in on July 29, 2016

ทวงคืนผืนป่า หรือจะกลายเป็นขี่ช้างจับตั๊กแตน?

read |

Views

ปลูกเลยกิจกรรมปลูกป่าที่จังหวัดน่าน กลายความขัดแย้งขึ้นมาแบบอาจจะเรียกได้ว่าเหนือความคาดหมาย เพราะชาวบ้านในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องยืนมองที่ดินทำกินถูกไถปรับที่ แล้วให้คนเมืองโลกสวยมาปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำ ขณะที่กลุ่มปลูกเลยก็ไปด้วยจิตเจตนาดีที่ต้องการมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำของประเทศ โดยได้รับข้อมูลว่า น่านเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่ป่าต้นน้ำมีความวิกฤตจากการถูกบุกรุกขยายพื้นที่ทางการเกษตร แต่กลับถูกทำให้จิตตกเมื่อเจอกับการต่อต้านในพื้นที่

Screen Shot 2559-07-13 at 11.27.35 AM

มาตรการทวงคืนผืนป่า เกิดขึ้นแบบต่างฝ่ายต่างถือข้อเท็จจริงที่ยืนกันคนละด้าน ฝ่ายรัฐก็ถือข้อเท็จจริงว่า ป่าต้นน้ำน่านถูกบุกรุกทำลายลงจำนวนมากในระยะเพียง 20 ปีที่ผ่านมาจนหลายแห่งเป็นเขาหัวโล้นประกอบกับความเป็นภูเขาสูงชันเมื่อเกิดฝนตกหนักก็จะมีปัญหาน้ำบ่าท่วมอย่างรวดเร็วและดินโคลนถล่มขณะที่ฤดูแล้งความสามารถในการดักจับเมฆฝนและให้น้ำของผืนป่าต้นน้ำก็ลดน้อยลง

ขณะที่ชาวบ้านก็ถือข้อเท็จจริงที่ว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่อีกถึงร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางก็ไม่ใช่ผืนใหญ่ติดต่อกัน แต่เป็นการกระจายเป็นหย่อมๆเท่านั้น แต่ก็ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำมาหากิน และต้องตกเป็นจำเลยสังคมจากแรงผลักดันของทุนนิยมขนาดใหญ่ที่เกษตรกรทั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของความไม่ยั่งยืนของการปลูกข้าวโพดในระบบที่คล้ายเกษตรพันธะสัญญา ขณะที่รัฐเองก็ปล่อยปละละเลยจนพวกเขาถลำลึกกับเกษตรกรรมแบบนั้น ไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำและทิศทางที่ยั่งยืนว่าคืออะไร

เมื่อมาถึงวันนี้รัฐประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยยึดพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางเอาคืนมาปลูกป่า โดยชาวบ้านไม่มีระยะเวลาเตรียมตัวและไม่ได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกให้แก่ชีวิตของพวกเขา กลุ่มปลูกเลยซึ่งเป็นปลายทางจึงคล้ายเป็นจำเลยของชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยวิเคราะห์ข้อมูลตามนโยบายทวงคืนผืนป่าไว้ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าทั้งประเทศ 102 ล้านไร่หรือคิดเป็น 31% เป็นป่าในพื้นที่อนุรักษ์ 60 ล้านไร่ ถูกบุกรุกอยู่ประมาณ 5 แสนไร่ เป็นป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 40 ล้านไร่ ซึ่งถูกบุกรุกอยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ หรือมีพื้นที่ถูกบุกรุกอยู่ราว 1 ล้าน 5 แสนไร่ เมื่อนโยบายป่าไม้ ต้องการเพิ่มให้เป็น 40% ของพื้นที่ประเทศคือ 128 ล้านไร่  โดยใช้มาตรการทวงคืนผืนป่า จึงมีเป้าหมายให้กรมป่าไม้ทวงคืนผืนป่าจากพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกอยู่ 400,000 ไร่ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทวงคืนอีก 200,000 ไร่ เท่ากับมีเป้าหมายการทวงคืนผืนป่าทั้งหมด 600,000 ไร่เท่านั้น แต่หากต้องการฟื้นฟูป่าให้ได้ตามจำนวน 128 ล้านไร่ ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่จึงจะได้ตามเป้าหมาย

มาตรการนี้จะทำให้ได้ป่ากลับมา 600,000 ไร่ จากทั้งหมดที่ต้องการคือ 26 ล้านไร่และกับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดน่านและจังหวัดอื่นๆจะได้จะกลายเป็นขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่

ขณะที่พื้นที่ป่าที่ต้องการเพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศอีก 26 ล้านไร่ ยังไม่มีแนวทางว่าจะทำอย่างไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศมีจำนวนน้อยเทียบไม่ได้กับพื้นที่ที่จะต้องดูแลป้องกันการบุกรุกหรือตามทวงคืน และขณะที่ชาวบ้านที่ไร้ทางเลือกก็ต้องอยู่รอด เพราะไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะขยายตัวต่อเนื่อง

หลักการที่นักอนุรักษ์ เอ็นจีโอ นักวิชาการ ภาคประชาชนต่างเสนอมาตลอดในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็คือ หลักใหญ่ก้คือต้องป้องกันพื้นที่ที่มีอยู่ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ที่มีการบุกรุกไปแล้ว ส่วนที่ยังสามารถฟื้นฟูได้ก็ต้องนำกลับมาฟื้นฟู โดยจัดการอย่างมีส่วนร่วม ให้ท้องถิ่นได้รับประโยชน์เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและป้องป้องดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และเมื่อนั้นชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ จะลุกขึ้นมาฟื้นฟูและป้องกันการบุกรุกป่าธรรมชาติในถิ่นฐานบ้านเขาโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำหน้าที่โปลิศจับขโมยอีกต่อไป เพียงแต่ทำหน้าที่เฝ้าระวังอีกชั้นหนึ่งเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกขยายออกไปอีก

องค์ความรู้การจัดการป่าด้วยวิธีการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ ออกแบบการจัดการทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่างๆ มีมากมายหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่ารูปแบบวิธีการไหนจะเหมาะสมกับวิถีชีวิต ประเพณี สภาพแวดล้อมต่างๆ ของท้องถิ่น เช่น ป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ป่าชุมชน ธนาคารต้นไม้ เป็นต้น

สิ่งที่รัฐจะต้องทำมีเพียงแค่เปิดใจยอมรับความจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐเพียงหยิบมือไม่สามารถป้องกันรักษาพื้นที่ป่าได้ทั้งหมด

เปิดใจยอมรับว่าประชาชนแม้จะมีความต้องการใช้ประโยชน์แต่ก็สามารถหาวิธีการใช้อย่างยั่งยืนได้

เปิดช่องทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้องค์ความรู้เหล่านั้น และให้สามารถเก็บเกี่ยวหาประโยชน์อย่างยั่งยืนให้พวกเขา

วิธีการนี้จะทำให้รัฐมีผู้ดูแลป่าแทนเจ้าหน้าที่ สามารถปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนประเทศเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน อยู่รอดไปได้พร้อมๆ กับคนในพื้นที่ นอกจากวิธีการนี้ใครช่วยบอกที มีวิธีอื่นอีกไหมที่เป็นไปได้บนโลกความเป็นจริงที่จะไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ และทุกฝ่ายอยู่ได้ตามสมควรแก่อัตภาพ

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.facebook.com/plookloei/
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share