วิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติมีมายาวนานกว่าวิถีชีวิตที่พึ่งพิงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราเพิ่งมีวัฒนธรรมตัดขาดจากธรรมชาติมากันไม่กี่รุ่น บางวัฒนธรรมก็เป็นร้อยปี บางวัฒนธรรมก็แค่ไม่กี่สิบปี เทียบไม่ได้กับเวลานับล้านปีที่เราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีหลักฐานข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ มากขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางกายภาพของคนกับสรรพสิ่งในธรรมชาติ ตอกย้ำว่าคนเราต้องมีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและนานาชีวิตต่างสายพันธุ์ร่วมโลก หากอยากจะมีสุขภาพกายที่ดี อีกทั้งยังมีข้อมูลแสดงให้เห็นความเป็นโรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder) ของเด็กๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจของเด็กยุคใหม่ จึงยิ่งตอกย้ำความสำคัญของธรรมชาติ แม้ทุกวันนี้เราจะไม่คิดว่าเราต้องการธรรมชาติมากนัก เพราะชีวิตผู้บริโภคของเราดูเผินๆ ก็ไม่ต้องอาศัยความใส่ใจใยดีหาความรู้อะไรกับธรรมชาติมากนัก แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่ใส่ใจมันกันแล้ว เรายังมีสัญชาตญานอะไรบางอย่างที่โหยหามัน โหยหาความงามและพลังชีวิตสายพันธ์อื่นรอบตัว นักนิเวศวิทยาชื่อดัง Edward Wilson เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า biophilia หรือ “ความใฝ่หาชีวภาพ” เขาเชื่อว่าจิตของเรายังมีปฏิพัทธสัมพันธ์รักธรรมชาติ รักรูปลักษณ์และกระบวนการต่างๆ ของชีวิต ผ่านประสบการณ์วิวัฒนาการของมนุษย์ เราจึงรู้สึกเบิกบานเมื่อได้เห็นดอกไม้แย้มกลีบ รู้สึกชื่นใจเมื่อใบไม้ผลิต้นข้าวงอก บางคนตีความว่าเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญานของการผลิตอาหาร เราจึงตอบสนองเป็นบวกต่อมัน จากการเก็บสถิติของหลายสถาบัน พบว่าผู้ป่วยฟื้นตัวดีกว่าในห้องที่มีหน้าต่างวิวต้นไม้เขียวๆ คนไข้โรคจิตก็บำบัดรักษาตัวได้ดีกว่าเมื่อได้อยู่ในสวนกับต้นไม้ใหญ่ เด็กเติบโตอย่างมีพัฒนาการด้านจินตนาการ และมีพัฒนาการด้านโสตสัมผัสครบทุกด้าน

มูลนิธิโลกสีเขียว จึงได้เปิดประเด็นเพื่อเชิญชวนคนกรุงทั่วไปให้เห็นความสำคัญ ของการฟื้นฟูชีวิตป่าในเมือง (Rewilding) เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติกลับมา และเปิดเวทีแสดงข้อมูลธรรมชาติของกรุงเทพในอดีต สภาพปัจจุบัน และภาพแห่งอนาคต เพื่อช่วยมองหาอนาคตของเมืองกรุงร่วมกัน หาความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตของป่ากลางเมือง รักษาธรรมชาติดีๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองกรุง ชวนกันมองหาหนทางบรรเทาความขาดธรรมชาติของคนเมืองในปัจจุบัน หาทางออกของปัญหาสังคมต่างๆ โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานสำคัญ และเป็นก้าวง่ายๆ ที่เราเริ่มได้กับตัวเองกับลูกหลานและคนรอบตัว เพราะแค่การชวนคนออกไปสัมผัส มองเห็นชีวิตจริงๆ ในพื้นที่สีเขียวกลางเมือง ก็สามารถสร้างความประทับใจ การเรียนรู้ใหม่ๆ จากธรรมชาติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จนสุดท้ายให้ความสนใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองสู่อนาคตที่แข็งแรงสมบูรณ์ทางนิเวศและผู้คนงอกงามได้เต็มศักยภาพ