in on February 13, 2019

ฝุ่นจิ๋วกับการป้องกันที่ปลายจมูก

read |

Views

ฉันนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ในวันที่สถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในกรุงเทพเริ่มคลี่คลาย ผู้ว่ากรุงเทพมหานครแถลงข่าวว่า “ผมเชื่อว่าธรรมชาติเข้าข้างผม” เพราะมีลมช่วยพัดพาฝุ่นจิ๋วไป

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ขอนแก่นและโคราชมีปริมาณฝุ่นจิ๋วติดอันดับสูงสุดของประเทศ และถูกแทนที่โดยจังหวัดแพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ในวันต่อๆ มา ระหว่างนั้นเพื่อนๆ ของฉันต่างประกาศหาซื้อหน้ากากกันฝุ่นจิ๋วและเครื่องฟอกอากาศกันจ้าละหวั่น บรรยากาศตื่นตระหนกมิต่างกับที่คนกรุงเทพประสบตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่อนชาวกรุงของฉันลงทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศมูลค่ากว่าหมื่นบาทและเครื่องวัดฝุ่นจิ๋วแบบพกพาราคาประมาณสองพันบาท  ซึ่งท่ามกลางความตื่นตระหนกและตื่นตัว เงินไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่งเพราะสินค้าขาดตลาด

ในห้วงเวลาเดียวกัน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าเผยแพร่แบบจำลองการเคลื่อนไหวของฝุ่นจิ๋วจากจุดกำเนิดมุมหนึ่งของโลกเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ทั่วโลก เป็นการตอกย้ำว่าฝุ่นจิ๋วเคลื่อนที่แบบไร้พรมแดนและเป็นปัญหาสากล ดูแล้วตื่นเต้นและน่ากลัวไปพร้อมกัน


ภาพจาก: https://board.postjung.com/934650

วิกฤติฝุ่นจิ๋วที่ปกคลุมกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ในปีนี้ทำให้คนไทยทั้งตระหนกและตระหนักถึงภัยอันตรายกันถ้วนหน้า และเนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศไทยถูกจู่โจมจากฝุ่นจิ๋วเป็นวงกว้าง จากปกติวิกฤติฝุ่นจิ๋วครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ จึงเป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่มาตรการรับมือส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการเฉพาะหน้าแบบนักผจญเพลิง อะไรที่ฉวยได้ก็หยิบมาใช้ เข้าทำนองดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำฝนเทียมหรือการฉีดน้ำ

หากวงจรธรรมชาติและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ดูเหมือนปีหน้าเราจะเผชิญหน้ากับวิกฤติฝุ่นจิ๋วอีกครั้ง และหากภาครัฐไทยรู้จักใช้โอกาสในวิกฤติแทนการเชื่อโชคลางหรือรอธรรมชาติเข้าข้าง  เราควรมีมาตรการเชิงรุกที่วัดผลได้เพื่อป้องกันการก่อมลพิษฝุ่นจิ๋วที่จุดกำเนิดแทนการป้องกันที่ปลายจมูกซึ่งทำให้คนไทยเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการซื้อเครื่องป้องกันที่ปลายจมูกและการรักษาความเจ็บป่วยจากฝุ่น

เช่นเดียวกับที่ประเทศแห่งมลพิษอย่างจีนเคยทำให้เห็นมาแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ช่วงฤดูหนาวของทุกปี โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ชาวจีนนับพันล้านคนควรมีโอกาสเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในที่โล่งแจ้ง เด็กเล็กและคนชราในเมืองหลวงปักกิ่งกลับต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเรือน เพราะปริมาณฝุ่นจิ๋วเกินมาตรฐานความปลอดภัยทางสุขภาพ

ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสุขภาพของทุกผู้ทุกคน หากไม่มีการจัดการอาจบานปลายกลายเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศได้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เคอเฉียง จึงประกาศทำสงครามกับมลพิษต่อหน้าสมาชิกพรรคสภาประชาชนแห่งชาติจำนวนสามพันคน โดยบอกว่า “หมอกควันเป็นเหมือนสัญญาณไฟแดงของธรรมชาติที่เตือนให้เห็นถึงการพัฒนาที่มืดบอดและไร้ประสิทธิภาพ”

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 กระทรวงปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศจีนร่างแผนปฏิบัติการให้โรงงานใน 28 เมืองลดกำลังการผลิตในช่วงฤดูหนาว โดยโรงงานผลิตเหล็กกำลังการผลิตลดลง 50 เปอร์เซนต์ และโรงงานอลูมิเนียมลดกำลังการผลิตลง 30 เปอร์เซนต์  รวมทั้งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในท่าเรืออันดับหนึ่งของประเทศ ปิดโรงงานผลิตปุ๋ยและผลิตยาในปักกิ่ง หยุดการขนส่งถ่านหินที่ท่าเรือเทียนจิน ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและนำเข้าถ่านหินมากถึง 17 เปอร์เซนต์ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ และห้ามรถบรรทุกขนถ่านหินจากสถานีรถไฟไปยังท่าเรือหูเป่ย ตั้งแต่เดือนกันยายนของปีเดียวกัน

มาตรการและการบังคับใช้ที่เข้มงวดทำให้ปีต่อมาชาวปักกิ่งและชาวเมืองอุตสาหกรรมโดยรอบได้เห็นท้องฟ้าสีฟ้าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นับเป็นของขวัญปีใหม่อันล้ำค่า ทางการจีนเปิดเผยว่าในปีพ.ศ.2561 ปริมาณฝุ่นจิ๋วในปักกิ่งและเมืองอุตสาหกรรมโดยรอบลดลง 12 เปอร์เซนต์ และแต่ละปีเมืองต่างๆ มีพันธกิจลดปริมาณฝุ่นจิ๋ว 3 เปอร์เซนต์จากตัวเลขปีก่อนหน้า


ภาพจาก: https://board.postjung.com/934650

อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายนปริมาณฝุ่นจิ๋วในปักกิ่งกลับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 61 เปอร์เซนต์ เนื่องจากโรงงานต่างๆ ละเมิดคำสั่ง ส่วนเดือนมกราคมปีนี้ มลพิษทางอากาศในเมืองหลักทางเหนือของประเทศจำนวน 39 เมืองมีฝุ่นจิ๋วเพิ่มขึ้น 16 % บางแห่งพุ่งขึ้นถึง 114 ไมโครกรัม สูงกว่ามาตรฐานของประเทศที่ 35 ไมโครกรัม เกือบ 3 เท่าตัว เฉพาะ 11 เดือนของปีที่แล้วมีการปรับผู้ละเมิดคำสั่งเป็นเงินรวม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.4 หมื่นล้านบาท และออกหมายเตือน 1.6 แสนครั้ง และทางการจีนให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะทำให้อากาศดีหวนกลับมาอีกครั้ง

บทเรียนจากประเทศจีนทำให้รู้ว่าการกำหนดแผนและมาตรการควบคุมที่วัดผลได้และการบังคับใช้ที่เข้มงวดคือตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวที่ต้องมี และหากล้มเหลวก็เริ่มต้นใหม่ แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังไร้มาตรการระยะยาวใดๆ จึงควรเร่งกำหนดตัวชี้วัดเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่จะได้มีการวัดผลกันในปีหน้า มิใช่ปล่อยให้ฤดูหนาวของทุกปีผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย

จาก: https://www.treehugger.com/environmental-policy/watch-pollution-move-around-world-video.html
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share