GreenTrip#1 ปั่น ปอด ห้อย

Date

26 July 2014

Time

-

Place

บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ

รายละเอียดกิจกรรม

26 กรกฏาคม 2557 มูลนิธิโลกสีเขียวจัดกิจกรรมปั่นจักรยานศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปอด” สำคัญของกรุงเทพฯ พร้อมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ อย่าง “หิ่งห้อย” ในบริเวณบางกระสอบ

สรุปผลกิจกรรม

บันทึก Green trip ครั้งที่ 1 ‘ปั่น ปอด ห้อย’

เรื่อง : เมธิรา เกษมสันต์

ปั่น – จักรยาน
ณ ปอด – ของกรุงเทพฯ (บางกระเจ้า)
พร้อมเรียนรู้มหัศจรรย์การสื่อสารด้วยแสงของหิ่ง – ห้อย ยามค่ำคืน

[1] ปั่น

จากท่าเรือคลองเตยที่เต็มไปด้วยฝุ่นคลุ้งสีเทาจากรถสิบล้อ เพียงไม่กี่นาทีที่เรือพาเราข้ามไปอีกฝั่ง ก็ราวกับว่าได้ข้ามไปอีกโลก โลกฝั่งนี้คือต้นไม้เขียวชอุ่ม และชีวิตที่ยังคงรูปแบบวิถีบ้านๆ ไว้

ที่ท่าเรือกำนันขาว บางคนเช่าจักรยานที่นี่ ก่อนจะปั่นมารวมตัวกันที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ – สวนสาธารณะของพื้นที่บางกระเจ้า เราเริ่มกิจกรรมแรกด้วยกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติในสวน โดยทีมงานให้เราแบ่งกลุ่ม ทำตัวเป็นนักสืบ ปั่นจักรยานตามลายแทงที่ได้รับมา เพื่อค้นหาและสังเกตความลับของธรรมชาติ

จุดแรก – เสาะหาไลเคน เราใช้แว่นขยายส่องตามรอยเปื้อนบนต้นไม้ ถ้าไม่นับรอยตะไคร่หรือรา รอยเปื้อนที่เราเจอเนี่ยแหละ คือไลเคน – สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการรวมร่างกันระหว่างสาหร่ายกับรา ซึ่งชนิดไลเคนที่เราเจอก็จะสามารถบอกถึงคุณภาพอากาศ ณ ที่นั้นได้

จุดที่สอง – สำรวจพรรณไม้ ในสมุดที่เราได้รับแจกจะมีพื้นที่ว่างให้เอาหน้ากระดาษทาบลงไปกับเปลือกไม้หรือใบไม้ แล้วใช้ดินสอฝนจนเกิดลายบนกระดาษ เราก็จะได้ภาพของเปลือกไม้และใบไม้ต้นนั้นเก็บไว้ เป็นวิธีการช่วยจำที่ดีจริงๆ

จุดที่สาม – สำรวจนก เสียดายที่มีเวลาไม่มาก เพราะไม่งั้นเราคงจะได้ตื่นตาตื่นใจกับนกน่ารักหลากหลายชนิดมากกว่านี้ เช่น ‘กินปลีอกเหลือง’ ตัวเล็กจิ๋วที่สีสวยมากกำลังกินน้ำหวานจากดอกไม้, ‘กางเขนบ้าน’ ผู้สวยสง่ากำลังร้องเพลง, ‘กระเต็นอกขาว’ เกาะกินไม้ริมน้ำรอจังหวะโฉบจับปลา, ‘แซงแซวหางบ่วงใหญ่’ ที่ปลายหางมีบ่วงยาวสมชื่อ, ‘ตีทอง’ เจ้าของเสียง “ต๊ง ต๊ง ต๊ง”, ‘นกตะขาบทุ่ง’ ปีกและหางสีน้ำเงินสด ฯลฯ

