โครงการปั่นเมือง : Share the Road  แบ่งปันถนนร่วมกัน  (ปี 2556) มูลนิธิโลกสีเขียว

สภาพจราจรติดขัดและอากาศเป็นพิษนับเป็นปัญหาใหญ่สุดของกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ เดินทางกันวันละ 18 ล้านเที่ยว โดยการสัญจรถึงร้อยละ 96.5 อาศัยการขับเคลื่อนบนผิวถนน  ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอซซิลคิดเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวถึงร้อยละ 45  ส่วนพาหนะที่คนกรุงเทพฯ ใช้กันมากรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 40 คือรถเมล์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเลนวิ่งของตัวเอง ทำให้บริการไม่ได้สะดวกผู้ใช้ถนนที่เหลือ ได้แก่ มอเตอร์ไซต์ (10%) และแท๊กซี่ (1.5%)นอกจากนี้ยังมีจักรยานและรถเข็นซึ่งไม่มีการเก็บสถิติแต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนใช้จักรยานบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ส่วนเรือและระบบรางลอยฟ้าและใต้ดินคิดรวมกันเป็นเพียงร้อยละ 3.5 ของเที่ยวเดินทางในกรุง

พาหนะบนดินทั้งหมดและคนเดิน ต้องแบ่งปันกันใช้พื้นที่ถนนที่มีอยู่จำกัดในเมือง แต่ในปัจจุบัน ทั้งนโยบายรัฐและสังคมโดยรวมยังคงมองว่าถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์เท่านั้น พาหนะอื่นเป็นเพียงผู้ขอเข้ามาใช้ ทัศนคติที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่รถยนต์เป็นรากปัญหาของการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และภัยอันตรายบนท้องถนน ทำให้ยากแก่พาหนะอื่นๆ ที่เป็นมิตรแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์จะสามารถแทรกเข้ามาได้

บทเรียนจากทั่วโลกล้วนแสดงให้เห็นว่าสังคมจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้หากเราจะทำให้ถนนปลอดภัยขึ้นสำหรับทุกคน และขับเคลื่อนสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่มุ่งขนคนแทนขนรถยนต์ ให้ความสำคัญแก่ขนส่งมวลชน จักรยาน และคนเดิน เหนือรถยนต์ส่วนตัว อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ พื้นฐานของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เริ่มที่การมองเห็นสิทธิในการใช้ถนนของกันและกัน

โครงการ “ปั่นเมือง : Share the Road  แบ่งปันถนนร่วมกัน” จึงเล็งเห็นว่าการรณรงค์ให้สังคมรู้จักใช้ถนนร่วมกัน(share the road campaign)จะช่วยสร้างความตระหนักที่จำเป็นบนท้องถนน โดยให้เริ่มที่การแบ่งปันถนนร่วมกับจักรยาน เพื่อให้มีจุดรวมกระตุ้นความสนใจ และเพราะจักรยานเป็นพาหนะ “ล่องหน” (invisible) ที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด แต่กำลังเริ่มได้รับความสนใจ และปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน การรณรงค์จะช่วยให้การใช้จักรยานในเมืองปลอดภัยขึ้น ทั้งสำหรับคนใช้จักรยาน คนขับรถ และคนเดิน จากการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ จำนวน 4,333 คนในปี พ.ศ.2554 มูลนิธิฯ พบว่าร้อยละ 86 แสดงความประสงค์จะใช้จักรยานหากสามารถปั่นได้ปลอดภัย ความตระหนักต่อจักรยานที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนนจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานได้มากขึ้นในเมือง และในลักษณะที่ทำให้ผู้ใช้ถนนส่วนใหญ่ยอมรับจักรยาน

แนวทางการรณรงค์สามารถทำได้หลายทาง แต่สื่อที่เผยแพร่ได้ง่ายในวงกว้างและมีศักยภาพในการสื่อสารกับสังคมยุคใหม่ได้ดี คือสื่อวิดีโอขนาดสั้น  ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อวิดีโอสามารถเชื่อมโยงกับจริตที่หลากหลายในสังคม และเพิ่มโอกาสในการประชาสัมพันธ์ได้มาก โครงการ “ปั่นเมือง : Share the Road  แบ่งปันถนนร่วมกัน” จึงคิดจัดเทศกาลหนังสั้น “ปั่นเมือง” (Punmuang Short Film Festival : Share the Road) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้ผู้สนใจส่งแนวคิดเข้ามาประกวดวิดีโอภายใต้ธีม “แบ่งปันถนนร่วมกัน” และผ่านการคัดกรองเพื่อรับการสนับสนุนในการผลิตวิดีโอ ได้รับการปรึกษาหารือกับมืออาชีพ จนเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ

