พลเมืองเปลี่ยนกรุง

พลเมืองเปลี่ยนกรุง
Active Bangkok Citizens (A.B.C.)

โดย มูลนิธิโลกสีเขียว

………………………………………….

โลกในศตวรรษที่ 21 กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ภายในครึ่งชั่วอายุคน เราเปลี่ยนจากโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จำนวนประชากรมนุษย์น้อย ไปสู่โลกที่มีทรัพยากรเหลืออยู่จำกัด แต่กลับมีจำนวนประชากรสูงมาก และทุกคนก็ต้องการความสะดวกสบายเท่าเทียมกัน ภายใต้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สะสมถึงขั้นวิกฤตและเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของคน

คำถามใหญ่คือเราจะรับมืออย่างไร เราไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ที่เป็นตัวสร้างปัญหา เราไม่สามารถใช้ทางออกเดิมๆ กับสถานการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยประสบ  และเราไม่อาจใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนเราไม่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำ  ในวันนี้ ผู้คนหลายกลุ่มทั่วโลกจึงหันมาสนใจค้นหาแนวทางหลายๆ ทาง ที่จะช่วยให้เราพัฒนาสังคมให้มีคุณลักษณะเฉกเช่นชีวิตที่ยืดหยุ่น แข็งแรงมีภูมิต้านทาน มีความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจคาดไม่ถึงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล้มทรุดหรืออย่างน้อยก็ไม่บอบช้ำจนเกินไป เรียกว่าเป็น resilient society

โจทย์นี้ท้าทายสังคมเมืองเป็นพิเศษ เพราะเมืองเป็นแหล่งที่คนเข้ามาอาศัยอยู่กันมากที่สุด และนับวันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสังคมที่มีโครงสร้างและกลไกสลับซับซ้อน ใช้ทรัพยากรมาก เมืองเปลี่ยนระบบนิเวศเดิมที่มันเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างสิ้นเชิง แปรเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ที่พึ่งพาระบบบริการที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน จนคนเมืองในปัจจุบันมีวิถีชีวิตขาดสัมพันธ์กับธรรมชาติและระบบนิเวศพื้นฐานที่เกื้อกูลชีวิตอยู่ บริการอัตโนมัติจากเทคโนโลยีที่คนเมืองพึ่งพาให้ความสะดวกสบาย เพียงกดปุ่มก็ได้ผลผลิตที่ต้องการ ทำให้เราถูกตัดขาดจากกระบวนการผลิตที่ให้บริการนั้น วิถีชีวิตเมืองจึงกลายเป็นวิถีที่เปราะบาง เพราะหากระบบต่างๆ ที่เคยพึ่งพาล่มลง จะด้วยอุบัติภัย หรือการขาดแคลนทรัพยากรหนุนระบบ หรืออะไรก็ตามแต่ เราก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เมืองเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงในการรับมือกับสถานการณ์อนาคต เพราะเมืองเป็นที่รวมคนเข้ามากระจุกกัน จึงสามารถหาทางจัดการใช้และแบ่งปันทรัพยากรกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งคนจำนวนมากที่มีความชำนาญแตกต่างกันก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญและโดดเด่นของเมือง ในการร่วมสร้างสรรค์ทางออกใหม่ๆ โอกาสในการพัฒนาเมืองที่แข็งแรงและยั่งยืน (urban resilience) จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของพลเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ  โดยจะต้องพัฒนาปัญญาเพื่อสร้างเมืองและระบบต่างๆ ในเมืองให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับธรรมชาติท้องถิ่น รู้จักดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นมิตรบริการความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็รับมือกับความแปรปรวนต่างๆ ได้ รู้จักพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและความหลากหลายในสังคม รู้จักหาทางพึ่งตนเองและทำชีวิตให้ซับซ้อนน้อยลง

โครงการ “พลเมืองเปลี่ยนกรุง” จึงมุ่งสนับสนุนคนกรุงเทพให้สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ของตนเอง ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านปฏิบัติการจริง และจากการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เพื่อให้เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตสุขภาวะที่ดี โดยเน้นพัฒนาความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวขึ้นมาใหม่ เชื้อชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยศักยภาพของตนเอง

ทั้งนี้ โครงการจะให้ความสำคัญกับการปรับวิถีชีวิตสู่สุขภาวะที่แข็งแรงขึ้น พึ่งตนเองได้มากขึ้นในระดับปัจเจกและครัวเรือน ก่อนขยายขึ้นมาในระดับกลุ่มหรือชุมชน และระดับนโยบาย โดยต่อยอดจากฐานกิจกรรมการขับเคลื่อนกรุงเทพสู่เมืองสุขภาวะ (healthy city) ของมูลนิธิโลกสีเขียวที่ดำเนินมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อาทิ การรณรงค์วิถีเมืองจักรยานผ่านปฏิบัติการเครือข่ายพลเมืองสร้างแผนที่เส้นทางจักรยานและกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเครือข่าย จนเกิดเป็นกระแสผลักดันจักรยานสัญจรในเมืองอย่างกว้างขวาง และการตรวจสอบสุขภาวะสิ่งแวดล้อมเมืองภาคประชาชน ด้วยการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการรณรงค์อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ในเมืองกับเครือข่ายประชาสังคม โดยมองเห็นว่าทั้งหมดมีความเชื่อมโยงต่อกัน จากวิถีพึ่งตนเองกับการออกกำลังกายเดินทางด้วยขาปั่น ต้องสัมผัสสภาพแวดล้อมโดยตรง สัมผัสชีวิตผู้คนอื่นในเมืองมากขึ้น จนนำไปสู่ความสนใจในการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อชีวิตมนุษย์ จึงเป็นฐานที่ดีที่จะใช้ขยายการเรียนรู้ของสังคมเมืองต่อไป