พลังคำเพื่อโลก
ถามจริงๆ เมื่อได้ยินคำว่า “สิ่งแวดล้อม” คุณนึกถึงอะไร? ถามนักเรียนจะได้คำตอบว่าคือสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตรอบตัวเรา ถามคนทั่วไป แว็บแรกก็นึกถึงอากาศ น้ำ อุณหภูมิ การจัดการของเสียและขยะ ทั้งสองคำตอบไม่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น กระตุ้นจินตนาการ มันน่าเบื่อ เช่นเดียวกับคำว่าความยั่งยืน ในหนังสือ How to Raise a Wild Child สก็อต แซมสันตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเราตกหลุมรักกับคนคนหนึ่ง ขอแต่งงานด้วย เราไม่คิดว่าเราจะมีชีวิตที่แค่ยั่งยืนไปด้วยกัน ไม่ได้จะแค่ประคองกันไป จืดๆ ชืดๆ รอดตายด้วยความรอบคอบเก็บเงินออม ปลอดภัยอย่างซังกะตาย แต่เราเต็มไปด้วยปิติและความหวัง หนึ่งบวกหนึ่งไม่ใช่แค่สอง เราจะงอกงามเบิกบานไปด้วยกัน แล้วทำไมเมื่อเรารักธรรมชาติเต็มหัวใจ ไม่ได้เห็นมันเป็นแค่ “สิ่ง” และ “ของ” แต่เรากลับบอกคนอื่นว่า “เราต้องจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน” ไร้ซึ่งแรงบันดาลใจใดๆ เราต้องหาคำที่ให้ความหวัง เร้าใจกับความเป็นไปได้ในอนาคต งานวิจัยเล็กๆ หลายชิ้นกำลังชี้ให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่มีอาการจิตตกกับภาพอนาคตโลกเสื่อม จนไม่อยากจะทำอะไร นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการถูกฝึกให้ใช้ภาษาในมุมมองภววิสัย (objective) มีความหมายใช้งานตามวัตถุประสงค์ ไม่เจือปนอารมณ์หรือมุมมองส่วนตัว เพื่อลดอคติ แต่เมื่อนำมาใช้ในการสื่อสารทั่วไปนอกแวดวงวิชาการ มันขาดหัวใจ แต่มันไม่ได้แปลว่านักวิทยาศาสตร์ไม่มีหัวใจ นักธรรมชาติวิทยาที่ทำงานจริงจังล้วนรักและพิศวงในธรรมชาติและชีวิตที่เขาศึกษา […]