เป้าประสงค์ระยะยาว 

ยกระดับการพัฒนาระบบสัญจรโดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร

จุดประสงค์เฉพาะหน้า

เพื่อให้สังคมเกิดทัศนคติที่ดีต่อจักรยาน และเกิดความตระหนักต่อแนวทางการใช้ถนนร่วมกับจักรยานอย่างปลอดภัย โดยสื่อสารผ่านสื่อวิดีโอหนังสั้นจำนวน 10 เรื่อง ซึ่งผลิตจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนที่หลากหลายในสังคม

กลุ่มเป้าหมายหลัก

นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจสื่อสารประเด็นการแบ่งปันถนนผ่านสื่อหนังสั้น

กลุ่มเป้าหมายรอง

ประชาชนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนในเมือง

ผลผลิต (outputs)

วิดีโอความยาวไม่เกิน10 นาทีจำนวน 10 เรื่องส่งสารการแบ่งถนนร่วมกัน ถูกผลิตและได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ

แผนการดำเนินกิจกรรม

  1. ประชาสัมพันธ์ เปิดรับสมัครทั้งส่วนบุคคลทั่วไป และนักศึกษา ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์, รายการโทรทัศน์ และประชาสัมพันธ์ตรงไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งคณะที่เกี่ยวข้อง และส่วนกลางของมหาวิทยาลัยโดยกำหนดว่า รับสมัครผู้ประกวดผลิตหนังสั้นไม่เกิน 10 นาที โดยกำหนดให้ผู้สมัคร 1 ทีมไม่เกิน 3 คน และต้องสามารถเข้าร่วมประชุม Workshop กับโครงการได้
  2. จัดประชุม Workshop ผู้สมัครทั้งหมด 1 วันโดยมีการให้ content ที่ชัดเจนในประเด็นการรณรงค์ที่เราต้องการ จัดให้ผู้สมัครได้รับประสบการณ์ตรงกับการขี่จักรยานบนถนนในเมือง และเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับด้าน production / การเล่าเรื่องด้วยสื่อวิดีโอ การพัฒนาบท
  3. รับโครงเรื่อง Treatment จากผู้เข้าประกวดทั้งหมดให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคงเหลือประเภทบุคคลทั่วไป 5 เรื่อง ประเภทนักศึกษา 5 เรื่อง รวมทั้งหมด 10 เรื่อง เพื่อรับทุนการผลิตเรื่องละ 30,000 บาท และรับการแนะนำจากทีมที่ปรึกษา (coach) อย่างเข้มข้น ได้แก่ Bike Finder, Bicycle Diary, Hot Short Film โดยให้คำปรึกษาเพื่อช่วยดูแลให้งานออกมาอย่างสมบูรณ์ สามารถสื่อประเด็นที่เราต้องการรณรงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ทีมที่ได้รับการคัดเลือกผลิตผลงาน กำหนดให้ใช้เวลาประมาณ 3-4 อาทิตย์
  5. คณะกรรมการตัดสินให้รางวัล โดยกำหนดให้มี 2 รางวัล รางวัลยอดเยี่ยม และรองอันดับ 1 ของแต่ละประเภท
  6. จัดงานแสดงผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งหมด 10 เรื่อง 1 วัน
  7. ผลงานที่ได้รับรางวัลจะเผยแพร่ออกอากาศทาง ThaiPBS และผ่านทางรายการของเคเบิ้ลทีวีที่สนใจ

ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ

การตอบสนองของสื่อมวลชน จำนวนและปฏิกิริยาคนดูบนสื่ออินเตอร์เน็ต

คำสำคัญ

จักรยาน, พาหนะสัญจรอย่างยั่งยืน, รณรงค์การใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย, Share the Road, แบ่งปันถนนร่วมกัน, หนังสั้นปั่นเมือง


