in on December 30, 2016

จักรยาน : พึ่งตนเอง : ประหยัด : แบ่งปัน

read |

Views

“อยากได้จักรยาน เพื่อน ๆ เขามีกัน”

“ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ  หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มากค่อยเอาไปซื้อจักรยาน…”

“ปีใหม่แล้ว  เราไปซื้อจักรยานกัน ดูซิว่าในกระป๋องมีเงินเท่าไหร่”[i]

ใครที่เคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้วคงจะรู้ว่านี่เป็นบทสนทนาระหว่างพระชนนีกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นเพียงเรื่องเล่าเกี่ยวกับจักรยานของพระองค์เพียงเรื่องเดียวที่ผมค้นเจอ

สมเด็จย่าฯ ท่านเจตนาสอนให้ในหลวงเมื่อทรงพระเยาว์รู้จักประหยัดอดออม ด้วยการเก็บเงินค่าขนมหยอดใส่กระป๋องเพื่อนำไปซื้อจักรยาน ซึ่งแม้ในที่สุด ท่านจะแถมเงินให้มากกว่าเงินในกระป๋องที่เก็บได้เสียอีกก็ตาม แต่ผมเชื่อว่านิสัยการประหยัดอดออม และแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเองได้ถูกปลูกฝังหยั่งรากลงไปในจิตใจของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว

เด็กๆ หากได้ของเล่นมาง่ายดาย หลายครั้งเรามักพบว่า เด็กไม่ค่อยเห็นคุณค่าของของชิ้นนั้นสักเท่าไหร่ เล่นเดี๋ยวเดียวก็ทำพัง หรือไม่ก็เบื่อไปเสียก่อน  แต่หากต้องอาศัยความพยายาม วิริยอุตสาหะจนได้มา เด็กๆ จะทะนุถนอมและใช้ของสิ่งนั้นอย่างรู้คุณค่า  สมเด็จย่าอาจหวังผลเช่นนี้ก็เป็นได้

แต่สหกรณ์จักรยานหลายแห่งทั่วโลก ถือว่านี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ในการใส่จักรยานลงไปในใจของใครสักคนหนึ่ง
“สหกรณ์จักรยาน”  หรือ Bicycle Co-op (Bicycle cooperative) อาจยังไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไหร่นัก แต่เป็นที่คุ้นเคยในอเมริกา แคนาดา และอีกหลายใหญ่เมืองทั่วโลก    สหกรณ์จักรยานเป็นคล้ายๆ ร้านจักรยานที่ไม่ได้หวังทำกำไร แต่หวังแบ่งบัน และสร้างประชากรที่รักจักรยานมากกว่า  รูปแบบของร้านมักดูแลกันด้วยระบบอาสาสมัคร เน้นให้ผู้มาใช้บริการต้องลงมือทำเอง มากกว่าการซื้อมา-ขายไปโดยจะมีอาสาสมัครผลัดกันประจำร้านเพื่อคอยช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ  ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่การได้ฝึกซ่อมแซมและบำรุงจักรยานตัวเอง เพราะทำให้เราเกิดความรู้สึกผูกพันกับจักรยานเพิ่มขึ้น มีความรู้และมั่นใจในการปั่นมากขึ้น  นี่เป็นวิธีที่สหกรณ์จักรยานใช้ปลูกฝังความรักจักรยานลงไปในใจของผู้คน และเลยเถิดไปถึงการผูกพันกันระดับชุมชนด้วย เพราะสหกรณ์จักรยานกลายเป็นเสมือนพื้นที่นัดพบที่คนในชุมชนได้มีโอกาสมาใช้เวลาร่วมกันอีกด้วย  ไปๆ มาๆ ร้านจักรยานลักษณะนี้ก็กลายเป็นแหล่งปลูกฝังวัฒนธรรมจักรยานให้แก่เมือง

เป็นเรื่องน่ายินดีที่สหกรณ์จักรยานแห่งแรกในเมืองไทยก็มีแล้ว  ชื่อ สหกรณ์ดอนกุศล (The Don Kuson Community Bike Shop)[ii] เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการมาไม่กี่เดือนนี้เองโดยฝรั่งตาน้ำข้าวชาวสหรัฐฯ คุณ Alexander Martin  ด้วยหวังจะสร้างวัฒนธรรมจักรยานให้เกิดขึ้นในเมืองไทยบ้าง  ผมได้มีโอกาสไปชมร้านอยู่หนสองหน และเริ่มเห็นเด็กๆ ในละแวกนั้นสนุกสนานกับการฝึกซ่อม และปั่นจักรยานกันมากขึ้น

การพึ่งตนเองและการประหยัดอดออมจนได้จักรยานมา เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจในวัยเด็กแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงผ่านบทเรียนนี้มาเหมือนกับประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ

ครั้งหนึ่ง ผมได้รับโทรศัพท์จากรุ่นพี่นักเศรษฐศาสตร์คนนึง  แกชวนให้ผมช่วยไปเลือกซื้อจักรยานเป็นเพื่อนแกหน่อย ด้วยเหตุผลที่แปลกหูที่สุดที่เคยได้ยินมาว่า“จักรยานเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อหนี้”  แกขยายความต่อให้เข้าใจว่า จักรยานมีไว้ใช้แล้วไม่ขาดทุน  เพราะเวลาใช้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต่างจากรถยนต์ ที่ต้องเติมน้ำมันเติมแก๊ส ถึงจะสามารถขับเคลื่อนได้  ไหนจะค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคาอีกมากมาย  แต่จักรยานยิ่งใช้ ยิ่งได้ ได้ออกกำลังกาย ได้สุขภาพดี มีค่าบำรุงและค่าเสื่อมราคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การซื้อจักรยานจึงเป็นการลงทุนที่มีโอกาสคุ้มทุนและกำไรสูง หากได้ปั่นบ่อยๆ

