ความหนาวเฉียบพลันที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาดูจะกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะการรับรู้ของคนไทยดูเหมือนว่า มกราคมเข้ากุมภาพันธ์นี่เป็นฤดูร้อนแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ร้อนจัด แต่จู่ๆก็หนาวขึ้นมาซะอย่างนั้น
คนจำนวนไม่น้อยคงโยนให้โลกร้อนเป็นจำเลย บางคนอาจคิดถึงหนัง The day after tomorrow ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 กลางเดือนมีนาคมก็มีอยู่ 1 วันที่อุณหภูมิที่กรุงเทพลดลงเหลือ 16 องศาเซลเซียส เพียงวันเดียวเท่านั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการอธิบายว่าเป็นเพราะมวลอากาศเย็นจากจีนลงมาอย่างรวดเร็ว ถัดมาปี 2557 สหรัฐอเมริกาถูกหิมะปกคลุมค่อนประเทศด้วยอุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส แต่ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย ครั้งนั้นมีการอธิบายว่า เป็นเพราะ Polar Vortex หรือ Polar cyclone ซึ่งก็คือพายุขั้วโลกเหนือ
ทั้ง 2 เหตุการณ์ยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยงทางวิทยาศาสตร์กับโลกร้อนได้ แต่ความรู้สึกของคนทั่วไปคงตัดสินกันไปแล้ว
ส่วนคราวนี้มีอีกชุดคำอธิบายที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงหนังเรื่อง The day after tomorrow มากที่สุด ในหนังเล่าถึงความหนาวเย็นจนน้ำแข็งเข้าปกคลุมทวีปอเมริกาอย่างเฉียบพลัน เพราะโลกร้อนจนน้ำแข็งขั้วโลกละลายทำให้น้ำจืดลงสู่มหาสมุทร มีผลให้ไปบล็อคการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำอุ่น-เย็นหลักของโลกหยุดเคลื่อนไหว ไม่นำพาความร้อนเย็นไปแลกเปลี่ยนตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเหมือนปกติ
ความหนาวเย็นครั้งนี้ ในแง่สภาพอากาศสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าราวสัปดาห์หนึ่ง แต่คนอาจจะไม่ตระหนักมากนักเพราะคงไม่คิดว่าจะหนาวเย็นขนาดนี้ และกินเวลาหลายวัน
ระบบ กระแสน้ำอุ่น-เย็น (Great Conveyor Belt)
แต่ในแง่ของคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในระดับโลก ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์และสภาพภูมิอากาศโลก สันนิษฐานจากเหตุการณ์แวดล้อมและหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่า “อาจจะเป็นเพราะกระแสน้ำอุ่น-เย็น (Great Conveyor Belt) หลักของโลกเกิดการสะดุด”
ครั้งแรกที่ได้ยินผู้เขียนถึงกับอึ้ง เพราะคิดว่าแม้หนังจะสร้างจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่คิดว่าระบบใหญ่ขนาดนั้นจะมีอะไรไปทำให้ “ขัดข้อง” ได้ ซึ่งคำอธิบายนี้น่าสนใจ แม้ ดร.อานนท์ จะบอกว่า เป็นการคาดเดาด้วยหลักการทางวิทยาสตร์และหลักฐานแวดล้อมก็ตาม
ดร.อานนท์อธิบายว่า เพราะปีนี้เอลนินโญมีความรุนแรงและขนาดใหญ่ จึงอาจส่งอิทธิพลได้ หลักฐานแวดล้อมที่ว่าคือ ตัวที่ 1 ลมตะวันตกที่พัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าหาด้านฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นลมร้อนของเอลนินโญมีความเร็วและความรุนแรงอย่างฉับพลัน พัดพาเอาความร้อนไปสู่น้ำในมหาสมุทรด้านตะวันตก (ฟิลิปปินส์) ความร้อนทำให้น้ำในมหาสมุทรบริเวณฟิลิปปินส์ขยายตัว เห็นได้จากระดับน้ำบริเวณนั้นสูงขึ้น นี่เป็นหลักฐานแวดล้อมตัวที่ 2
หลักฐานแวดล้อม 2 ตัวนี้ ถูกเอามาประมวลกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ จึงสันนิษฐานว่า เมื่อน้ำในมหาสมุทรขยายตัว จึงเกิดโดมน้ำหรือภูเขาน้ำลูกย่อม ๆ ไปบล็อคหรือสกัดการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำอุ่น-เย็น (Great Conveyor Belt) ที่อยู่ระหว่างกำลังไหลเวียนเอาน้ำอุ่นกลับไปผ่านฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก สะดุดชั่วคราว เมื่อไม่มีความร้อนไหลเวียนมาความเย็นจึงส่งอิทธิพลเด่นชัด
ข้อสันนิษฐานนี้ ถูกประกบด้วยหลักฐานแวดล้อมตัวที่ 3 คือ โซนยุโรปและอเมริกาก็เกิดหิมะถล่มและมีความหนาวเย็นเฉียบพลันด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ซีกโลกตะวันตกและตะวันออกจะตรงข้ามกัน เมื่อทั้ง 2 ซีกโลกเกิดเหตุการณ์เหมือนกัน จึงสันนิษฐานว่าเพราะอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่น-เย็น (Great Conveyor Belt) ที่ไม่ไหลเวียนแลกอุณหภูมิกันตามปกติ
ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมลมตะวันตก ซึ่งเป็นลมร้อนของเอลนินโญเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลันทันที เกี่ยวกับโลกร้อนหรือไม่ วิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้
ส่วนผลกระทบจากโลกร้อนนั้นจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยให้ค่อย ๆ เพี้ยนไปจากในอดีต เช่น ความยาวเฉลี่ยของฤดูหนาวสั้นลง อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงขึ้น พายุจำนวนมากขึ้น รุนแรงขึ้น ค่าเฉลี่ยความแห้งแล้งยาวนานขึ้น และแล้งมากขึ้น เป็นวงกว้างมากขึ้น ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตในคาบ 30 ปีที่แล้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทยอยเกิดขึ้นจนคนปัจจุบันสามารถปรับตัวได้ตามสมควร
แต่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเป็นเหตุการณ์ โดยเฉพาะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจนคนไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้ทัน เช่น หนาวเฉียบพลันแบบนี้ หลายคนคงไม่มีเสื้อกันหนาวหนาๆ ใหญ่ๆ เก็บไว้แล้ว เพราะปรับตัวไปแล้วว่า ฤดูหนาวอุณหภูมิไม่ต่ำมากเหมือนในอดีต เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันแบบนี้แม้จะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ค้นหาสาเหตุ เพื่อให้สามารถวางแนวทางรับมือในลักษณะภัยธรรมชาติได้อย่างถูกต้องทันท่วงที