in Wild Watch on December 19, 2012

Bangkok Wild Watch 2012 : สำรวจชีวิตที่สวนลุมฯ สุขภาพยังดีอยู่หรือไม่

read |

Views

กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่แหล่งชอปปิ้ง ตึกรามอาคาร สถานบันเทิง ผู้คน และรถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอีกหลากหลายที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่แห่งนี้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 มูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้แก่ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, กลุ่ม Siamensis, กลุ่มครอบครัวควบกล้ำธรรมชาติ พร้อมกับเหล่าอาสาสมัคร กว่า 150 ชีวิต จับมือกันสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในสวนลุมพินี เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นเสมือนปอดของเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนบ้านและที่หลบภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่พบเห็นนี้บอกอะไรกับเราบ้าง และสุขภาพของพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร

ในการสำรวจครั้งนี้ แบ่งกลุ่มสำรวจสิ่งมีชีวิตออกเป็น 8 ประเภท ประกอบด้วย กลุ่มสำรวจนกและพรรณไม้ กลุ่มสำรวจไลเคน กลุ่มสำรวจปลาน้ำจืด กลุ่มสำรวจแพลงก์ตอน กลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมลง แมง กลุ่มสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน และกลุ่มสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยผลการสำรวจพบว่า

กลุ่มสำรวจนกและพรรณไม้ พบนก 37 ชนิด มีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ รวมทั้งหมด 1,217 ตัว นกที่พบมากที่สุดคือ นกแอ่นตาล รองลงมาคือ อีกา นกแอ่นบ้าน และพิราบป่า ตามลำดับ ส่วนนกที่พบน้อยที่สุดคือ นกกระเต็นหัวดำ

ทั้งนี้นกที่พบเป็นนกที่อยู่อาศัยทั้งในระดับพื้นหญ้า ระดับป่าละเมาะ กลางต้นไม้ ไปจนถึงเรือนยอดของต้นไม้ และที่บินในท้องฟ้า นั่นหมายถึงสวนลุมมีความเหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของนกในระดับหนึ่ง เพราะมีนกหลากหลายชนิดมาอยู่อาศัยในทุกระดับ เพียงแต่พบนกที่กินลูกไม้น้อย ซึ่งในธรรมชาติทำหน้าที่ขยายพันธุ์พืช โดยสาเหตุที่พบน้อยอาจเป็นเพราะสวนลุมมีต้นไม้ที่มีลูกไม้น้อย ขณะเดียวกันก็พบนกที่หากินในระดับพื้นหญ้ามาก ซึ่งเป็นนกกินแมลงหรือกินหนอนที่อยู่ตามใบไม้ โดยนกประเภทนี้จะทำหน้าที่ควบคุมประชากรแมลงและหนอนไม่ให้มีมากเกินไปในธรรมชาติ

หากมองภาพรวมของกรุงเทพฯ สาเหตุที่นกหายไป ไม่ใช่เพราะมีการล่านกอย่างรุนแรง แต่เป็นเพราะพื้นที่เกษตรกรรมหายไป บวกกับมีการใช้สารเคมีเกษตร ดังนั้นสวนสาธารณะจึงบริเวณที่นกได้เข้ามาอยู่อาศัย ไม่ใช่แต่เฉพาะคนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ การพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีหย่อมป่ากระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองได้

กลุ่มสำรวจไลเคน พบไลเคน 12 ชนิด เป็นไลเคนชนิดที่ทนทานมลพิษ และทนทานมลพิษสูง โดยบริเวณรอบนอกของสวนลุมใกล้ถนนใหญ่ พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูงมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “แย่ถึงแย่มาก” ส่วนบริเวณพื้นที่กลางสวนลุม พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษมากกว่าไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูง แสดงว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “พอใช้”

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับผลการสำรวจไลเคนของมูลนิธิโลกสีเขียวเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่าคุณภาพอากาศรอบสวนลุมแย่ลง เพราะด้านบริเวณลานพระบรมรูปฯ จากเดิมที่เคยพบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้พบเพียงกลุ่มทนทานมลพิษสูงเท่านั้น เช่นเดียวกับด้านถนนวิทยุ ที่เดิมพบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษสูง แต่ครั้งนี้กลับพบกลุ่มทนทานมลพิษสูงมีมากกว่า