ผลการดำเนินการ

  1. ประชาสัมพันธ์ โครงการฯได้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ติดโปสเตอร์ตามร้านจักรยาน และประชาสัมพันธ์ตรงไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งคณะที่เกี่ยวข้อง และส่วนกลางของมหาวิทยาลัยและขอความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ผลิตรายการจักรยานให้ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ โครงการฯ ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง จนมียอดผู้สมัครสูงถึง 221 ทีม
  2. จัดประชุม Workshop ผู้สมัครทั้งหมด โครงการได้จัดให้มีการบรรยาย เสวนา เพื่อให้เนื้อหาประเด็นการรณรงค์ การเล่าเรื่องด้วยสื่อวิดีโอ การพัฒนาบทและสร้างประสบการณ์การขี่จักรยานบนท้องถนนในเมือง โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัทโค แวน เคสเซ่ล บางกอก ทัวร์ จำกัด ให้ยืมจักรยานกว่า 100 คัน มีผู้มาเข้าร่วมทั้งหมด 138 ทีม
  3. รับโครงเรื่อง Treatment จากผู้เข้าประกวด มีผู้สมัครส่งโครงเรื่องทั้งหมด 97 เรื่อง/ทีม โครงการฯ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงเรื่องจนเหลือ 5 ทีมสำหรับประเภทบุคคลทั่วไปและ 5 ทีมสำหรับประเภทนักเรียน นักศึกษา และได้นัดหมายให้ทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบได้รับการแนะนำจากทีมที่ปรึกษา (coach)และรับทุนการผลิตเรื่องละ 30,000 บาท
  4. ทีมที่ได้รับการคัดเลือกผลิตผลงาน ให้เวลาผลิดหนังประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่เมษายน – พฤษภาคม 2556 โดยมีทีมที่ปรึกษาช่วยแนะนำ แต่มีผู้สมัครบางทีม ไม่สามารถผลิตหนังสั้นจนสำเร็จได้ จึงทำให้มีผลงานหนังสั้นเหลือเพียง 9 เรื่อง
  5. คณะกรรมการตัดสินให้รางวัล โครงการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการภาพยนตร์ โทรทัศน์ นิตยสาร รวม 5 ท่านมาร่วมกันตัดสินผลรางวัลหนังสั้นทั้ง 9 เรื่อง จนแล้วเสร็จ มีหนังสั้นได้รับรางวัล 4 เรื่อง เป็นรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลรองชนะเลิศ อย่างละ 2 รางวัล แบ่งตามประเภทการประกวด
  6. จัดงานแสดงผลงานที่ผ่านการคัดเลือก โครงการฯ ได้จัดงาน “ฉายหนังสั้นปั่นเมือง” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2556 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปค่อนข้างดีแม้มีข้อจำกัดด้านสถานที่ มีสื่อมวลชน และประชาชน มาร่วมงานกว่า 300 คน
  7. การเผยแพร่ผลงานหนังสั้นออกอากาศ ได้รับการเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อาทิ ThaiPBS , @DESIGN Channel และ PPTV นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อจากกลุ่มชมรม องค์กรต่างๆ เพื่อขอเผยแพร่ผลงานอยู่เสมอ อาทิ ชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะกรรมการจัดงานบางกอกคาร์ฟรีเดย์ 2013 เป็นต้น
  8. ทั้งนี้ อีกช่องทางหนึ่งที่โครงการได้เผยแพร่ผลงานหนังสั้นไปแล้วคือ ช่องทางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โครงการฯ ได้อัพโหลดหนังสั้นทั้ง 9 เรื่องขึ้นเว็บไซต์ www.youtube.com ในช่องของมูลนิธิโลกสีเขียว (Greenworldonline) โดยประชาชนทั่วไปสามารถรับชมผ่านทาง www.youtube.com/greenworldonline ทั้งนี้มียอดผู้เข้าชมจำนวนมากและส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตอบรับที่ดี