(และความพิเศษของที่นี่คือ นกกินปลีอกเหลืองเยอะมากกกกก โดยเฉพาะบริเวณข้างอาคารอเนกประสงค์ – ถ้าเดินลงจากอาคาร เดินอ้อมไปทางขวา ข้ามสะพาน แถวนั้นนี่มีเป็นฝูง เดินไปต้นไหนก็เจอ)


จุดที่สี่ – เที่ยวบ้านปลวก สิ่งมีชีวิตที่หลายคนมองข้ามหรือไม่ก็ถึงขั้นรังเกียจ แต่พี่อ้อย (ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ – ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว) เล่าว่า เราสามารถเรียนรู้จากปลวกได้หลายอย่าง อย่างแรกคือความมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม ในขณะที่มนุษย์ควบคุมอุณหภูมิโดยการใช้แอร์ แต่ปลวกไม่ต้อง ไม่ว่าข้างนอกจะร้อนหรือหนาวแค่ไหน ภายในรังปลวกจะมีอุณหภูมิคงที่เสมอ เพราะมันมีระบบระบายอากาศที่สุดยอดมาก หากแปลงร่างเป็นปลวกแล้วเดินเข้าไปในรัง จะเห็นว่ามีช่องระบายอากาศแนวตั้งจำนวนมาก เพื่อให้อากาศร้อนลอยขึ้นไปและดึงอากาศที่เย็นกว่าเข้ามา และนี่ก็คือแนวคิดที่มนุษย์นำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบของอาคารประหยัดพลังงาน อย่างในทวีปแอฟริกาที่กลางวันร้อนระอุและกลางคืนหนาวจัด ก็มีอาคารแห่งหนึ่งออกแบบเลียนแบบรังปลวก อุณหภูมิพอเหมาะพอดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแอร์เลยสักตัว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

นอกจากนั้น ปลวกเองก็มีหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก คือการย่อยสลายไม้ผุให้กลับกลายเป็นดิน ให้สิ่งมีชีวิตอื่นและพืชพันธุ์ได้เติบโตต่อไป ทำให้วงจรของธรรมชาติดำเนินต่อไปได้ และชีวิตอื่นๆ ยังคงอยู่

เพราะฉะนั้น ต่อไปใครด่าเราว่า ไอ้หน้าปลวก – ก็ขอให้ถือเป็นคำชม (ฮา)

[2] ปอด

จากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ เราปั่นไปตามทางปูนเล็กๆ ที่ลัดเลาะไปตามป่าชุมชนและสวน สองข้างทางเป็นต้นไม้เขียวชอุ่ม มีเสียงนกร้องให้เพลินใจระหว่างทาง สูดหายใจได้เต็มปอด

นี่คือพื้นที่ในคุ้มบางกระเจ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

หากมองในมุมมองของนก นี่คือพื้นที่ 1.2 หมื่นไร่ ที่มีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมู และเป็นกระเพาะหมูสีเขียวท่ามกลางพื้นที่รอบข้างสีเทา

ความพิเศษของกระเพาะหมูนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่เหลืออยู่แห่งเดียวในแถบนี้เท่านั้น หากยังอยู่ที่ลมมรสุมที่พัดผ่านพื้นที่แห่งนี้ถึง 9 เดือนต่อปี หอบอากาศอันบริสุทธิ์จากพื้นที่นี้ไปสู่เมืองหลวง จึงไม่ผิดประการใดถ้าจะบอกว่าที่นี่คือ ‘ปอด’ ของคนกรุงเทพฯ

