ประกาศ! ประกาศ! ใครที่ต้องการมีรถคันแรกเป็นของตัวเอง สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
แวบหนึ่งในห้วงความคิดของผม หลงละเมอคิดว่าราคาจักรยานคันแรกคงจะถูกลงด้วย เพราะจักรยานก็ถือเป็นรถที่ใช้ในการเดินทางเหมือนกัน
แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ผมกับรัฐบาลคงจะมองโลกจากคนละมุม หรือถ้ายืนอยู่ที่เดียวกันก็คงหันมองคนละทาง แม้บังเอิญหันมามองสิ่งเดียวกัน ก็คิดกันไปคนละประเด็น
ที่ผมรู้คือขณะนี้กรุงเทพฯ ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาการจราจรย่ำแย่ จากรถยนต์ส่วนตัวที่ควรจะมีส่วนพอดีตัวกลับเบ่งขยายจนใหญ่เกินจำเป็น ไม่เชื่อลองพิสูจน์ดูง่ายๆ ก็ได้ครับ เวลารถติดไฟแดงเราลองมองทะลุเข้าไปในบรรดารถเก๋งที่อยู่รอบตัวดูสิครับ (อ๊ะ อย่าเข้าใจผิดครับ ไม่ได้ให้มองหน้าคนขับ เดี๋ยวคุณอาจกลับไม่ถึงบ้าน ^^) แต่ผมให้ลองนับที่นั่งว่างในรถดูครับ สำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยในรถยนต์ส่วนตัวไว้หรือเปล่าผมไม่อาจทราบได้ แต่จากที่เห็นประจำ ผมมั่นใจว่าส่วนใหญ่มีคนนั่งประจำไม่เกิน 2 คน (รวมคนขับแล้วนะ) แล้วที่ว่างที่เหลืออยู่ล่ะ!? เอาไว้วางของ สัมภาระติดตัว ร่ม รองเท้า เน็คไท จิปาถะต่างๆ นานาครับ น้อยครั้งที่เบาะนั่งเหล่านั้นจะได้ทำหน้าที่อย่างที่มันถูกสร้างมาให้เป็นครับ
พื้นที่ส่วนตัวที่เกินตัวเหล่านี้ ส่วนตัวใครๆ ก็ชอบครับ ก็แน่ล่ะมีพื้นที่เหลือรองรับการใช้งานหลายรูปแบบหรือสำรองที่ไว้สำหรับการขยับขยายครอบครัวในอนาคต ฯลฯ แต่ถ้ามองระดับภาพรวมของการจราจร ยิ่งมีพื้นที่ส่วนตัวส่วนเกินมากขึ้น ยิ่งสร้างปัญหาต่อการจราจรครับ มันไปกินที่สาธารณะบนท้องถนนเสียจนไปกระทบการสัญจรอื่นๆ เสียหมด พอรถยิ่งติด คนที่ใช้รถเมล์ รถสาธารณะยิ่งลำบาก เพราะยิ่งติด รถยิ่งมาช้า คนรอขึ้นเยอะ ต้องยืนเบียดกันนานขึ้น ส่วนคนนั่งแท๊กซี่ก็ใช่ว่าจะสบายกว่าเท่าไหรนัก ยิ่งถ้าต้องไปทางที่รถติดเป็นประจำ พี่แท๊กซี่ก็อาจไม่ยอมไปให้ก็ได้ และใช่ว่าทุกคนจะโชคดีมีรถไฟฟ้าผ่านหน้าบ้านกันทุกคน
ณ สถานการณ์การสัญจรขณะนี้ ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายคนเฝ้าฝันถึงวันที่มีรถขับเป็นของตัวเอง ส่วนรัฐบาลประชานิยมก็ออกนโยบายคืนภาษีรถคันแรกให้คนอยากมีรถได้สมหวังกัน ราวกับว่ารถยนต์เป็นสิ่งจำเป็นที่ชั่วชีวิตนี้ต้องมีให้ได้ก่อนตาย โดยเหมือนไม่สนใจเลยว่าการกระตุ้นให้คนมีรถจะทำให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นเพียงไร ถึงขั้นเตรียมเจียดเงินงบประมาณชดเชยภายใน 2 ปีนี้รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท!
