in on April 7, 2015

ดราม่าหมอกควัน ถึงวันสะท้อนเรื่องจริง

3 min read |

Views

จั่วหัวแบบนี้คงมีท่านผู้อ่านบริพาษผู้เขียนกันเป็นขบวนใหญ่แน่ ที่บังอาจกล่าวหาปัญหาหมอกควันที่กลบภาคเหนือ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันหลายจังหวัดว่า “ดราม่า”

ที่ว่าดราม่าก็เพราะผู้เขียนมองว่า พอถึงฤดูแล้งกันทีก็มีรายงานข่าวเรื่องปัญหาหมอกควันกันที  แต่ละสื่อก็หามุมที่จะสะท้อนความเดือนร้อน สุขภาพที่เสื่อมโทรม อากาศที่อยู่ยาก หายใจลำบาก จนถึงขั้นคำเตือนห้ามออกนอกเคหสถานถ้าไม่จำเป็น ภาพที่เน้นก็จะเน้นภาพขมุกขมัว ผู้ป่วย เด็ก คนชรา การใช้ผ้าปิดหน้าปิดจมูกและบางสื่อก็ดราม่าได้ถึงกับตามจับคนเผาไร่ได้คาหนังคาเขา คาไม้ขีด ปานว่า “ไชโย…จับคนเผาได้แล้ว ปัญหาจะได้จบเสียที” ฝ่ายหน่วยงานราชการก็ดราม่าโปรยน้ำลดฝุ่นควัน ออกตรวจลาดตระเวนปราบปรามการเผาไร่ และอื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่จะคัดสรรกลยุทธ์ออกมาเพื่อแสดงบทบาทในการอินชาร์จปัญหา ส่วนประชาชนก็ได้แต่เฝ้ารอการได้ผลของมาตรการเหล่านั้น (จนกระทั่งฝนมา อย่างนี้ทุกปี)

ผู้เขียนติดตามข่าวเรื่องนี้ทางสื่อต่างๆ พบว่า “ไทยพีบีเอสออนไลน์” รายงานได้อย่างน่าสนใจ คือไปเอาแผนที่ดาวเทียมที่แสดงให้เห็นจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไร่เผาป่ามาอธิบายว่าการเผาเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร ตามข่าวของ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” บอกว่า ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) อธิบายว่า จุดที่เกิดการเผาปีนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ แต่วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของไทยในช่วงเช้าเกิดจากกิจกรรมการเผาในท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่หุบเขาอย่างแอ่งเชียงราย แอ่งเชียงใหม่ แอ่งแม่ฮ่องสอน ส่วนปัญหาในช่วงตอนบ่ายเกิดจากหมอกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสมทบทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น

นี่คือความจริงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ตามข่าวดังกล่าวระบุว่า “ดร.อานนท์กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในเมียนมาร์มีความรุนแรงมากกว่าไทยประมาณ 5-10 เท่าต่อพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างเยอะในแต่ละปี ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนนั้นได้มีการหารือเรื่องปัญหาหมอกควันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบจากการเผาป่าพรุเพื่อปลูกปาล์มในอินโดนีเซียเช่นเดียวกันโดยสถานการณ์ในช่วงหลังเริ่มดีขึ้น แต่ไทยประสบปัญหาการเผาซ้ำซากจากการปลูกพืชล้มลุกอย่างข้าวโพด”

นั่นไงต้นตอที่เป็นเรื่องจริงได้รับการยืนยันจากนักวิชาการที่มีน้ำหนักอีกคนแล้ว

สิ่งที่สะท้อนเรื่องจริงนี้ผู้เขียนยังพบในงานวิจัยวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนใน จ.น่าน” ซึ่งเป็นงานความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด โดย สฤณี อาชวานันทกุล และคณะ ได้วิจัยทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณตลอดระยะเวลาครึ่งปี ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ จังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และตำบลป่าแลวหลวง ในอำเภอสันติสุข และตำบลอวน ในอำเภอปัว เพื่อจัดทำแผนที่และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน รวมถึงค้นหาศักยภาพในการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนซึ่งได้ยกบทสรุปมาให้เห็นประเด็นได้อย่างชัดเจน ดังนี้

คณะวิจัยพบว่า พฤติกรรมของเกษตรกรรายย่อยซึ่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชัน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกแล้ว พื้นที่ชันส่วนใหญ่ยังเกิดจากการบุกรุกป่าต้นน้ำสำคัญ ซึ่งจากการคำนวณเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ระหว่างปี 2545-2556 พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่วิจัยในลุ่มน้ำยาว-อวน-มวบ ในตำบลป่าแลวหลวง พงษ์ ดู่พงษ์ และอวน ร้อยละ 60 หรือ 35,440 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งได้มาจากการบุกรุกป่า

นอกจากนี้ การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชันยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ ปัญหาอุทกภัยอันเนื่องมาจากการมีพื้นที่ป่าลดลง ปัญหาหมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่ เนื่องจากที่ดอนไม่สามารถใช้วิธีไถกลบแบบพื้นที่ราบได้ และปัญหาต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีเกินขนาด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าที่ดอนต้องใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าปริมาณปลอดภัยที่ระบุบนฉลาก

จากการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิจัยพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญที่มีอำนาจในการต่อรองสูงอันดับแรก คือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตตัวจริงที่มีอยู่น้อยราย ซึ่งปัจจุบันเบทาโกร และเครือซีพี เป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายสำคัญจากผลผลิตทั้งหมดในพื้นที่วิจัย ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% และ 28% ตามลำดับ ดังนั้นหากโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุดเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิต เช่น ห้ามเปลี่ยนป่าไม้เป็นพื้นที่การเกษตร ห้ามใช้สารเคมีเกษตรในระยะเกิน 5 เมตรจากแหล่งน้ำถาวร ก็จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพ

นอกจากโรงงานอาหารสัตว์แล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกรายที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรได้คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดน่าน  โดย ธ.ก.ส. ควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่ขอกู้เงิน เช่น เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิมาแสดงในการขอรับสินเชื่อตามนโยบายที่กำหนดไว้ แทนที่จะกำหนดแต่เฉพาะเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก เช่น ใช้เพียงบุคคล 5 คนมาค้ำประกันเงินกู้แบบกลุ่มก็กู้ได้ ดังที่ใช้จริงอยู่ในขณะนี้”

แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่าน แต่จากบทความ สื่อท้องถิ่นอื่นๆ ก็พอจะประมวลได้ว่า  ทั่วทั้งภาคเหนือ ต่างตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกัน  ข้อมูลที่ยกมาให้ได้อ่านกันนี้ คงไม่ต้องการการสรุปใดๆ อีก  ผู้เขียนได้แต่หวังว่า ปัญหาหมอกควันจะได้รับการแก้ได้ตรงจุดเรื่องจริงมากกว่าที่จะดราม่ากันต่อไปทุกปี

อ้างอิง
  1. ภาพโดย: Rungsrit Kanjanavanit
  2. ภาพโดย: Ronnapob Chanapim
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share