ไม่ใช่แค่ประโยชน์สำหรับคนเท่านั้น ข้อมูลจากเพจ ‘สิ่งละอันพันละนก’ ยังบอกว่า พื้นที่ตรงนี้สำคัญกับนกอพยพมาก ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น ‘migration trap’ คือหลังจากพวกมันรอนแรมอพยพผ่านทะเลมายาวไกล ทั้งหิว เหนื่อย เมื่อยล้า ที่นี่คือพื้นที่สีเขียวแห่งแรกที่พวกมันพบ จึงเป็นเสมือนบ้านพักริมทางหลังสำคัญที่พวกมันจะแวะพักเติมพลังก่อนจะบินต่อไป (แถมยังมีข้อมูลว่า มีนกหายากหลายชนิดที่พบไม่ได้แล้วในเมืองกรุงหรือฝั่งธน แต่พบได้ที่นี่)

ในอดีต พื้นที่นี้ได้รับการคุ้มครองโดยผังเมืองที่กำหนดไว้ให้เป็นเขตอนุรักษ์  แต่เวลาผ่านไป ผังเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนให้เอื้อต่อสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ป้ายประกาศขายที่ดินเพิ่มขึ้นทุกวัน บ้านปูนที่ขัดแย้งกับสภาพโดยรอบค่อยๆ ผุดเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนเท่านั้นจะยังไม่พอ ล่าสุดมีการประกาศเปลี่ยนแปลงผังเมืองอีกครั้ง เอื้อต่อสิ่งก่อสร้างมากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่มีการถามความคิดเห็นประชาชนใดๆ

พื้นที่สีเขียวแหล่งโอโซนแห่งสุดท้ายของเมืองหลวง จึงนับว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกทำลาย ไม่ต่างอะไรจากปอดที่เซลล์มะเร็งค่อยๆ คืบคลาน (ความคืบหน้าของการคัดค้านผังเมืองใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุย) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

[3] (หิ่ง) ห้อย

จุดหมายสุดท้ายของวัน เราอยู่กันที่หมู่บ้านหิ่งห้อย พี่สุกิจ พลับจ่าง ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ ‘ลำพูบางกระสอบ’ ได้เล่าเรื่องราวของที่นี่และหิ่งห้อยให้เราได้ฟัง ก่อนจะทานข้าวเย็นแล้วออกไปพบกับหิ่งห้อยนับร้อยนับพันที่รอเราอยู่ที่ต้นลำพู…

พี่สุกิจเล่าว่า ที่นี่ มีหิ่งห้อย 5 ชนิด 4 สกุล เป็นหิ่งห้อยน้ำกร่อย 2 ชนิด และน้ำจืด 3 ชนิด รวมทั้งหิ่งห้อยน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก Luciola aquatillis ก็พบได้ที่นี่ ความพิเศษของมันคือแสงที่เปล่งออกมาสว่างมาก สว่างกว่าหิ่งห้อยน้ำกร่อย แต่เสียดายที่ว่ามันเป็นหิ่งห้อยรักสันโดษ จึงไม่ค่อยเกาะรวมกะพริบพร้อมกันบนต้นลำพู

แล้วความมหัศจรรย์อีกอย่างของเจ้าหิ่งห้อยน้ำจืดชนิดใหม่นี้คือ ตัวหนอนของมันวิวัฒนาการระบบหายใจให้มีท่ออากาศเหนือผิวน้ำ ในขณะที่ชนิดอื่นหายใจใต้น้ำ นั่นแปลว่ามันน่าจะทนต่อน้ำเสียได้ดีกว่า แล้วที่เจ๋งคือเคยมีงานวิจัยที่เอาหิ่งห้อยหลายๆ ชนิดมาในห้องทดลอง หยดยาฆ่าหญ้าลงในภาชนะ ผลคือเจ้านี่เป็นหิ่งห้อยชนิดเดียวที่หนีออกมาได้ ในขณะที่ชนิดอื่นตายหมด ! (แต่ในธรรมชาติจริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามันจะหนีไปได้สักกี่น้ำ ถ้าน้ำทุกแห่งมีพิษหมด ก็คงไม่น่ารอดอยู่ดี)

