นักสืบทุกคนเคยเรียนเรื่อง “ผลบวก” ในวิชาเลขมาแล้ว หลายคนอาจเคยไปร่วมงานเทศกาลทั้งหลาย เช่น ลอยกระทง กีฬาสี ฯลฯ และคงจะเคยเห็นเศษขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนตามพื้นและตามโต๊ะหลังงานเลิกมาแล้ว เรามักคิดว่าเราเองไม่ได้ทิ้งอะไรมาก (แค่คนละชิ้นสองชิ้นเอง) แต่พอคนสัก 500 หรือ 1,000 คน ทิ้งขยะคนละนิดหน่อยจำนวนรวมของขยะจะมีมากมายมหาศาล ถ้าเรามองดูใกล้ๆ อีกนิดว่า นักสืบแต่ละคน “มีส่วน” ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกี่ยวกับน้ำอย่างไร จะช่วยให้นักสืบเข้าใจและมองเห็นถึงบทบาทของตนในการจัดการคุณภาพน้ำ
คุณภาพของแม่น้ำลำธารสะท้อนถึงสภาพป่าต้นน้ำและการใช้ประโยชน์จากแผ่นดินอย่างชัดเจน เมื่อมนุษย์ตั้งรกรากและเริ่มใช้ที่ดิน เช่น ตัดต้นไม้ สร้างเมือง ขุดเหมืองแร่ ทำเกษตร และใช้ที่ดินทำกิจกรรมอื่นทั้งหมดล้วนมีผลกระทบต่อลำน้ำและคุณภาพของน้ำ เช่น เกิดการพังทลายของตลิ่ง สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรไหลลงลำน้ำ
เราแต่ละคนมีหน้าที่ช่วยกันรับผิดชอบกับสภาพของป่าต้นน้ำ แม่น้ำลำธาร และพื้นที่ชุ่มน้ำ การกระทำของคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ เมื่อรวมกันแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อลำน้ำทั้งนั้น การสำรวจสภาพของต้นน้ำจะทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของแม่น้ำลำธาร เพราะถ้าต้นน้ำเน่าเสียแล้ว แม่น้ำทั้งสายก็จะเน่าเสียตามไปด้วย
หากนักสืบสงสัยว่า กราฟประเมินคุณภาพน้ำที่ได้จากการสำรวจสัตว์เล็กน้ำจืดนั้น เริ่มมีแนวโน้มไปในทางไม่ดี หรือออกมาเป็นกราฟประหลาดพิสดาร นักสืบก็สามารถสำรวจชุมชนเพิ่มเติมเพื่อหาว่ามีแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ในละแวกนั้นหรือไม่
มลภาวะเหล่านั้นอาจเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบสองฝั่งน้ำ เราแบ่งแหล่งกำเนิดมลพิษได้ง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือแหล่งกำเนิดมลพิษแบบชัดเจน (point source) กับแหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจน (non-point source)
แหล่งกำเนิดมลพิษแบบชัดเจน เช่น โรงงาน โรงพยาบาล ฟาร์มเลี้ยงหมู เป็นที่ที่ระบุได้ว่ามีจุดที่ปล่อยของเสียหรือมลพิษลงสู่ลำน้ำ ส่วนแหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจนมักเป็นพื้นที่เปิดกว้าง มีการทำกิจกรรมหลากหลาย และไม่สามารถระบุแหล่งที่ปล่อยของเสียหรือสารพิษลงสู่ลำน้ำได้ว่ามาจากที่ใดกันแน่ มีการชะล้างหน้าดินหรือใต้ดินเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้มลพิษไหลลงสู่แหล่งน้ำบริเวณนั้นอาจมาจากกิจกรรมของมนุษย์หลายอย่าง เช่น นาข้าวที่มีพื้นที่นาหลายผืนติดต่อกันและล้วนใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี หรือชุมชนใหญ่ที่ปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งบริเวณที่ฝั่งน้ำได้รับกระทบจนเกิดการพังทลายด้วย