ผลอื่นๆ ที่ได้นอกเหนือจากเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้

โครงการหนังสั้นปั่นเมืองครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลากหลาย ทั้งนิตยสาร รายการโทรทัศน์ รายการจากสถานีเคเบิ้ลทีวี และสถานีทางเลือกมากกว่าที่คาดหมาย มีการร้องขอเพื่อนำหนังสั้นที่ผ่านการประกวดไปออกอากาศ ร่วมถึงการสัมภาษณ์พูดคุยกับทีมงานผู้ผลิตหนังสั้น ทำให้ข่าวของการจัดงานหนังสั้นปั่นเมืองแพร่ขยายในแวดวงคนทำหนัง และสังคมคนขี่จักรยานเป็นวงกว้าง

หนังสั้นทั้ง 9 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทนักศึกษา 4 เรื่อง และประเภทบุคคลทั่วไป 5 เรื่อง มีรายละเอียดดังนี้

ประเภทนักศึกษา ได้แก่

  1. แค่ข้าม ทีมปล่อยพลัง
    ผู้ผลิต : นายเพ็ชรสยาม พรหมงอย / นางสาววาสนา โตเจริญ / นายทศพร เลิศศิลปาชัย
  2. LIFT ทีมเฟี้ยว
    ผู้ผลิต : นายไท ประดิษฐเกษร
  3. Cycle of the Memories ทีม SHUFFLE
    ผู้ผลิต : นายธนโชติ กรนิธิกุล /  นายอัชฌาวุฒิ เจนอนุศาสตร์
  4. จักรยานสีชมพู ทีม Smile Film
    ผู้ผลิต : นายสุกรี  ดือราแม / นายสุภาษิต คำมานิตย์ / นายมะฮัมดี  แวหะมะ

ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่

  1. ซอยวัดใจ ทีมชีวิตหลังเลิกงาน
    ผู้ผลิต : นายสุทธิ บุญมนัส / นายศนิพงศ์ สุทธิพันธุ์  / นายสุรวุฒิ พิพัฒรัตนะ
  2. เปลี่ยน ทีม Film RUN
    ผู้ผลิต : นายกวินท์ ดำรงค์ศักดิ์  / นางสาวอัญญาณีย์ วิภาครัตกุล / นายธันย์ธนัช รัตนพันธุ์
  3. รักต้องปั่น ทีมจุงเบยซุเกะ
    ผู้ผลิต : นายธนารักษ์ กรเพชรปาณี / นายวศิน โพธิเกษม / นายจิระวัชร์  เชื้อสุข
  4. perception ทีม PERCEPTION*
    ผู้ผลิต :  นายรัฏฐะ บูรณดิลก / นายภัทระ บูรณดิลก / นายชัยบูลย์ สัณฐิติเจริญวงศ์
  5. จัก-กะ-ยืม ทีมจินตะ3
    ผู้ผลิต :  นายปิยะ พรปัทมภิญโญ /  นายณขวัญ ศรีอรุโณทัย / นายธีรยุทธ วีระคำ

ผลการตัดสินการประกวดหนังสั้น

โครงการฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการภาพยนตร์โทรทัศน์ นิตยสาร มาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน รวม 5 ท่าน โดยมีรายชื่อดังนี้

  1. คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
  2. คุณจิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์
  3. คุณโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร GM
  4. คุณก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์
  5. คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ “นิ้วกลม” นักเขียนและพิธีกร

คณะกรรมการตัดสินได้นัดหมายประชุมเพื่อตัดสินผลรางวัลหนังสั้นทั้ง 9 เรื่อง ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2556 เวลา  9.00 น. – 13.00 น.  ณ ห้องประชุมมูลนิธิโลกสีเขียว  มีหนังสั้นได้รับรางวัล 4 เรื่อง เป็นรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลรองชนะเลิศ อย่างละ 2 รางวัล แบ่งตามประเภทการประกวด โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเภทนักศึกษา

  1. รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่เรื่อง “LIFT” ทีมเฟี้ยว
  2. รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่เรื่อง  “จักรยานสีชมพู”  ทีม Smile Film

ประเภทบุคคลทั่วไป

  1. รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่เรื่อง “perception” ทีม PERCEPTION*
  2. รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่เรื่อง “จัก-กะ-ยืม” ทีมจินตะ3

รับชมหนังสั้นทั้ง 9 เรื่อง

ภาพวิดีโอ
https://www.youtube.com/playlist?list=PLz8JaDq6Ty6yxtn2Vt_pQYBrUxnlhZO8R


-โครงการจบเเล้ว-