กลุ่มสำรวจปลาน้ำจืด พบความหลากหลายค่อนข้างน้อย โดยพบปลาท้องถิ่น 6 ชนิด และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) 7 ชนิด ปลาท้องถิ่นที่พบมากคือปลาตะเพียนขาว ซึ่งเป็นปลาที่ว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา จึงใช้ออกซิเจนเพื่อหายใจเยอะ ดังนั้นการพบปลาชนิดนี้มาก แสดงว่าน้ำในบริเวณสวนลุมมีคุณภาพ “ค่อนข้างดี” อย่างไรก็ตาม ไม่พบปลากริม ปลากระดี่ ซึ่งเป็นปลาที่พบเห็นได้ทั่วไปในสวนสาธารณะหลายแห่งของกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าชายน้ำมีการดาดปูนหรือตัดชันจนเกินไป ทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ตามชายน้ำไม่สามารถอยู่ได้ ส่วนปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบทั้ง 7 ชนิด คาดว่ามีผู้นำมาปล่อย

กลุ่มสำรวจแพลงก์ตอน แพลงก์ตอนพืชที่พบส่วนใหญ่เป็นแพลงก์ตอนที่พบในน้ำเสีย บ่งชี้ว่าคุณภาพน้ำในสวนลุม “ค่อนข้างแย่” ขณะที่การสำรวจแพลงก์ตอนสัตว์ พบชนิดที่สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬได้ นั่นหมายถึงว่าถ้ามีการปล่อยอินทรียสารลงในแหล่งน้ำมาก ก็มีโอกาสทำให้น้ำเน่าเสียและปลาตายได้

สำหรับสาเหตุที่ผลสำรวจคุณภาพน้ำของกลุ่มแพลงก์ตอนแตกต่างจากกลุ่มปลาน้ำจืดนั้น สันนิษฐานว่าเพราะในขณะที่ปลาว่ายน้ำ สามารถฮุบอากาศด้านบนได้ ดังนั้นถ้าคุณภาพน้ำไม่แย่จนเกินไป ปลาก็พอจะมีชีวิตอยู่รอดได้

กลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมลง แมง พบ 34 ชนิด โดยบทบาทของแมลงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยย่อยสลายในระบบนิเวศ แมลงส่วนใหญ่ที่พบคือเพลี้ยกระโดด ส่วนแมงมุมพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสวนลุมเป็นพื้นที่ค่อนข้างโล่ง หญ้าถูกตัดสม่ำเสมอ ซึ่งไม่เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของแมงมุม หากมีการจัดโซน โดยเพิ่มพื้นที่พงหรือที่รกบ้าง ก็จะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สวนลุมได้

กลุ่มสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบกระรอก 2 ชนิด กระแต 1 ชนิด และแมว ซึ่งกระรอกเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศใหม่ได้ดี รวมทั้งระบบนิเวศเมือง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด และสามารถเดินทางตามสายไฟไปที่ต่างๆ ของเมืองได้

กลุ่มสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน พบ 10 ชนิด ประชากรกลุ่มใหญ่ที่พบคือตัวเงินตัวทอง ทำหน้าที่ช่วยกำจัดของเน่าเสีย ส่วนกิ้งก่า พบเพียง 2 ชนิด ในขณะที่สวนรถไฟ เจอกิ้งก่าจำนวนมากกว่า เป็นเพราะที่สวนลุมมีแมวเยอะ ซึ่งแมวเป็นสัตว์ผู้ล่า

กลุ่มสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 4 ชนิด ได้แก่ กบหนอง คางคกบ้าน งูเขียวพระอินทร์ และเต่าแก้มแดง ซึ่งเต่าแก้มแดงจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หากมองในภาพรวม สาเหตุที่พบสัตว์กลุ่มนี้ไม่มากนัก อาจเพราะเป็นการสำรวจตอนกลางวัน อีกทั้งสระน้ำที่สวนลุมมีลักษณะเป็นขอบปูน ซึ่งไม่เหมาะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์กลุ่มนี้

ภายหลังการสำรวจในวันนั้น ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวว่า การสำรวจสิ่งมีชีวิตนอกจากบ่งบอกคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสวนสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งธนาคารพันธุกรรมในเมือง และช่วยค้ำจุนชีวิตของคนเมือง

“เราต้องการสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดเพื่อพยุงชีวิตของเรา สร้างความสมดุลให้กับชีวิตของเรา เช่นช่วยควบคุมแมลง ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ดังนั้นการพัฒนาจึงต้องเป็นการพัฒนาที่สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดอนาคตของเรา”

“สำหรับในพื้นที่สวนลุม เรายังมีปัญหาเรื่องเอเลี่ยนสปีชีส์ รวมทั้งเรายังจำเป็นต้องปรับปรุงบ้านของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะริมแหล่งน้ำต่างๆ ที่น่าจะปรับปรุงให้มีพืชพง มีระนาบ เพื่อให้มีแมลง มีปลาเล็กปลาน้อย มีสัตว์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แล้วอาจมองต่อไปว่าเราน่าจะปรับบริเวณบ้านของเรา และถนนหนทางของเราให้มีลักษณะร่มรื่น เป็นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ เพื่อให้พวกมันอยู่ได้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ด้วย” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share