in on December 9, 2018

ป้ายดีปหมดอายุ

read |

Views

“ดีปปี้” คือสรรพนามสั้นๆ ที่บางครั้งใช้เรียกสายนิเวศวิทยาเชิงลึกหรือแนว deep ecology ในยุคฮิปปี้เบ่งบาน พวกเขามีคู่ต่างที่ถูกให้ชื่อเป็นขั้วตรงข้ามว่า shallow ecology หรือนิเวศวิทยาสายตื้นเขิน

อ๊ะ มีว่าคนอื่นตื้น หมั่นไส้ขึ้นมาล่ะสิ — ก็มาชวนให้สำรวจความหมั่นไส้นี่แหละ

ดีปปี้มีความหมายและความเข้มข้นแตกออกไปในกลุ่มต่างๆ แต่หลักๆ คือมุมมองว่าทุกชีวิตทุกสายพันธุ์มีคุณค่าในตัวมันเอง ไม่ใช่ทรัพยากรที่มีค่าตามประโยชน์ที่มอบแก่มนุษย์ และมนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสัมพันธ์โยงใยในโลกทั้งใบ ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล

31081438_10156633012792214_703070319400714240_n

ดีปปี้จึงมองว่าหากจะแก้ปัญหาการทำลายล้างธรรมชาติ เราต้องแก้ที่ต้นตอ คือทัศนคติและจริยธรรมในสังคมมนุษย์ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมบริโภคนิยมและการลดประชากรมนุษย์

แต่เดิม ในยุค 60 เมื่อนิยามกันใหม่ๆ ดีปปี้จึงมาในแนวปฏิเสธเทคโนโลยี และมองว่ากลุ่มคนที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางเทคนิค จะด้วยเทคโนโลยีหรือการจัดการที่มุ่งบรรเทาผลกระทบจากกิจกรรมและการบริโภคทรัพยากรของมนุษย์เป็นพวกตื้นเขิน แก้ปัญหาเพียงผิวๆ ไม่ถึงรากถึงโคน เหมือนเอาพลาสเตอร์แปะแผลไปวันๆ

ถ้าใช้สายตาของคนยุคราว ค.ศ. 2020 ของเราตัดสินฮิปปี้ดีปปี้ มันก็ง่ายที่จะส่ายหน้ากลอกลูกตากับการปฏิเสธเทคโนโลยีของพวกดีปปี้ อะไรมันจะใจแคบขนาดน้าน ปัญหาไม่ได้ขาวดำ ถนนไม่ได้มีเพียงสองทางให้เดิน

แต่เทคโนโลยีที่เบ่งบูมในยุคนั้นมักเป็นแนวทำลายล้าง เอาชนะต้านธรรมชาติ ระเบิดภูเขาขุดเจาะชั้นธรณีสกัดวัตถุดิบ สร้างมลภาวะ มหาปลัยนิวเคลียร์ กั้นแม่น้ำจนระบบนิเวศยับเยิน ได้อย่างเสียอย่าง ฝ่ายหนึ่งได้เงินและความสะดวกสบาย ฝ่ายหนึ่งเสียสุขภาพ ถิ่นฐาน และวิถีชีวิต แม้ว่าการติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียที่ปลายท่อจะสำคัญ แต่ดีปปี้มองว่ามันแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเราต้องไม่ทำน้ำเสียตั้งแต่ต้นด้วยความเคารพธรรมชาติ (คงหมายถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม ไม่ใช่อึคน)

เราต้องไม่ลืมว่า ดีปปี้ยุคฮิปปี้ยังไม่เห็นความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในการเขย่าโลกไปในทางที่พลิกวิถีความเป็นอยู่ใหม่ในสังคมมนุษย์ ถึงขั้นที่เปลี่ยนโครงสร้างสังคมและกระบวนการผลิต อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีชีวลอกเลียนและเทคเขียวอื่นๆ ยังไม่ปรากฎตัว ก็พอเข้าใจที่มาของแนวคิดนั้นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเหล่านี้ผุดขึ้นมาสู่กระแสหลัก ดีปปี้ก็ไม่อิน ต่อให้เริ่มมองเห็นบทบาทของเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาให้เป็นมิตรสนิทแนบกับธรรมชาติได้ในอนาคต ดีปปี้ก็คงมองว่าปัญหารากฐานอยู่ที่ความโลภและการไม่เคารพธรรมชาติ

คงไม่มีใครเถียง ปัญหาในสังคมเกิดจากกิเสศมนุษย์แน่แท้ทรู แต่นี่เราจะแก้ปัญหาไม่ได้จนกว่าทุกคนจะบรรลุธรรมกันหมดหรืออย่างไร?

