in on March 7, 2016

จำกัดความเร็ว จำกัดความตาย

read |

Views

ขับรถที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลากี่วินาที เพื่อหยุดรถ?

1

ขับรถที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลากี่วินาที เพื่อหยุดรถ?*

นี่น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญในการขับรถ แต่ผมกลับพบคำถามทำนองนี้แต่ในโจทย์วิชาฟิสิกส์ (ลองกูเกิ้ลดูสิครับ)

1390373564

ภาพจาก: http://board.postjung.com/716445.html

ส่วนในเว็บบอร์ดพูดคุยเรื่องรถและในโฆษณารถยนต์ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องระยะหยุดมากไปกว่าอัตราเร่ง หรืออัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน

หลายต่อหลายคนยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเร็วเกินที่กฎหมายกำหนดกันอย่างหน้าตาเฉย (ที่จริงก็ไม่ได้เห็นหน้าเขาหรอกนะครับ เดาเอา -,-)  บางที เราอาจคิดว่าขับเร็วแต่ไม่ไปชนใครก็ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่เดี๋ยวก่อน ในปี 2010  ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ 38.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในทุกๆ ปี หนีไม่พ้น 3 เรื่อง คือ 1.ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  2.เมาแล้วขับ  3.ขับรถโดยประมาท

ประเทศไทยได้เข้าร่วมรณรงค์ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่ปี 2011-2020 ตามมติของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2010 หรือที่เรียกกันปฏิญญามอสโก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อ “ลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยลดลงครึ่งหนึ่ง หรือใน อัตราที่ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ภายในปี 2020” ..(1)..

แต่เมื่อต้นปี 2014  University of Michigan ได้เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยซึ่งระบุว่า อัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนของไทยสูงถึง 44 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ทำให้ประเทศไทยครองตำแหน่งแชมป์ถนนอันตรายอันดับ 2 ของโลก ..(2).. เป็นรองเพียงประเทศ Namibia (สถิติ 45 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน) ที่อยู่ทวีปแอฟริกาใต้เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามาตรการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของเรายังไม่เป็นผลเท่าที่ควร

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ปี 2013) ..(3).. ระบุว่า ในบรรดาการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมาย 4 ประเด็นสำคัญของประเทศไทยอันได้แก่ 1.การควบคุมความเร็ว 2.เมาไม่ขับ  3.ใส่หมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน  4.คาดเข็มขัดนิรภัย  เรื่องการควบคุมความเร็ว มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด ได้คะแนนเพียง 3 เต็ม 10  ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็อยู่ในเกณฑ์เกินครึ่งมาฉิวเฉียดเท่านั้น

2

อัตราความเร็วสูงสุดตามกฎหมาย

Screen Shot 2559-03-03 at 6.26.30 PM

ภาพจาก: http://www.rodweekly.com/knowledge_detail.php?q_id=681

หากขับรถความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 67 และมาตรา 152   แล้วยังถูกหักคะแนน ส่งเข้ารับการอบรม และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ตามมาตรา 161 วรรคสามอีกด้วย

ถ้าว่ากันตามที่ระบุในกฎหมาย ผมคิดว่าบทลงโทษของบ้านเราก็มีความเข้มงวดพอสมควร ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปรับเงินจนสามารถพักใช้ใบขับขี่ได้  แต่การบังคับใช้จริงหละหลวมมากจนแทบเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะสังเกตเห็นรถยนต์ขับเร็วเกินกำหนดในแทบทุกถนนในทุกๆ วัน

มีงานวิจัยอุบัติเหตุทางถนน ..(4).. ยืนยันว่าความเร็วสัมพันธ์กับโอกาสในการรอดชีวิต ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเกิดชนคนข้ามถนน (สำหรับคนขี่จักรยานก็คงไม่ต่างกัน) มีโอกาสสูงถึงร้อยละ 90 ที่คนถูกชนจะรอดชีวิตหรือไม่บาดเจ็บรุนแรง  แต่หากรถชนคนในความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป โอกาสรอดชีวิตแทบจะเป็น 0

ภาพจาก: http://global.umich.edu/2014/02/thai-roads-ranked-no-2-for-traffic-deaths/

ดังนั้นในหลายๆ ประเทศที่เป็นมิตรกับคนอยู่ จึงกำหนดให้อัตราความเร็วสูงสุดในเขตเมืองวิ่งได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เพราะห่วงใยชีวิตมากกว่าการอำนวยความสะดวกรถยนต์

สำหรับเมืองไทยแม้ในถนนสายหลักของกรุงเทพฯ จะกำหนดให้วิ่งได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่สถิติในทุกๆ ปีสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาเร่งด่วน รถยนต์ไม่เคยทำความเร็วเฉลี่ยได้เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลย แต่ก็ยังมีข่าวรถยนต์ชนคนข้ามถนนเสียชีวิตอยู่เสมอ

3

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับจักรยานเข้าครองพื้นที่สื่อกระแสหลักอีกครั้ง และเป็นข่าวไม่ดีอีกตามเคย เกิดเหตุรถกระบะขับแซงซ้ายชนครอบครัวนักปั่นจักรยานรอบโลกจนเป็นเหตุให้นายฮวน ฟรานซิสโก ชาย ชาวชิลี วัย 48 ปี เสียชีวิต ภรรยาและลูกได้รับบาดเจ็บบนถนนมิตรภาพ ช่วงรอยต่อระหว่างขอนแก่น-โคราช เป็นความสูญเสียที่เหมือนฝันร้าย ตามหลอกหลอนนักปั่นจักรยานในเมืองไทยอีกครั้ง  เพราะหากย้อนกลับไปปีที่แล้วในช่วงเดือนเดียวกัน ชาวโลกต่างรับรู้ถึงข่าวของสองสามีภรรยาชาวอังกฤษที่ปั่นจักรยานรอบโลกมาหลายสิบประเทศ แต่ต้องมาจบชีวิตที่เมืองไทย