มลพิษที่ถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ล้วนแพร่กระจายได้ในแม่น้ำลำคลอง รวมไปถึงน้ำใต้ดิน นักสืบอาจรู้สึกว่าการตรวจสอบและป้องกันแหล่งกำเนิดมลพิษแบบชัดเจนง่ายกว่าเพราะเรารู้ว่าเป็นที่ใดกันแน่ แต่แหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจนนั้นก็ท้าทายไม่น้อยสำหรับนักสืบสายน้ำ เพราะความเปิดกว้างและลักษณะที่หลากหลายของพื้นที่นั้นเอง
ให้นักสืบลองช่วยกันคิดถึง “มาตรการดูแลความปลอดภัยให้ลำน้ำ” โดยพิจารณาจากกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่รอบๆ สองฝั่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจนก็ได้
หลังจากทำกิจกรรมนี้ นักสืบจะได้พบว่าคนแต่ละคนมีส่วนในการทำให้เกิดมลภาวะอย่างไร และตระหนักว่าแต่ละคนจะสามารถช่วยลดมลภาวะได้อย่างไรบ้าง
จุดประสงค์:
เพื่อให้นักสืบแยกแยะความแตกต่างระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษแบบชัดเจนและไม่ชัดเจนได้ ตระหนักว่าทุกคนมีส่วนทำให้แม่น้ำสกปรก และต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพของแม่น้ำลำธาร และรู้ถึงวิธีการดูแลลำน้ำเพื่อลดมลภาวะ
อุปกรณ์:
- กระดาฃชาร์ต/กระดาษปรู๊ฟขนาดใหญ่ วาดรูป “ที่ดินมรดก” ตามภาพ
- กระดาษสำหรับจดจำนวน 80 แผ่น หรือมากกว่า (ใช้กลุ่มประมาณ 10 แผ่น)
- เครื่องเขียน/สี/กระดาษกาว/เทปใส
การดำเนินกิจกรรม:
อุ่นเครื่อง
- คุณครูสำรวจความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ต้นน้ำของนักสืบ โดยให้นักสืบระบุชื่อของแม่น้ำสำคัญในภาคต่างๆ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำที่ตั้งของโรงเรียน/บ้านของนักสืบ ถามนักสืบว่า
– แม่น้ำเหล่านี้มีจุดกำเนิดมาจากไหน (ต้นน้ำของแม่น้ำเหล่านี้อยู่ที่ใด)
– แม่น้ำไหลไปลงแม่น้ำที่ใหญ่กว่าหรือไหลลงสู่ทะเลที่ใด
– แม่น้ำเหล่านี้ไหลผ่านจังหวัดใดบ้าง
- ช่วยกันระดมสมองว่า แม่น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดที่นักสืบอาศัยอยู่นั้นใช้พื้นที่อย่างไรหรือมีกิจกรรมหลักๆ ของมนุษย์ใดบ้างเกี่ยวกับน้ำ
– นักสืบคิดว่ากิจกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อแม่น้ำหรือไม่ และคนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำจะคิดอย่างไรกับคนต้นน้ำ
กิจกรรม:
- แบ่งนักสืบออกเป็น 8 กลุ่ม และบอกว่าแต่ละกลุ่มเพิ่งจะได้รับมรดกเป็นที่ดินติดริมฝั่งน้ำกลุ่มละแปลงและได้เงิน 50 ล้านบาท ให้นักสืบเขียนรายการว่าจะใช้ที่ดินและเงินอย่างไร
