดังนั้นจะพบได้ทั่วไป เช่น ผีเสื้อ เพลี้ย มด ผึ้น ต่อ เเตน เเมลงปอ ด้วง เเมงมุม เป็นต้น การสำรวจครั้งนี้เจอเเมลงในกลุ่มที่ไม่ชอบอยู่ในบริเวณที่ใช้สารเคมีนั่นก็คือ เพลี้ยกระโดดเเละเพลี้ยจั๊กจั่น นอกจากนั้นในบิเวณสวนลุ่มยังพบสัตว์พวกมดเป็นจำนวนมาก ได้เเก่ มดกระโดดบ้าน มดปุยฝ้ายขาเเดง มดเเดง มดก้นหัวใจ มดตะนอยอกส้ม มดหนามคู่สีเทา มดรำคาญขายาว เป็นกลุ่มของผู้ย่อยสลายเป็นลำดับต้นๆ ที่ช่วยย่อยซากสิ่งมีชีวิตที่เน่าเปื่อยให้มีขนาดเล็กลง เเละเเน่นอนที่สุดคือพวกผีเสื้อก็ช่วยผสมเกสรให้กับพันธุ์พืชชนิดต่างๆ

กลุ่มสำรวจไลเคน จากการสำรวจบริเวณใจกลางสวนลุมพบไลเคน 11 ชนิด เเบ่งเป็นไลเคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทนทานมลพิษสูง พบ 5 ชนิด ได้เเก่ ไฝพระอินทร์ ใบมอมเเมม ร้อยรู หัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำเเข็ง เเละสิวหัวช้าง ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มทนทานมลพิษปานกลาง พบ 6 ชนิด ได้เเก่ ริ้วเเพร ลายเส้น ร้อยเหรียญ ธิดามะกอกดำ หลังตุ๊กเเก เเละไหทองโรยขมิ้น เมื่อนำข้อมูลมารวมกับการสำรวจในวันก่อนที่จะจัดกิจกรรมสำรวจฯ (ทีมมูลนิธิโลกสีเขียวได้มาสำรวจไลเคนบางส่วนเเล้ว) ผลปรากฏว่าบริเวณติดกับถนนเเยกราชดำริ – ถนนสารสิน บริเวณ ร.ร.ลุมพินี  – ถนนวิทยุ เเละบริเวณถนนพระราม 4 พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษปานกลางมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษสูง เเละบริเวณด้านลานพระบรมรูป ร.6 พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูงมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษปานกลางเเสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศบริเวณดังกล่าวอยู่ในระดับ “เเย่ถึงเเย่มาก” เนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนใหญ่ ส่วนบริเวณพื้นที่กลางสวนลุม (สำรวจในงาน Bangkok wild watch 2016 ) พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษปานกลางมากกว่าไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูงคุณภาพอากาศจึงอยู่ในระดับ “พอใช้” หากเปรียบเทียบกับผลการสำรวจไลเคนในสวนลุมเมื่อปี 2557 เเละปี 2558 ผลอยู่ในเกณฑ์ที่เเย่ลง

กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำ พบสัตว์น้ำ 19 ชนิด ซึ่งความหลากหลายค่อนข้างมาก โดยสำรวจพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปลากินยุง ปลาคาร์ฟ ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกยักษ์ ปลาหมอฟลามิงโก้ เป็นต้น จากการสำรวจพบปลาขนาดเล็กอย่างพวกปลาบู่ใส ปลาเข็ม ซึ่งอยู่ในเเหล่งน้ำคุณภาพปานกลาง เเละพบปลากินยุง ที่อยู่รวมเป็นฝูงกินลูกน้ำยุงเป็นอาหารอยู่ในน้ำเสีย จึงพอสรุปได้ว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างเเย่

กลุ่มสำรวจเเพลงก์ตอน พบทั้งหมด 16 ชนิด เเบ่งเป็นเเพลงก์ตอนพืช 7 ชนิด เเละเเพลงก์ตอนสัตว์ 9 ชนิด เเพลงก์ตอนพืชบางชนิดพบว่ามีจำนวนมาก เช่น Phacus sp. ซึ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำในบ่อน้ำในสวนลุมมีสารอาหารมาเกินไป นอกจากนั้นพบ Ceratium sp. มีจำนวนมากเป็นพิเศษ ทำให้น้ำบริเวณที่พบเเพลงก์ดังกล่าวมีความเป็นพิษสูงเเละอาจทำให้สัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลา อยู่ไม่ได้ ส่วนเเพลงก์ตอนสัตว์พบในปริมาณมาก ได้เเก่ Keratella sp. เนื่องจากเข้ามากินเเพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มจำนวนเเละอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงพบเเพลงก์ตอนพืชจำนวนน้อย ดังนั้นจึงพอสรุปได้คร่าวๆ ถึงคุณภาพของน้ำในบ่อน้ำในสวนลุมมีคุณปานกลางจนถึงค่อนข้างเเย่ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มสำรวจสัตว์น้ำ

กลุ่มสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน พบ 7 ชนิด ได้เเก่ เหี้ย จิ้งจกดิน เต่านา เต่าบัว ตุ๊กเเก งูเขียวพระอินทร์ เเละพบชนิดพันธุ์ต่าวถิ่น คือ เต่าเเก้มเเดง ในปีนี้มีการสำรวจจำนวนเหี้ยเป็นพิเศษพบทั้งหมด 21 ตัว สามารถเเบ่งได้ 2 ช่วงอายุ คือ ตัวเต็มวัย 10 ตัว เเละวัยเด็ก 11 ตัว เหี้ยช่วยกำจัดของเน่าเสียอย่างพวกปลาและสัตว์อื่นที่ตายในบริเวณสวนสาธารณะ นอกจากนั้นยังเป็นการป้องกันการระบาดของโรคที่มาจากสัตว์ที่ตายอีกด้วย

กลุ่มสำรวจสัตว์หน้าดิน พบสัตว์หน้าดินพวกหอย ไส้เดือน ตะขาบเเละกิ้งกือ 12 ชนิด เช่น หอยข้าวสาร ไส้เดือนเเดงเล็ก ตะขาบตาบอด กิ้งกือกระบอกเล็ก เป็นต้น การสำรวจพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือ หอยทากยักษ์แอฟริกันเเละไส้เดือนบราซิล การพบสัตว์หน้าดินเหล่านี้เป็นการบอกถึงสุขภาพของดินที่อยู่ในบริเวณนั้น เนื่องสัตว์ในกลุ่มนี้เป็นช่วยย่อยสลายซากพืชเเละสัตว์ให้เปื่อยจนเป็นอาหารให้กับต้นไม้ทั้งยังทำให้ดินมีความร่วนเหมาะสมกันการเจริญเติบโตของต้นพืช

การสำรวจครั้งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เราได้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่รอบๆ ตัวเราบ้าง เเล้วยังเป็นการตรวจสุขภาพของป่าใจกลางเมืองอย่างสวนสาธารณะที่เป็นเเหล่งอาศัยเเละหากินของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ถ้าความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากก็อาจหมายถึงว่าสิ่งเเวดล้อมรอบๆ ดี ถ้าสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ได้ ชีวิตเราก็อยู่ได้เช่นกัน

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share