โครงการจักรยานกลางเมือง
ดำเนินการโดย มูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เป็นระบบที่เน้นการจราจรทางบกเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับการเดินทางโดยพึ่งยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นอันดับแรก อัตราส่วนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสูงถึงร้อยละ 53 และจำนวนรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี
การจราจรที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่รถยนต์เป็นรากปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนสุขภาวะของคนกรุงเทพฯ ในทุกมิติ ตั้งแต่ปัญหามลภาวะอากาศจากไอเสียรถยนต์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจปัญหาการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการจราจรติดขัดจนถึงปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาคุณภาพชีวิตอื่นๆในด้านสิ่งแวดล้อมการจราจรโดยรถยนต์ยังนับเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนถึงกว่าร้อยละ 40 ของกรุงเทพฯนับเป็นการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไร้ประสิทธิภาพโดยมิได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมโดยรวมให้ดีขึ้นเลย
ขณะที่การแก้ไขปัญหาจราจรโดยการขยายถนนเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงเพียงระยะหนึ่งส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินก็ไม่สามารถอำนวยให้การเดินทางของคนส่วนใหญ่ในสังคมถึงจุดหมายได้ด้วยการใช้รถไฟฟ้าเพียงขั้นตอนเดียวจำเป็นต้องมีการสัญจรด้านอื่นรองรับ
ดังนั้น การส่งเสริมขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพควบคู่กับการพัฒนาระบบสัญจรทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่น จักรยาน จึงเป็นทางออกที่สำคัญ เนื่องจากจักรยานมีราคาถูก ใช้พื้นที่น้อย คล่องตัว ไม่ก่อมลพิษและมีประสิทธิภาพสูง จึงได้รับการส่งเสริมเป็นพาหนะในการสัญจรในเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและปัญหาคุณภาพอากาศ โดยใช้ควบคู่ไปกับระบบขนส่งมวลชน
การใช้จักรยานยังส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเพราะการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายซึ่งเอื้อต่อการปรับจิตใจให้รับรายละเอียดและสุนทรียภาพรอบตัว ในหลายกรณีจำนวนการใช้จักรยานในเมืองยังบ่งบอกถึงคุณภาพของสังคมที่เคารพสิทธิของทางเลือกที่หลากหลาย ให้คนเดินเท้า จักรยาน ขนส่งมวลชน และรถยนต์สามารถแบ่งปันพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ ด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม สังคมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจักรยานจึงถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองน่าอยู่และการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนเมืองรถยนต์ให้เป็นเมืองจักรยานหรือเมืองน่าอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการใช้ถนนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางจักรยาน ทั้งหมดต้องอาศัยเวลาและต้องได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่องยุทธศาสตร์สู่การเปลี่ยนแปลงในก้าวแรกของภาคประชาคมจึงต้องมุ่งสู่การสร้างความตระหนักถึงบทบาทของจักรยานในระบบการคมนาคมอย่างยั่งยืนภายในเมืองพร้อมกับอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สนใจใช้จักรยานเพื่อกระตุ้นให้เกิดเจตจำนงทางการเมืองและขับเคลื่อนให้การสัญจรด้วยจักรยานเป็นวาระขึ้นมาในสังคมนำไปสู่การผลักดันทางนโยบายได้ต่อไป
มูลนิธิโลกสีเขียวจึงวางแผนริเริ่ม “โครงการจักรยานกลางเมือง” ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทยโดยมียุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์โครงการ :เปิดใจและเปิดทางให้จักรยาน ด้วยแผนที่จักรยานกรุงเทพฯ และรณรงค์การใช้ถนนร่วมกับจักรยาน