ผมฟังแกไปก็คล้อยตามไปด้วย  ตลอด 10 ปีที่ผมปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันมา หากคิดเล่นๆ ว่าประหยัดค่าโดยสารรถเมล์/มอเตอร์ไซค์ได้วันละ 40 บาท  เท่ากับผมประหยัดเงินไปได้เกือบ ๆ หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแล้วทีเดียว  หากคิดว่าปั่นจักรยานทดแทนการขับรถยนต์ ไม่แน่ว่าอาจประหยัดเงินไปได้ถึงหลักล้านก็ได้ นี่ยังไม่ได้นับเรื่องสุขภาพและเวลาเลยด้วยซ้ำ

(เดี๋ยวขอไปถ่ายใหม่นะครับ รูปนี้ copyมาจากในเน็ทครับ)

จริงๆ แล้วการเปรียบเทียบจักรยานกับพาหนะแต่ละชนิดบนถนน ถูกใช้ในการรณรงค์ ต่างกรรมต่างวาระอยู่บ่อยครั้ง  แต่มีองค์กรหนึ่งทำแล้วน่าสนใจมาก เพราะเป็นการรวบรวมข้อมูลที่แบ่งปันจากผู้ใช้จักรยานจริงๆ ทั่วโลก มาประมวลผลให้เห็นกันจริงๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เวลา ความถี่ในการปั่น ระยะทาง ความเร็ว และแปรผลเปรียบเทียบไปถึงจำนวนคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงที่เราประหยัดได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับนักออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการใช้จักรยานทั้งนั้น

หากเราสมัครร่วมแบ่งปันข้อมูลนี้  ทุกครั้งที่เราปั่นจักรยานเสร็จ โปรแกรมจะคำนวณให้เห็นเปรียบเทียบว่า หากไม่ปั่นจักรยานแต่ขับรถหรือนั่งรถสาธารณะแทน เราจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง และหากอยากดูข้อมูลรายละเอียดอื่นๆ ก็สามารถดูได้เช่นกัน ทั้งในระดับตนเอง ระดับเขต ระดับเมือง ไปจนถึงระดับโลก

โครงการนี้มีชื่อว่า Bike Data Project ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก ภาพยนตร์สารคดี Bikes VS Cars ฉายไปทั่วโลก (สามารถดู รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  http://bikes-vs-cars.com)

โดยข้อมูลเช่นนี้เอง ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงของการปั่นจักรยานของเรา ของชุมชนเรา เชื่อมเข้ากับชุมชนโลก   ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ปั่นจักรยาน และหวังอยากให้เมืองเอื้อต่อการปั่นมากขึ้น คนจำนวนมากทั่วโลกก็คิดเช่นเดียวกันกับเรานะ  เมื่อเห็นความเชื่อมโยงนี้แล้ว ผมรู้สึกอบอุ่นขึ้นมากเลยทีเดียว
เมื่อปั่นจักรยานมานาน แล้วมองย้อนไปในอดีต ผมเห็นพลังที่ซ่อนอยู่ในวิถีจักรยาน เพราะมันเป็นประสบการณ์ตรงที่พิสูจน์ให้เห็นว่า จักรยานทำให้ให้เราอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองได้  จักรยานทำให้เรามีวิถีที่ประหยัดมากขึ้น และสุดท้ายวิถีจักรยานยังเอื้อเฟื้อให้เราแบ่งปันกันอีกด้วย ซึ่งข้อหลังนี้น่าประหลาดใจ และแตกต่างจากวิถีรถยนต์อย่างสิ้นเชิง เวลาขับรถ หากเจอรถเยอะๆ เรามักจะหงุดหงิดเพราะจะทำให้รถติด เมื่อรถติดมากๆ ความเร่งรีบก็จะเป็นเหมือนเชื้อไฟให้เราเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น  ต่างกับจักรยาน เมื่อใดที่เห็นคนปั่นกันมากๆ เรากลับรู้สึกดีใจ อาจจะด้วยความรู้สึกปลอดภัย มีเพื่อนร่วมทางหรือเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้คงทำให้เรารู้สึกอยากแบ่งปัน หรืออยากชวนให้คนออกมาปั่นจักรยานกันเยอะๆ ก็เป็นได้ สหกรณ์จักรยานอาจผุดขึ้นมามากมายหลายเมืองทั่วโลก ด้วยเหตุผลเช่นนี้

แต่คงจะบอกไม่ได้หรอกว่า การที่เรามีกษัตริย์นักพัฒนา ที่ประหยัดและแบ่งปันมากที่สุดพระองค์หนึ่ง มาจากบทสนทนาของสมเด็จย่าในครั้งนั้น แต่คำสอนที่ดี และบรรยากาศที่เอื้อเฟื้อต่อกันและกัน ย่อมเป็นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคน


จากนิตยสาร “สารคดี” ฉบับที่ 382 เดือนธันวาคม 2559

[i]อ้างอิง บทสนทนาระหว่างสมเด็จย่ากับในหลวงรัชกาลที่ 9 จากหนังสือ จักรยานกระป๋องคนจน เจ้าฟ้าแห่งสยาม สำนักพิมพ์ยอดมาลา เขียนโดย ยอดมาลา มาลา เรียบเรียงโดย อาร์ม นพคุณ

[ii]ติดตามThe Don Kuson Community Bike Shopได้ที่ https://www.facebook.com/DonKusonCBS/

ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share