ไบโอฟิลเลีย สันดานไฝ่หาชีวภาพ
หลายอาชีพที่เราคุ้นเคยกำลังหายไปในโลกยุคใหม่หมุนเร็วติ้ว อย่าว่าแต่คนอายุ 50 ที่ตกงานเพราะโลกไม่ต้องการความถนัดเขาแล้ว รุ่นน้องอายุเพียง 30 ต้นๆ ก็เริ่มผวากลัวตกยุค ทั้งๆ ที่เขาโตมากับไอทีและใช้ได้คล่องแคล่ว แต่อาชีพที่กำลังสูญพันธ์เร็วที่สุดและผู้เขียนเสียดายมากที่สุด ได้แก่ อาชีพนักอนุกรมวิทาน คือนักจำแนกพันธ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ ความสามารถในการจำแนกสารพัดสายพันธ์ชีวิต เคยเป็นความรู้สำคัญของมนุษย์ที่ต้องฝึกฝนเพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยที่เราเก็บหาอาหารและพึ่งหยูกยาจากธรรมชาติ แม้ในสังคมเกษตรสมัยก่อนเราก็ยังอาศัยทักษะเหล่านี้อยู่ คนที่เก่งทางนี้เป็นพิเศษก็มักได้รับการยกย่อง เป็นพ่อหมอแม่หมอ บางทีก็ว่าเป็นแม่มด งานด้านนี้ถูกพัฒนาเป็นอาชีพจริงจังในยุคอาณานิคมสำรวจครอบครองทรัพยากร มีการอุดหนุนทุนทรัพย์สร้างสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ออกสำรวจ บุกป่าฝ่าดง เก็บตัวอย่าง จำแนกสายพันธุ์ชีวิตกลุ่มต่างๆ เป็นระบบวิทยาศาสตร์ ขยายความสนใจข้ามพรมแดนของกินของใช้ สร้างองค์ความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสารบบตำรา อังกฤษยิ่งโดดเด่นมาก นอกจากอาณานิคมพี่แกจะเยอะแยะกว้างไกลจนพระอาทิตย์ไม่เคยตกหายในดินแดนบริแตนแล้ว อังกฤษยังมีวัฒนธรรมนิยมธรรมชาติเป็นทุนเดิม จุดประกายมาจากการทำลายแหล่งธรรมชาติและพื้นที่ชนบทในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันบุคลากรด้านนี้เริ่มขาดหาย คนรุ่นก่อนตายไป ก็ไม่มีรุ่นใหม่ความสามารถเทียบเท่ามาทดแทน คนเรียนเฉพาะทางด้านนี้ก็หายไป คอร์สเรียนก็หาย งานประจำด้านนี้แทบไม่มีเปิดรับ แม้จะมีคนเรียนทางนิเวศวิทยาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการจำแนกสายพันธุ์ อย่างผู้เขียนเป็นต้น ทั้งๆ ที่เรายังรู้จักนานาชีวิตในระบบนิเวศเขตร้อนเพียงน้อยนิด และแม้แต่นักนิเวศวิทยาเอง ก็ใช่จะหางานทำได้ง่าย ถ้าไม่ได้สังกัดสถาบันการศึกษา หรือองค์กรอนุรักษ์ทุนใหญ่ไม่กี่แห่ง มันเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนความต้องการของสังคมปัจจุบัน วิถีชีวิตคนยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพาองค์ความรู้ธรรมชาติโดยตรงในชีวิตประจำวัน อยากกินเห็ดก็ไปซื้อที่ซูเปอร์ ไม่ต้องหัดจำแนกเห็ดมีพิษเห็ดกินได้ เรารู้จักโลโก้แบรนด์สินค้าต่างๆ ดีกว่าพืชและสัตว์รอบตัว แม้แต่นกกระจอกบ้านธรรมดา […]