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมยิ่งรู้สึกเสียดายเงินภาษีของผม และความตื้นเขินในการออกนโยบายทำให้ผมผิดหวัง
ถ้ารัฐบาลมองว่าประชาชนต้องมีรถให้ได้ก่อนตายอย่างภาคภูมิในชีวิต ผมก็จะบอกว่าคนเมืองควรเปิดรับจักรยานเป็นพาหนะสัญจรหนึ่งเพื่อใช้ชีวิตอยู่บนโลกต่อไปได้อย่างมีลมหายใจสดชื่น แม้อยู่กลางเมือง
เงิน 3 หมื่นล้านบาท ถ้านำมาทำนโยบายส่งเสริมการเดินทางปลอดมลพิษ เราจะทำอะไรได้บ้าง?
– สร้างทางจักรยานได้กว่า 3 หมื่นกิโลเมตร (จากการประเมินงบการสร้างเลนจักรยานรอบวงเวียนใหญ่ เฉลี่ย 1 กิโลเมตรใช้งบประมาณ 7-8 แสนบาท : สำนักจราจรและขนส่ง) อีกแค่หมื่นกิโลเมตรก็เท่ากับเส้นรอบวงของโลกแล้ว
– ซื้อจักรยานรุ่นท๊อบเกรดเอคันละหมื่นได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคัน
แล้วถ้าเราเปลี่ยนนโยบายรถคันแรกเป็นจักรยานคันแรกบ้างดูล่ะ
– ซื้อจักรยานคันแรกปลอดภาษี คุณรู้ไหมครับ ทุกวันนี้เวลาเราซื้อจักรยานดีๆ สายพันธุ์นอก 30% ของเงินที่เราจ่ายเป็นค่าภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือยครับ แม้แต่อะไหล่เป็นชิ้นๆ ก็ต้องจ่ายภาษีอัตราเท่านี้เช่นกัน ถ้าลดภาษีส่วนนี้ลงได้ ไม่มองว่าจักรยานเป็นของฟุ่มเฟือย ประชาชนก็จะมีตัวเลือกในการใช้จักรยานได้มากขึ้น
– สำหรับผู้มีรายได้น้อย อาจสนับสนุนให้ใช้จักรยานโดยตั้งเป็นกองทุนกู้ยืมเงินซื้อจักรยานเพื่อการเดินทาง ผ่อนดอกเบี้ยต่ำตามระยะทางที่ใช้จริง ประมาณว่า ยิ่งปั่นจักรยานบ่อยยิ่งจ่ายดอกฯ ถูกลง
– เนื่องจากจักรยานไม่ใช่ตัวการก่อมลพิษ และไม่จำเป็นต้องบริโภคน้ำมันนำเข้า หากสนับสนุนให้มีการใช้กันมากๆ ก็จะทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่รถยนต์ยิ่งมีมาก ใช้มากยิ่งก่อมลพิษมาก ดังนั้นควรเก็บภาษีมลพิษจากปลายท่อไอเสียรถยนต์มาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการเดินทางปลอดมลพิษอย่างจักรยาน ใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายไม่ต้องรบกวนเงินภาษีประชาชนในส่วนอื่น ทำไปทำมา อาจไม่ต้องรบกวนเงินภาษีอื่นเลยก็ได้ครับ
– เงินที่เหลือ เอามาพัฒนาปรับปรุงทางจักรยานให้ขี่ได้สะดวก ปลอดภัยและที่จอดจักรยานที่จอดแล้วอุ่นใจเสียหน่อยว่าจะไม่หาย ผมเชื่อว่าเงิน 3 หมื่นล้านบาทนี้จะคุ้มค่าสมเป็นเงินภาษีของพวกเราจริงๆ และไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะผู้ใช้จักรยานนะครับ เพราะระบบจักรยานต้องการต้นไม้เพื่อความร่มรื่น แถมยังไม่ก่อมลพิษ ทั้งทางอากาศและเสียง อีกทั้งจักรยานยังช่วยทำให้คนเมืองใส่ใจรายละเอียดรายทางมากขึ้น ดึงจังหวะชีวิตแสนเร่งรีบให้เนิบช้าลง เมืองจะสงบและน่าอยู่ขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ที่มา : คอลัมน์ bike lane นิตยสาร a day พฤศจิกายน 2554