ต้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี นักดูนกและนักนิยมธรรมชาติแขนงต่างๆ มีนัดกันที่ดอยอินทนนท์ในงาน Inthanond Census จัดโดยชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ด้วยพลังความร่วมมือจากจิตอาสาที่มีความรู้และทักษะจำนวนหลักร้อยคนทั่วประเทศ
จุดประสงค์คือร่วมลงแขกแยกย้ายกันสำรวจข้อมูลนกและความหลากหลายทางชีวภาพด้านอื่นๆ ที่ถนัด เพื่อติดตามเฝ้าระวังตรวจสุขภาพธรรมชาติดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย แหล่งระบบนิเวศไม่ธรรมดา บ้านของพืชและสัตว์หายาก หลายชนิดเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น ไม่พบที่อื่นใดในโลก
ปีนี้ ทีมนักสืบสายน้ำจากมูลนิธิโลกสีเขียวได้ขึ้นไปสำรวจสุขภาพของสายน้ำในย่านบ้านขุนวาง
บ้านขุนวางตั้งอยู่ใกล้ๆ กับที่ทำการอุทยานฯ ในระดับความสูงราว 1,400 เมตรเหนือน้ำทะเล เดิมเป็นไร่ฝิ่นชาวม้ง แต่เมื่อปี 2525 ได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางขึ้นมาตามพระราชดำริ เป็นสถานีทดลองและขยายพันธุ์พืชเกษตรบนที่สูง ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจแทนฝิ่น ตั้งแต่พืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลเมืองหนาว จนถึงปัจจุบันมีการเลี้ยงปลาเมืองหนาวราคาดีอย่างปลาทร้าวท์และปลาสเตอร์เจียนตัวผลิตไข่ปลาคาเวียร์
โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เมื่อ 36 ปีก่อน แต่ถึงวันนี้แล้ว เราควรจะดูด้วยไหมว่ากิจกรรมเหล่านั้นส่งผลกระทบอะไรต่อธรรมชาติแวดล้อม
เริ่มด้วยสำรวจคุณภาพน้ำ
เราลงสำรวจทั้งหมดสามจุด ได้แก่ 1) บริเวณใต้น้ำตกสิริภูมิ ก่อนไหลลงสู่พื้นที่แปลงเกษตร จุดนี้จะใช้เป็นจุดอ้างอิงของคุณภาพน้ำตามธรรมชาติในบริเวณนั้น 2) บริเวณใต้น้ำที่ไหลผ่านแปลงเพาะปลูก ก่อนจะไหลลงสู่โซนบ่อเลี้ยงปลาทร้าวท์ และ 3) บริเวณท้ายน้ำใต้บ่อเลี้ยงปลาทร้าวท์
ผลสำรวจจุดที่ 2 และ 3 เปรียบเทียบกับจุดเหนือน้ำจะแสดงถึงผลกระทบจากกิจกรรมนั้น
ลำธารใต้น้ำตกสิริภูมิหรือจุดเหนือน้ำของเราพบแมลงน้ำหลากหลายมากมาย บันทึกได้ 18 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ชอบน้ำสะอาดหรือสะอาดมาก ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ขนาดของสัตว์ที่พบก็ตัวโต บางตัวเป็นชนิดที่มีอายุได้หลายปี จึงน่าจะแสดงถึงสภาพลำธารและคุณภาพน้ำที่ดีอย่างต่อเนื่อง
แตกต่างมากมายกับน้ำใต้แปลงเกษตรและใต้บ่อปลาทราวท์ ซึ่งผลออกมาคล้ายๆ กัน คือพบสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังเพียง 7-8 ชนิด ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสัตว์ทนมลภาวะ เช่น ปลิงน้ำจืด และหอยคันกับหอยปากบางที่ปกติไม่พบในลำธารบนภูเขาน้ำสะอาดไหลแรง
แมลงน้ำที่พบมีขนาดเล็กมาก เหมือนเพิ่งออกจากไข่ หรือเป็นชนิดที่มีวงจรชีวิตสั้นมาก ซึ่งน่าจะแสดงถึงการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นระยะๆ ใช้ทีก็ล้างบางเผ่าพันธุ์แมลงในน้ำที เหลือแต่หอยกับปลิง แล้วแม่แมลงค่อยบินมาวางไข่ใหม่ จึงเห็นแต่แมลงรุ่นเดียวขนาดเดียวตัวจิ๋วๆ