กลับมาที่หิ่งห้อยน้ำกร่อย ซึ่งเป็นพระเอกของค่ำคืนนี้ เนื่องจากเป็นหิ่งห้อยที่พบได้เยอะที่สุด และอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ความพิเศษก็คือ ที่นี่เป็นที่ที่พบหิ่งห้อยน้ำกร่อยรวมตัวกัน ณ จุดเดียวมากที่สุด คาดว่าอาจถึง 3,000 ตัว ตัวที่กะพริบพร้อมกันคือชนิดเดียวกัน ตัวที่กะพริบช้ากว่าชาวบ้านคืออีกชนิด พี่สุกิจเล่าว่า คุณแทนไท ประเสริฐกุล ซึ่งมาทำวิจัยหิ่งห้อยที่นี่บอกว่าไม่เคยเจอหิ่งห้อยน้ำกร่อยที่ไหนรวมตัวกันในจุดเดียวเยอะเท่าที่นี่มาก่อน !

เรียกน้ำย่อยด้วยข้อมูลได้ที่… ก็ถึงเวลาไปดูของจริง

ท่ามกลางความมืดมิด เราเดินไปตามทางเส้นเล็กๆ ในป่าลำพู ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือความระยิบระยับไปทั่วทั้งต้น

แต่นั่นก็ถือว่ายังน้อย ถ้าเทียบกับอีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นดงต้นหวายลิง บริเวณนั้นราวกับทุ่งดวงดาวนับพันที่เปล่งประกายอยู่เหนือผืนดิน ความงามตรงนั้นมันยากเกินกว่าจะอธิบายด้วยตัวอักษร รู้แต่เพียงว่ามันคือความวิเศษของธรรมชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นมา


แต่… ก็เช่นเดียวกับทุกที่ที่มีธรรมชาติสวยงาม ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามรักษา ก็จะต้องมีคนอีกกลุ่มที่พยายามทำลาย ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ที่นี่ก็เช่นกัน มีข่าวว่าโครงการสร้างเขื่อนรอบบางกระเจ้ากำลังมา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ระบบนิเวศ 3น้ำ – จืด กร่อย เค็ม ที่มีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาย่อมหายไป น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อหิ่งห้อยและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – มรดกทางธรรมชาติ ที่วิวัฒนาการมาไม่รู้กี่ล้านล้านปีก็คงต้องหายวับไปภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

นอกจากโครงการเขื่อนแล้ว การรบกวนหิ่งห้อยโดยมนุษย์อีกอย่างก็คือแสง ที่ใดมีแสงสว่างจากมนุษย์ยามค่ำคืนมาก หิ่งห้อยจะหาคู่ผสมพันธุ์ได้ช้ากว่าปกติ เพราะการจับคู่ของมันใช้การสื่อสารด้วยแสงเป็นหลัก ถ้ามีแสงรบกวนมากไป มันก็อาจหากันไม่เจอ นอกจากนั้น น้ำมันจากเรือที่ปล่อยลงทะเล การวางยาเบื่อกุ้งตามแนวชายฝั่ง ก็คือสิ่งที่คุกคามหิ่งห้อยมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็ยังโชคดี ที่กลุ่มคนที่อนุรักษ์และเยาวชนต้นกล้าของกลุ่มลำพูบางกระสอบยังคงเติบโต คนจากภายนอกที่เห็นค่าของพื้นที่นี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้แต่หวังว่า จำนวนคนที่เข้าใจในธรรมชาติและเห็นคุณค่าของมันจะค่อยๆ เพิ่มจำนวน และช่วยกันปกป้องมรดกทางธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีนี้ไว้ได้…

เพราะต่อให้เมืองเราเจริญทางเศรษฐกิจแค่ไหน แต่ถ้ารอบตัวมองไปทางไหนก็ไร้ซึ่งความงาม ชีวิตจะมีความหมายอะไร…  

ที่มาภาพ :
suparurk oknation
worarit jaratpuree
กลุ่มลำพูบางกระสอบ