- ส่ง “ที่ดินมรดก” และเครื่องเขียนให้นักสืบแต่ละกลุ่ม และอธิบายว่าส่วนที่แรเงาเป็นน้ำและส่วนที่ว่างคือที่ดินมรดก นักสืบมีเงิน 50 ล้านบาทเพื่อจัดการที่ดินผืนนี้ตามแต่ใจปรารถนา จะปลูกข้าวก็ได้ จะทำปศุสัตว์ก็ได้ ปลูกรีสอร์ต ปลูกบ้าน สร้างโรงงาน สร้างสวนสาธารณะ ปลูกป่า ทำเหมืองแร่ หรืออะไรก็ตามที่อยากทำ จากนั้นให้นักสืบถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้นลงในภาพ “ที่ดินมรดก” และคิดด้วยว่านักสืบควรใช้น้ำทำอะไรบ้าง และใช้อย่างไร
- เมื่อนักสืบวาดภาพเสร็จแล้ว ให้นักสืบดูหมายเลยที่มุมขวาบน จากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำภาพมาต่อเป็นภาพเดียวกันหมายเลข 1 หันหน้าชนกัน หมายเลข 2 ก็หันหน้าชนกับหมายเลข 2 ฯลฯ
- ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอว่า ตนจะทำอย่างไรกับที่ดินมรดกและจะใช้น้ำอย่างไร โดยระบุด้วยว่ากิจกรรมที่นักสืบจะทำนั้นทำให้เกิดมลพิษต่อลำน้ำหรือไม่ อย่างไรบ้าง ให้นักสืบใช้สิ่งที่หาได้จากโต๊ะนักเรียน เช่น ปากกา กระดาษ ดินสอ หนังสือ เป็นตัวแทนของของเสียและขยะที่จะปล่อยลงน้ำ
- ให้นักสืบทุกคนยืนเข้าแถวเรียงหน้ากระดานตามลำดับตำแหน่งที่ดินมรดก โดยกลุ่มที่ได้เลขเหมือนกันแต่อยู่คนละฝั่งยืนสลับต่อกัน จากนั้นให้นักสืบส่งของที่ใช้แทนของแต่ละกลุ่มจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ นักสืบแต่ละคนจะต้องขานว่า “มลพิษ” ที่นักสืบถืออยู่นั้นคืออะไร ก่อนจะ “ปล่อยลงน้ำ” โดยส่งให้เพื่อนคนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงนักสืบคนสุดท้ายที่จะต้องถือของทุกชิ้นเอาไว้ในมือ
สรุปผล:
- หลังจากที่ของทุกชิ้นส่งถึงมือนักสืบคนสุดท้าย ให้นักสืบอภิปรายว่า
– นักสืบที่อยู่ตรงกลางและปลายน้ำรู้สึกอย่างไร
– จะเป็นอย่างไรถ้านักสืบแต่ละกลุ่มมีการวางแผนที่ดีก่อนจัดการที่ดินและใช้น้ำ
– นักสืบที่อยู่ปลายน้ำได้รับผลกระทบจากการกระทำของนักสืบที่อยู่ต้นน้ำอย่างไร
– นักสืบที่อยู่ต้นน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพลำน้ำที่ปลายน้ำได้หรือไม่
- บอกนักสืบให้ส่งของของตนเองคืนไปได้ คุณครูอธิบายว่าของที่คืนง่ายเป็นของที่ระบุเจ้าของได้ แต่ของบางอย่าง เช่น กระดาษเปล่า ดินสอ คลิปหนีบกระดาษนั้น คืนยากกว่าเพราะระบุเจ้าของไม่ได้ก็เป็นเช่นเดียวกับมลพิษที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษแบบชัดเจนและแหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจนนั่นเอง
- ให้นักสืบแต่ละกลุ่มเขียนวิธีที่จะลดมลพิษในที่ดินมรดกของตน นักสืบอาจค้นคว้าหากฎหมายควบคุมป้องกันมลพิษของรัฐบาล หรือจะเป็นกฎในท้องถิ่นก็ได้ ถ้าหากนักสืบพบว่าลำน้ำในท้องถิ่นของตนได้รับผลกระทบมากและไม่มีใครสนใจดูแล นักสืบก็สามารถเขียนจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่รอบๆ ฝั่งน้ำ
ประเมินผล:
- ให้นักสืบเสนอความเห็นส่วนตัวเรื่องคุณภาพน้ำโดยรวม
- เขียนเรียงความ 1 ย่อหน้าว่าตนเองจะมีวิธีดูลำน้ำอย่างไร
- จำแนกแหล่งกำเนิดมลพิษแบบไม่ชัดเจนได้