Alien Species หรือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่นั้นๆ มาก่อน แต่แพร่กระจายพันธุ์หรือถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น ซึ่งอาจเป็นการเข้ามาเองตามธรรมชาติ เช่น จากการขยายพันธุ์ หรืออาจพลัดหลงเข้ามาโดยบังเอิญ เช่น ติดมากับยานพาหนะ-รองเท้าของนักท่องเที่ยว ไปจนถึงการจงใจนำเข้ามา
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เมื่อปี 2552 ระบุว่าประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่กว่า 3,500 ชนิดโดยที่ปัจจุบันก็ยังมีการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด ด้วยหลายเหตุผล ทั้งเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยง-ขาย สร้างรายได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการนำชนิดพันธุ์จากต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร รวมถึงการนำเข้ามาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดมีสีสันสวยงาม หรือแม้กระทั่งสัตว์แปลกก็เป็นที่นิยมเลี้ยงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหลายชนิดก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบ นิเวศดั้งเดิม โดยเฉพาะหากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นสามารถแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ ซึ่งในบางชนิดแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว บางชนิดเป็นผู้ล่าที่กินสัตว์พื้นเมืองเป็นอาหาร บางชนิดเป็นผู้แข่งขัน ด้วยการแย่งที่อยู่ แย่งอาหารสัตว์พื้นเมือง จนกลายเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant Species) นอกจากนั้นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับ ชนิดพันธุ์พื้นเมือง ก็อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของยีนได้ อีกทั้งสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดยังอาจเป็นพาหะนำโรคอุบัติใหม่เข้าสู่พื้นที่ และทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์ได้ ถือเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลักษณะดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species)
สำหรับ แนวทางการรับมือปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของไทย คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกัน ควบคุม กำจัด และเฝ้าระวัง โดยมีการจำแนกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไว้ 4 ประเภท และในปี 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้จัดทำ “คู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย” ขึ้นเผยแพร่ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานและเพื่อให้ง่าย ต่อการเฝ้าระวัง โดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นทั้งสี่ประเภท ได้แก่
1.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย แล้วสามารถดำรงชีวิต สืบพันธุ์ได้ในธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant Species) และอาจมีผลทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ ทั้งยังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วในประเทศไทย ได้แก่ ตะพาบไต้หวัน เต่าแก้มแดงหรือเต่าญี่ปุ่น นกพิราบ นกกระจอกใหญ่
2.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีหลักฐานว่าได้เข้ารุกรานในถิ่นอื่น และเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทั้งยังสามารถดำรงชีวิต แพร่กระจายพันธุ์ได้ในธรรมชาติ ซึ่งถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุนหรือหากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่จะมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ รวมถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีต แต่ปัจจุบันควบคุมดูแลได้แล้ว ได้แก่ กบบูลฟร๊อก นกอีแก นกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ นากหญ้า
3.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และมีหลักฐานการรุกรานในประเทศอื่น เช่น จระเข้แม่น้ำไนล์ จระเข้นิวกินี จระเข้คิวบา อีกัวน่า นกยูงอินเดีย นกหงษ์หยก นกเขาแขก นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป เม่นขนสั้น สโตทท์ เฟอร์เรท หมาจิ้งจอกแดง
4.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีข้อมูล หลักฐานว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศอื่น ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตามทะเบียน 100ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานรุนแรงของโลก และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าตามกฎหมาย ได้แก่ คางคกยักษ์ ปาดแคริบเบียน งูแส้หางม้าสีน้ำตาล นกปรอดก้นแดง กระรอกสีเทา