การเกษตรบนดอยอินทนนท์เป็นเกษตรปลูกเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้น ต่อให้ไม่ลงสำรวจคุณภาพน้ำก็รู้ว่าใช้สารเคมีต่างๆ มากมาย เพราะขวดกระป๋องที่โยนทิ้งๆ ไว้มันฟ้อง สารเคมีเหล่านี้ทำลายทั้งชีวิตในดินและชีวิตในน้ำ ไม่เพียงแค่นั้น แปลงดอกไม้เมืองหนาวยังเปิดไฟสว่างไสวในเวลากลางคืนเลียนแบบฤดูซัมเมอร์เมืองฝรั่งที่มีช่วงเวลากลางวันยาว อยู่ในอุทยานแห่งชาติแต่แลดูเหมือนเมืองใหญ่เต็มไปด้วยแสงสี คงไม่ต้องอธิบายตรงนี้ว่าแสงไฟฟ้านี้เป็นมลภาวะแสงในตอนกลางคืนอย่างไร ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าต่างๆ อย่างไรบ้าง
วิถีเกษตรเช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่ในโลก กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณผลกระทบและพบว่าสร้างวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกรุนแรงยิ่งกว่าปัญหาโลกร้อนโดยตรงเสียอีก ยังไม่ต้องพูดถึงการเกษตรที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ในขณะที่ธุรกิจที่อื่นๆ ล้วนถูกกดดันให้ประกอบการให้เขียวขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ธุรกิจและการประกอบการที่ตั้งอยู่ในอุทยานฯ จะไม่ใส่ใจกันเลยเชียวหรือ?
ถึงเวลาหรือยังที่เกษตรดอยอินทนนท์จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ และมีการเว้นโซนดงพืชธรรมชาติอย่างพอเพียงริมแหล่งน้ำเพื่อบรรเทามลพิษที่ชะล้างลงมา เลิกนำสัตว์พืชต่างถิ่นตัวใหม่ๆ เข้ามาส่งเสริมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่มีพืชสัตว์เฉพาะถิ่นสมควรปกป้องดูแล ล่าสุดเห็นว่ามีแกะด้วย นัยว่านักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูป ได้ดูเหมือนไปเที่ยวเมืองนอก
ปัจจุบันหลายบ้านในขุนวางปรับธุรกิจมาทำที่ตั้งแคมป์กลางแปลงดอกไม้ฉีดยาฉายไฟ แต่เกษตรธรรมชาติก็สามารถพัฒนาไปเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เช่นกัน ดีกว่าด้วย ขายสุขภาพได้ แถมได้เห็นหมู่ดาวระยิบระยับ ปราศจากมลภาวะแสงส่องจ้าจากแปลงดอกไม้
ส่งเสริมให้คนมาเที่ยวได้ แต่ทำไมจะอยากให้ผู้มาเยือนลืมเลือนว่าอยู่ที่ไหน ทำไมอยากให้ฝันว่าได้ไปเที่ยวเมืองนอกเหมือนฉากละครช่อง 3 ช่อง 7 ทำไมไม่ให้รู้ว่านี่เราได้มาดอยอินทนนท์นะ ธรรมชาติวิเศษเจ๋งจริงในประเทศไทย
สูงขึ้นไปถึงอ่างกาหลวง ยอดดอยสูงสุดแดนสยาม เป็นพื้นที่ป่าเมฆพรุแห่งเดียวในประเทศ แต่กลับมีค่ายทหารใหญ่ 300 นายประจำการสถานีเรดาร์ ถึงยุคนี้แล้วมันจำเป็นหรือ? สูบน้ำไปใช้จากอ่างกาจนพื้นที่ชุ่มน้ำยุบตัวลง ต้นกุหลาบพันปีขนาดใหญ่ประมาณอายุไม่ได้ล้มลง พรุข้าวตอกฤษีเหือดหายไป สมควรทบทวนไหมว่าจำนวนทหารดูแลเรดาร์จริงๆ แล้วต้องมีกี่คน?
ถึงเวลาเปลี่ยนการใช้พื้นที่ดอยอินทนนท์หรือยัง?
ก่อนจะเหลือเพียงตำนาน
กรุงเทพธุรกิจ, เมษายน 2561