in on April 20, 2016

น้ำเพื่อใคร

read |

Views

วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังสัมมนาเวทีสาธารณะนโยบายน้ำจัดโดย สกวครั้งที่ 7 ก็ได้ทราบถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2558-2569  มี 6 ยุทศาสตร์หลัก คือยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค  ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการจากแผน 12 ปี ก็ถ่ายมาลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เช่น

  • ยุทธศาสตร์จัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายว่าจะให้ชุมชนท้องถิ่นมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ดื่มกินให้ทั่วทุกภูมิภาค เพราะปัจจุบันเเมจะมีน้ำสะอาดดื่มเเต่ก็เป็นการซื้อน้ำขวดไม่ใช่การเข้าถึงน้ำที่รัฐจัดหาให้
  • ยุทธศาสตร์น้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) มีแนวทางในการจัดสรรน้ำให้สมดุล เพียงพอสำหรับความจำเป็นพื้นฐานและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ส่วนการจัดสรรน้ำเพื่อภาคเกษตรจะเป็นลำดับรอง โดยมุ่งที่การปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพในการใช้น้ำมากขึ้นและพัฒนาให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง
  •  ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยที่สภาพัฒน์ฯ ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเเละสภาพภูมิอากาศ โดยยอมรับว่าจะไม่สามารถป้องกันทุกพื้นที่ให้พ้นจากอุทกภัยใหญ่ได้  ซึ่งการป้องกันจะเน้นการจัดการและใช้สิ่งก่อสร้าง  ขณะที่ถ้าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากก็จะใช้วิธีการให้พื้นที่ปรับตัว
  • ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน มีเป้าหมายที่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้ได้เป็น 40% ในปี 2564 โดยเน้นการดำเนินการในจังหวัดวิกฤตรุนแรง คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ลำปาง น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย และกระบี่  และในอีก 33 จังหวัดที่มีสถานการณ์ป่าไม้วิกฤต

สภาพัฒน์ฯ ระบุว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้มีที่มาจากประเด็นสถานการณ์ที่ท้าทายจาก

  1. การขยายเมืองเพิ่มขึ้นจึงมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น
  2. ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว ขณะที่ภาคนี้มีศักยภาพในการทำรายได้เข้าประเทศ  แต่ก็มีการใช้น้ำในการให้    บริการมากเช่นกัน
  3. ภาคเกษตรมีการขยายตัว 

ข้อมูลเหล่านี้ ผู้เขียนอยากตั้งประเด็นที่สำคัญอันหนึ่งที่แอบแฝงสังคมไทยมานานพอประมาณแล้วคือการเข้ามาของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเด็นสถานการณ์ที่สภาพัฒน์ระบุว่าท้าทาย (เเละก็ท้าทายจริง) เเต่หากจะเข้าไปดูองค์ประกอบของการที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นซึ่งบีบคั้นหลายๆ พื้นที่อาจจะมองเห็นอย่างชัดเจน เช่น ภูเก็ตมีคนต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยรูปแบบต่างๆ นานาตามแต่จะเลี่ยงกฎหมายได้ มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขยายการท่องเที่ยว จนทำให้เกิดการขยายตัวทั้งภาคเมืองและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และรัฐต้องตอบสนองสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ทั้งน้ำและไฟฟ้า การขยายตัวแบบนี้ ประชาชนคนไทยได้ประโยชน์หรือไม่ ?

ตอนนี้จีนกำลังดำเนินยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ เน้นการพัฒนาลงมาใช้ทรัพยากรทางใต้คือประเทศไทยทำให้เกิดการเข้ามาถือครองที่ดินเเละอสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีการที่กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ตั้งใจเอื้อมไม่ถึง และกำลังกลืนกินธุรกิจท่องเที่ยวด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับทัวร์จีนที่ทะลักเข้ามาเที่ยวเมืองไทยไม่ขาดสายแล้วขนเงินของทัวร์จีนกลับประเทศจีน แม้แต่กระทั่งการขยายตัวของภาคเกษตรในขณะนี้ก็มีเกษตรจีนเข้ามาใช้ดินไทย น้ำไทย ปลูกพืชผักผลไม้แล้วขนกลับไปจีน ทิ้งแต่สารพิษและดินเสื่อมไว้ให้

ชนบทไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค แต่ทุกภาคการใช้น้ำที่อยู่อันดับต้นๆ ล้วนแล้วแต่มีต่างชาติเข้ามาแย่งชิงใช้ทรัพยากรอันจำกัดของคนไทยทั้งสิ้น แม้วันนี้อาจจะเห็นสัดส่วนไม่ชัดเจน อาจเห็นได้เป็นบางพื้นที่อย่างภูเก็ต กระบี่ หรือแถบภาคเหนือ แต่ในอนาคตปัญหานี้อาจจะลามมากขึ้นเรื่อยๆ เเล้วยุทธศาสตร์น้ำคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก : http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/368108
จิตติมา บ้านสร้าง

รายงานสถานะการณ์สิ่งเเวดล้อมในบ้านเมืองกับนักข่าวสาว ผ่านมุมมองเเละเเง่คิดต่างๆ เเบบล้วงลับเจาะลึก

Email

Share