ความสูญเสียของนักปั่นจักรยานรอบโลกทั้ง 2 ครั้งนี้  ปลุกกระแสให้สังคมมาถกเถียงถึงมาตรฐานความปลอดภัยบนถนนบ้านเรา ที่นับวันจะยิ่งมีแนวโน้มแย่ลง แทบทุกฝ่ายมองว่า ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น ออกใบขับขี่ให้ยากขึ้น ใช้บทลงโทษที่รุนแรงขึ้น  ในส่วนของผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรมีสติตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเคารพกฎจราจรให้มากขึ้น

ผมในฐานะคนขี่จักรยาน ฟังๆ ดูแล้วยังไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก เพราะแม้ว่าแต่ละวิธีจะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้จริง แต่หลายต่อหลายครั้งที่บ้านเรามักกระตือรือร้นแบบไฟไหม้ฟาง เข้มงวดกวดขันเดี๋ยวเดียวก็ลืมๆ มันไป เช่นอีเว้นท์รณรงค์ต่างๆ

หลายวันก่อนผมได้อ่านบทความของคุณสฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy) ซึ่งเสนอไอเดียประชาธิปไตยแบบเอาข้อดีของประชาธิปไตยทางตรงและแบบผู้แทนมารวมกัน โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัย ที่ทำให้การจัดการ รับส่งข้อมูลต่างๆ สามารถทำได้โดยไม่มีภาระต้นทุนและเงื่อนไขเวลาแบบในอดีต ทำให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะได้มากกว่า 3 นาทีในคูหาเลือกตั้ง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://thaipublica.org/2014/11/liquid-democracy-1/ )

ถ้าเรื่องใหญ่อย่างระบบการบริหารบ้านเมืองใช้เทคโนโลยีช่วยให้เกิดทางออกใหม่ๆ ได้  ผมคิดว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็น่าจะพัฒนาตามเทคโนโลยีได้เช่นกัน

ในอดีตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ตำรวจจะสามารถตรวจสอบรถทุกคันบนถนนว่าละเมิดกฎจราจรอะไรบ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนั่งติดรถเราไปทุกที่  ต่อมาในระยะหลัง มีกล้องวงจรปิดช่วยตรวจสอบรถฝ่าไฟแดงตามสี่แยกต่างๆ  มีกล้องดักจับรถที่วิ่งเร็วเกินกำหนดตามทางด่วน และทางหลวงพิเศษต่างๆ ช่วยให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวมากขึ้น  แม้จะมีตัวช่วยเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไกลจากคำว่าครอบคลุมอยู่ดี

ถ้าเราตั้งใจลดจำนวนผู้เสียชีวิตจาก 44 คน ให้เหลือ 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนจริงๆ คงต้องใช้เทคโนโลยีช่วยมากกว่านี้ เช่น สร้างระบบ GPS Tracking เพื่อใช้ควบคุมรถยนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยบังคับรถทุกคันที่ต่อภาษีให้ติดเครื่องจีพีเอสติดตามรถแบบที่ใช้ในรถส่งสินค้า (เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักพันเท่านั้น) ซึ่งนอกจากจะบอกตำแหน่งที่อยู่แล้วยังบันทึกข้อมูลความเร็วได้อีกด้วย  เมื่อใดที่ขับด้วยความเร็วเกินกำหนด  ระบบจะเตือนและส่งข้อมูลมาให้ตำรวจออกใบสั่งปรับได้โดยอัตโนมัติ ถ้าทำได้อย่างนี้ คะแนนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมความเร็วต้องเพิ่มมากกว่า 3 เต็ม 10 แน่ และจีพีเอสยังมีประโยชน์ในการติดตามรถต้องสงสัยหรือรถโจรกรรมอีกด้วย  หากจะพัฒนาไปมากกว่านั้นอาจพัฒนาโปรแกรมให้ต้องเสียบใบขับขี่ก่อนออกสตารท์ให้ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าบัตรเชื่อว่าน่าจะสามารถลดจำนวนคนไร้วินัยบนท้องถนนลงได้

ในเมื่อความอันตรายบนท้องถนนเกิดจากบรรดารถใช้เครื่องยนต์ทั้งหลาย  คนเดินถนนและพาหนะเล็กๆ อย่างจักรยานที่ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้อื่นน่าจะมีสิทธิเรียกร้องความรับผิดชอบจากรถที่ใหญ่กว่าเหล่านี้ได้ หากถนนยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการสัญจรจริงๆ และหากรัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าสังคมเราจะมีนวัตกรรมเจ๋งๆ อีกมากมาย

*เฉลย : ใช้เวลาไม่กี่วินาทีหรอก แต่ต้องใช้ระยะทางมากถึง  50 – 80 เมตร เพื่อที่จะหยุดรถได้สนิท โดยระยะราว 15 – 30 เมตรแรกหมดไปกับการตัดสินใจเบรกเท่านั้น

อ้างอิง
  1. http://www.roadsafetycontrol.com/th/rsc-policy.html
  2. http://global.umich.edu/2014/02/thai-roads-ranked-no-2-for-traffic-deaths/
  3. http://www.who.int/violence_injury_prevention/road_safety_stat us/2013/country_profiles/thailand.pdf
  4. Fact road safety-speed ขององค์การอนามัยโลก http://www.who.int/violence_injury_prevention/publications/road _traffic/world_report/speed_en.pdf
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share