ดอยหลวงเชียงดาวเปลี่ยนไป
ฤดูกาลท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวมาถึงแล้ว แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวกำหนดวิธีการจองและจำกัดปริมาณคนขึ้นดอยหลวงใหม่ จากเดิมสามารถขึ้นได้ทุกวัน เปลี่ยนเป็นขึ้นได้เฉพาะศุกร์-เสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน-11 กุมภาพันธ์ รวม 15 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่สั้นลงและการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งดูจากยอดการจองที่ประกาศทางเฟสบุคของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คาดว่านักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยหลวงในปีนี้จะลดลงกว่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูกาลท่องเที่ยวปีที่แล้วที่มีผู้ลงทะเบียนขึ้นดอยหลวงระยะเวลา 4 เดือน กว่า 2 หมื่นคน ภาพจากคุณ Boss >>> http://www.trekkingthai.com/wordpress/?p=1826#prettyPhoto/0/ ฉันหวนนึกถึงบทสนทนาบนยอดดอยหลวงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ฉันและกลุ่มอาสาสมัครขึ้นไปเก็บขยะตกค้างบนดอยหลวงในช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะรอดูพระอาทิตย์ตกดินบนยอดดอยหลวง ฉันได้คุยกับวารินทร์ วรินทรเวช เจ้าของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ดอยหลวงที่ถูกนำมาใช้ช่วงปี 2544-2547 หน้าที่การงานทำให้เขาไม่ได้ขึ้นดอยหลวงมากว่า 10 ปี เมื่อกลับมาเห็นอีกครั้งเขาบอกว่า “พูดอะไรไม่ออก” และ “อยากร้องไห้” วารินทร์ย้อนอดีตให้ฟังว่าจุดที่เรานั่งอยู่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกวางผา เมื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดขึ้น โดยชุมชน ทางการ และนักวิชาการตัดสินใจร่วมกันว่าต้องกำหนดจุดพักแรมและพื้นที่ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง แทนการปล่อยให้นักท่องเที่ยวท่องไปตามใจชอบ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวอยากเห็นภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินที่จุดสูงสุด คณะทำงานจึงเปิดยอดดอยหลวงเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินและยอดกิ่วลมเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น และกำหนดจุดพักแรมบริเวณใกล้เคียงกัน ผลคือกวางผาอพยพไปอยู่ดอยอื่นๆ และเมื่อถูกนักท่องเที่ยวรบกวนน้อยลง กวางผาก็มีที่อยู่และขยายพันธุ์ได้มากขึ้น จากสมัยเริ่มทำการท่องเที่ยวช่วงแรกๆ นานๆ จะเห็นกวางผาสักครั้ง […]