คุณค่าที่เป็นแก่นใจของดีปปี้เป็นคุณค่าร่วมที่ฉันก็รับทอดมาจากแม่และใช้นำทางชีวิต ชีวิตร่วมโลกและบ้านของมันไม่เคยเป็นเพียง “สิ่ง” แวดล้อมรายรอบตัวคน หรือเป็นเพียงทรัพย์สินให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ และฉันก็รู้จักคนอีกไม่น้อยที่ถือคุณค่าเดียวกัน แต่ละคนมีพรสวรรค์ต่างกัน บางคนเก่งสื่อสาร บางคนเก่งการเงิน บางคนเก่งดีไซน์และเทคโนโลยี เขาใช้พรสวรรค์ของตัวเองทำในสิ่งที่ทำได้ดี มองเห็นภาพใหญ่คล้ายกัน แต่จับจิ๊กซอว์คนละชิ้นมาต่อกัน

ถ้าดีปปี้ไว้วางใจในความสัมพันธ์สลับซับซ้อนของโลกนางกาย่าจริง ดีปปี้ก็ต้องเห็นคุณค่าของพรสวรรค์และจริตที่แตกต่างในมวลมนุษย์ คนปลูกผักเกษตรธรรมชาติไม่ได้มีจิตวิญญานลึกล้ำกว่าคนสร้างรหัสอัลกอริธั่ม ปัญหาของดีปปี้จึงไม่ใช่การเลือกที่จะปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะถ้ามันเป็นทางเลือกส่วนตัว แต่เป็นการติดป้ายชื่อว่าข้าลึก แกตื้นเขิน

กาลเวลาเปลี่ยนไป เชื่อว่าในวันนี้ดีปปี้ส่วนใหญ่ก็น้อมรับเทคโนโลยีที่อยู่ในครรลองของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่คงมุ่งประเด็นไปที่ทัศนคติและจริยธรรมต่อโลกธรรมชาติ

สายดีปปี้ในเมืองไทยเท่าที่เห็นจะเน้นไปทางจิตวิญญานกับธรรมชาติ ไม่ได้ดูถูกดูแคลนใคร แต่ก็แปลกที่ไม่มุ่งไปสู่การเปิดโลกกว้างสู่ปัญญาที่หลากหลายในธรรมชาติ

ปัญญาธรรมชาติของดีปปี้ไทยเป็นปัญญาณานที่ดิ่งลงไปทางจิตวิทยา เป็นปัญญาของธรรมชาติภายในจิตมนุษย์ พวกเขาพาตัวเองไปอยู่เงียบๆ ท่ามกลางป่าเขา เผจิญหน้ากับภาวะภายในที่เกิดขึ้นและให้พลังธรรมชาติคลี่คลายปมที่ขมวดไว้ออกมา ได้เยียวยาตนเอง

เป็นต้นว่า เมื่ออยู่ตามลำพังกลางป่าก็อาจจะกลัว กลัวผี กลัวงู ก็เผชิญกับความกลัวนั้นในทางของตนเอง ในความสันโดษ ต่างคนต่างค้นพบความรี้ลับที่ซุกซ่อนในหลืบลึกของหัวใจ

ในบางจังหวะที่คลี่คลาย เขาก็สัมผัสรับรู้ถึงสภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

นับเป็นการปฏิบัติธรรมแนวหนึ่งที่ใช้ธรรมชาติเกื้อหนุน

แต่แปลกที่ดีปปี้ไทยไม่มีความสนใจใคร่รู้ใคร่เห็นในโลกของชีวิตอื่น ทฤษฎีกาย่าเป็นสิ่งที่อ่านมา ไม่ใช่สัมผัสด้วยประสบการณ์ตรง ฉันไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องมีความสนใจแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็น่าตั้งคำถามสักนิดว่ามันพอเพียงไหมที่เราจะฟินธรรมในจิตใจ แต่ความเข้าใจรับรู้โลกธรรมชาติของเรายังเวียนว่ายอยู่กับจักรวาลที่หมุนรอบตัวเราเอง ไม่ได้ขยายโลกที่รับรู้ออกไปสู่มุมมองของชีวิตอื่น

ดื่มด่ำธรรมชาติเสร็จ ก็กลับออกไปสร้างฝายทำลายลำธารตามกระแสทำความดีซีเอสอาร์ ด้วยความไม่เข้าใจในธรรมชาติของระบบนิเวศต่อไป ชวนกันปฏิบัติการสมาธิเซน เก็บหินในลำธารมาตั้งโด่เด่เต็มลำน้ำ ไม่เฉลียวใจว่าหินมีบทบาทอย่างไรในสายน้ำ ไม่ได้สังเกตเลยว่ามีสัตว์ตัวเล็กๆ เกาะอาศัยอยู่ จับบ้านมันมาตั้งจนมันแห้งตายในอากาศ ไม่ได้รับรู้ว่าพวกมันเป็นอาหารพื้นฐานของชุมชนสัตว์น้ำไปสู่ชุมชนสัตว์บนบก

ในการเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่เติบโตไปกับชีวิตอื่นๆ เราไม่จำเป็นต้องเหวี่ยงขั้ว จากการเน้นแต่ข้อมูลจนสมองโต แต่หัวใจฟีบ ไปสู่หัวใจพองบาน แต่หัวตีบ

สิ่งที่ดีปปี้ทำมีความสำคัญและดีงาม แต่ได้โปรดหักป้ายดีปอีโคทิ้งไปเถอะ ยุคฮิปปี้ปะทะระหว่างสองขั้วมันผ่านพ้นไปแล้ว

ลึกของเราเองอย่างเดียวไม่พอ ต้องกว้างด้วย


กรุงเทพธุรกิจ, ธันวาคม 2561

อ้างอิง
  1. ภาพปกจาก : https://desafiojoven.com
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share