ถ้าจะมีการประกวดเพื่อให้รางวัลกับระบบการดำเนินงานอะไรสักอย่างที่คงความเสมอต้นเสมอปลายอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย ผู้เขียนคงต้องขอส่งระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เข้าประกวด และมั่นใจว่าต้องได้รับรางวัลชนะเลิศแน่ ๆ
เพราะตั้งแต่มีการทำ EIA ของโครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นมาผู้เขียนยังไม่เคยพบว่า EIA ฉบับไหนจะเป็นตัวกลั่นกรองผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้เลยสักฉบับเดียว และสิ่งที่เป็นความเสมอต้นเสมอปลายที่เห็นได้ในทุกเวทีวิพากษ์ EIA ก็คือคำสรรเสริญว่าเป็น EIAสุดมั่ว ทั้งข้อมูลไม่รอบด้าน ข้อมูลไม่ครบ ลอกข้อมูลมาจากแหล่งที่ผิดฝาผิดตัว ไม่มีข้อมูลจริงในพื้นที่ ไม่มีข้อมูลนิเวศ ไม่มีข้อมูลทางสังคม และสุดท้ายก็คือ EIA ทำขึ้นเพื่อให้ครบตามกระบวนพิธีกรรม หรืออะไรทำนองนี้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น EIA โครงการเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้า โครงการท่าเทียบเรือ โครงการเหมืองแร่ โครงการตัดถนน โครงการโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ผู้อ่านยังไม่เคยพบว่ามี EIA โครงการไหนแตกแถวไปจากนี้
ล่าสุดของ EIA ที่ไม่แตกแถว คงความเสมอต้นเสมอปลายตามมาอีก 1 โครงการ คือ โครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นก่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ที่กระบี่ขนาดกำลังการผลิต 870 เมกกะวัตต์ ส่วนจะเพื่อรับลูกหรือนำร่องเซาท์เทิร์นซีบอร์ดก็สุดแล้วแต่ รู้แต่ว่า วันนี้จะทำ
โครงการท่าเทียบเรือนี้เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากจะสร้างท่าเทียบเรือแล้วยังจะมีการขุดลอกพื้นทะเลและแนวคลองที่เข้าสู่ฝั่ง เพื่อให้เรือบรรทุกถ่านหินขนาดมหึมาที่จะวิ่งขนส่งตลอดปีนำถ่านหินไปขึ้นฝั่งได้
นักวิชาการหลายคนยืนยันว่าพื้นที่ทะเลบ้านคลองรั้วเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศและทรัพยากรชีวภาพสูงมาก เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแรมซาร์ไซต์ และยังเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่เพิ่งจะมีมติ ครม.รัฐบาลประยุทธ์ ให้ต่อประกาศอายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2557 (รอเพียงกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ)
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษาจาก EIA ฉบับย่อราว 1,000 หน้า ระบุว่า รายงาน EIA นี้ ไม่มีการศึกษาชนิดพันธุ์ปลา หอย กุ้ง หมึก เน้นการศึกษาแพลงตอน สัตว์หน้าดิน และหญ้าทะเล EIA ฉบับนี้จึงไม่ได้บอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่จะถูกกระทบ
ด้านการศึกษาเศรษฐกิจ-สังคม มีแบบสอบถามที่เน้นการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน โดยชี้นำไปที่การเพิ่มการผลิตไฟฟ้า ไม่มีข้อมูลวิถีชีวิต วิถีการผลิตของครัวเรือน ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ชุมชน และเศรษฐกิจที่จะถูกกระทบEIA ฉบับนี้จึงมองไม่เห็นคนในพื้นที่ ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารจากการมีโครงการ
ขณะที่ ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า โครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินขัดกับแผนพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันประจำปี 2557-2560 ที่กำหนดยุทธศาสตร์ว่า “การท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลก บนฐานความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและชุมชน”
ขณะที่ผู้ประกอบกิจการในภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่กำลังเกรงว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นพลังงานสกปรกจะมาทุบหม้อข้าวชาวกระบี่ ที่มาจากการท่องเที่ยวถึงราว 6,000 ล้านบาท (ประมาณการปี 2557) และเมื่อกระบี่สกปรก ทะเลไม่สวยใสไร้เสน่ห์ อาหารอาจปนเปื้อน กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวทั้งอันดามันก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะทะเลกระบี่เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของคนไทยและคนทั่วโลกที่จะไปเที่ยวอันดามัน
นี่ยังไม่รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์ไฟฟ้าภาคใต้ว่ามีใช้จนเหลือกำลังการผลิตอย่างน้อย 29% ขณะที่มาตรฐานกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศต้องการเพียง 15% เท่านั้น กำลังการผลิตที่มีอยู่เกินมาตรฐานไปเท่าตัว จนอาจจะเรียกได้ว่าลงทุนทำเพื่อเผาทิ้ง แล้วมาบวกเป็นค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่าย
“เงินทองของมายา…ข้าวปลาสิของจริง” คำกล่าวของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่สะท้อนถึงรากฐานอันแท้จริงของเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของประเทศไทยตอนนี้ดูเหมือนจะยิ่งก้าวเดินห่างไปจากรากฐานนี้มากขึ้นทุกวัน แม้เราจะยังคงได้ยินนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้บริหารประเทศยุคสมัยต่าง ๆ นำเอาคำพูดเหล่านี้มาใช้บ้าง แต่สิ่งที่พิสูจน์ความเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่ “ลอกเขามาพูด” ก็คือโครงการที่เกิดขึ้นล้วนมุ่งเน้นการแสวงหาของมายาที่เรียกมันว่า GDP และอนุมานเอาว่า เมื่อ GDP เติบโตก็มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ข้าวปลาก็จะตามมาเอง แต่เราจะเห็นว่าด้วยความเสมอต้นเสมอปลายของนโยบายที่มีวิธีคิดแบบตะวันตก (อันนี้ก็ต้องส่งประกวดด้วย) บวกกับความห่วยเสมอต้นเสมอปลายของ EIA โครงการที่ฝันถึง GDP ล้วนทำลายแล้ว กำลังทำลาย และกำลังจะทำลายข้าวปลาที่ซื้อขายได้เงินจริง กินแล้วอิ่มจริงให้เสื่อมโทรมร่อยหรอลงไปทุกวัน พอถึงตอนนั้น GDP ที่เติบโตก็ต้องเอาเม็ดเงินแห่งมายาไปซื้อของกินจากเพื่อนบ้านที่จับทางถูกมากขึ้นกว่าไทยทุกที กับต้องเอาเงินแห่งมายามาซ่อมแซมสังคมที่เสื่อมโทรม ขาดแคลนและอดอยาก
ที่ฝันว่าประเทศจะร่ำรวยวัฒนาสถาพร ก็คงหลงลมภาพมายาต่อไป