ยุทธศาสตร์ของโครงการมุ่งสร้างความตระหนักแก่ผู้คนในสังคม ให้เริ่มเห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ของการใช้จักรยานในการสัญจร ทั้งในการเดินทางระยะใกล้ในเขตท้องถิ่น และในระยะไกลขึ้นระหว่างเขตต่างๆ ในเมือง โดยอาจใช้ควบคู่ไปกับระบบขนส่งมวลชน เพื่อปลดล็อคปัญหาจราจรติดขัดและปัญหาคุณภาพอากาศในเมือง โดยแบ่งออกเป็น 2 ยุทธวิธีดังนี้
- จัดทำคู่มือแผนที่เส้นทางจักรยานกลางเมือง เป็นเครื่องมือสนับสนุนผู้สนใจใช้จักรยานแผนที่เส้นทางจักรยานเป็นประตูสำคัญในการเปิดโลกสู่วิถีจักรยาน ช่วยให้ผู้ที่กำลังสนใจเลือกใช้จักรยาน มองเห็นความเป็นไปได้ในการหัดใช้จักรยานเป็นพาหนะสัญจรได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น สามารถเริ่มปฏิบัติได้จริงคู่มือแผนที่ที่วางแผนจัดทำขึ้นนั้น เกิดจากการรวบรวมเส้นทางที่ผู้ใช้จักรยานในปัจจุบันเลือกใช้จริง ซึ่งรวมถึงเส้นทางตามตรอก ซอก ซอย เส้นทางลัด เส้นทางจักรยานพิเศษที่ กทม.จัดทำไว้ และเส้นทางถนนสายหลักที่ผู้ใช้จักรยานในแต่ละท้องถิ่นนิยมใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และจะคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพและความพร้อมนำเสนอต่อ กทม.ให้พิจารณาปรับปรุงพัฒนาเป็นเส้นทางที่ใช้ได้ดียิ่งขึ้นต่อไป มีความสะดวกและความปลอดภัยมากขึ้นโดยใช้งบประมาณไม่สูงนักการส่งเสริมเส้นทางจักรยานโดยต่อยอดจากประสบการณ์ตรงของกลุ่มผู้ใช้จักรยานในปัจจุบันเช่นนี้เป็นรูปธรรมที่ สามารถจัดทำได้เลย และมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นการก่อสร้าง หรือออกแบบเส้นทางจักรยานใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และหลายครั้งประสบปัญหา ไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้จักรยานเดิมเนื่องจากขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ใช้จักรยานทั้งนี้โครงการจะออกแบบการติดตามผลโดยเน้นความมีส่วนร่วมและความต่อเนื่องผ่านการตั้งคณะกรรมการในการติดตามและตรวจสอบปรับปรุงเส้นทางจักรยานต่างๆ จากตัวแทนภาครัฐและกลุ่มประชาคม
- รณรงค์การใช้ถนนร่วมกัน ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังมีทางเฉพาะจักรยานอยู่น้อย เป็นเหตุให้การใช้จักรยานสัญจรส่วนใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อจักรยานควบคู่ไปกับการจัดทำแผนที่เส้นทางจักรยานเพื่อให้สังคมมองเห็นจักรยานเป็นทางเลือกที่สำคัญทางหนึ่งในการใช้สัญจรและรู้จักการแบ่งพื้นที่ใช้ถนนร่วมกับจักรยานอย่างปลอดภัยมากขึ้นเมื่อจักรยานเริ่มถูกมองเป็นพาหนะในการเดินทางประจำวันไม่ใช่เพียงกิจกรรมนันทนาการยามว่างการสัญจรโดยจักรยานจึงจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นวาระหนึ่งของนโยบายการพัฒนาเมืองอย่างจริงจังได้ต่อไปทั้ง 2 ยุทธวิธีเน้นความเป็นไปได้ มีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องในเชิงรูปธรรม โดยใช้ฐานจากข้อมูลผลการสำรวจและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานทั้งจากภาครัฐและภาคการศึกษา ตลอดจนประสบการณ์และบทเรียนจากประเทศอื่นๆ
เป้าประสงค์ระยะยาว
ยกระดับการพัฒนาระบบสัญจรโดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร
จุดประสงค์เฉพาะหน้า
เพิ่มจำนวนผู้ใช้และจุดประเด็นความสนใจและความตระหนักต่อการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในกรุงเทพมหานคร โดยมีแผนที่เส้นทางจักรยานกลางเมืองประกอบกับการรณรงค์การใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัยเป็นเครื่องมือผลักดัน
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายหลัก : คนกรุงเทพฯ ที่สนใจการขี่จักรยานเป็นพาหนะสัญจรทางเลือก
กลุ่มเป้าหมายรอง : คนทั่วไปที่สัญจรในกรุงเทพมหานคร
ระยะเวลาดำเนินงาน
2 ปี (มกราคม 2554 – ธันวาคม 2555)
งบประมาณ
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)