ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับเข่าเมื่อต้องนั่งทำงานนาน ๆ โดยต้องตั้งหลักให้มั่นคงขณะยืนขึ้นก่อนออกเดิน อาการนี้มีผู้แนะนำว่าทุเลาได้โดยการเล่นกีฬาที่ใช้ขาซึ่งรวมถึงการถีบจักรยาน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้นั้นดูน่าพอใจในระหว่างเวลานั้น ๆ แต่เมื่อใดที่ต้องสอนหนังสือ เขียนบทความ หรือนั่งดูโทรทัศน์ ก็ยังปรากฏว่ามีอาการติดขัดบ้างพอสมควร ผู้เขียนจึงได้พยายามหาทางบรรเทาอาการดังกล่าวด้วยการนวดน่องและเข่าเมื่อรู้สึกเมื่อย นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำให้กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งคือ กลูโคซามีน ซึ่งผู้เขียนไม่ใคร่เต็มใจเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแพงและเบิกในส่วนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้
ตำราชีวเคมีกล่าวว่า กลูโคซามีน เป็นสารชีวเคมีธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบของเปลือกสัตว์ตระกูลหอย กระดูกสัตว์ ไขกระดูก และราบางชนิด (ซึ่งมนุษย์ใช้ให้สังเคราะห์กลูโคซามีนจากข้าวโพดเพื่อขายแก่ผู้บริโภคที่เป็นมังสะวิรัติ) ในร่างกายมนุษย์สารชีวเคมีนี้ปรากฏอยู่ในรูปของกลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต โดยทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารชีวเคมีอื่นในกลุ่มที่เป็นน้ำตาลชนิดที่มีอะตอมไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของโมเลกุล (nitrogen-containing sugars)
ร่างกายใช้กลูโคซามีนในการสังเคราะห์ ไกลโคอะมิโนไกลแคน (มีลักษณะเป็นมูกที่อุ้มน้ำได้ดี ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อในร่างกาย) โปรตีนโอไกลแคน (โมเลกุลขนาดใหญ่ของสารประกอบโปรตีนที่ต่อเชื่อมกับสายของน้ำตาลที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ทำหน้าที่เป็นสารชีวเคมีที่เติมช่องว่างเสมือนกาวยึดระหว่างเซลล์) และไกลโคลิปิด (เป็นสารชีวเคมีโมเลกุลใหญ่ที่เกิดจากการต่อเชื่อมระหว่างน้ำตาลและไขมัน มีบทบาทด้านการคงความเสถียรของผนังเซลล์และการจดจำกันได้ของกลุ่มเซลล์ร่างกายเพื่อก่อให้เกิดเนื้อเยื่อขึ้นมา)
นอกจากนี้ Wikipedia ยังกล่าวว่า กลูโคซามีนนั้นเป็นสารชีวเคมีที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) เอ็นยึด (ligaments) กระดูกอ่อน (cartilage) เป็นต้น อีกทั้งในวงการเครื่องสำอางปัจจุบันมีการใช้กลูโคซามีนสังเคราะห์ในการฉีดให้ผิวเต่งตึงที่เรียกว่า ฉีดฟิลเลอร์
สมมุติฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของกลูโคซามีนที่ถูกขายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกล่าวว่า ตัวโมเลกุลกลูโคซามีนนั้นถูกนำไปใช้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อต่อต่าง ๆ ในขณะที่กลุ่มซัลเฟตที่ได้จากกลูโคซามีนซัลเฟตนั้นน่าจะมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์กระดูกอ่อนด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ไปสนับสนุนผลของบางการศึกษาที่พบว่า กลูโคซามีนที่ได้ผลในการบำบัดอาการปวดข้อนั้นต้องอยู่ในรูปกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้น ส่วนกลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์หรือเอ็นอะเซ็ตติลกลูโคซามีนซึ่งมีวางขายในท้องตลาดด้วยนั้น เมื่อผู้บริโภคกินเข้าไปอาจเปล่าประโยชน์
ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นหลักนั้น มักมีการเติมสารอื่น เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต (chondroitin sulfate) กระดูกอ่อนจากปลาฉลาม และสารอื่น ๆ เข้าไปด้วย โดยผู้ค้าหวังว่าจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลูโคซามีนดีขึ้น แต่ความหวังก็อาจเป็นแค่ความหวัง เพราะยังไม่มีใครพิสูจน์ทางวิชาการได้ว่า หวังนั้นเป็นจริง
สิ่งที่น่าสังเกตคือ สินค้าประเภทนี้ในบางประเทศมีการระบุปริมาณกลูโคซามีนซัลเฟตบนฉลากของซองด้วยปริมาณที่ต่างกัน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มักไม่สนใจดูฉลากโดยคิดเอาเองว่า ยี้ห้อที่มีราคาถูกนั้นคงมีปริมาณสารที่ต้องการกินเท่ากับในซองของยี่ห้อที่มีราคาแพงกว่า (เพราะขนาดซองเท่ากัน) แถมบางยี่ห้อได้ลักไก่ขายกลูโคซามีไฮโดรคลอไรด์แทนหน้าตาเฉย
เว็บของ MedlinePlus (https://medlineplus.gov) สังกัด National Library of Medicine (องค์กรหนึ่งของ National Institutes of Health ที่เมือง Bethesda รัฐ Maryland ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นเว็บให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ดีแก่ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นห้องสมุดด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้ข้อมูลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตนั้นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งสร้างความหวังแก่ผู้มีอาการกระดูกเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ปวดข้อเนื่องจากการใช้ยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (Interstitial Cystitis) ปวดขากรรไกร ปวดเข่า ปวดหลัง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสินค้าในรูปครีมใช้ทาตามข้อเพื่อลดอาการเจ็บปวด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะผสมการบูรและ/หรือสารอื่น ๆ เพื่อให้ดูขลังในความรู้สึกของผู้ใช้เช่น นักกีฬาและผู้สูงวัย
MedlinePlus ได้อ้างข้อมูลจาก Natural Medicines Comprehensive Database (องค์กรด้านวิชาการหนึ่งสังกัด California State University ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ) ซึ่งจัดลำดับประสิทธิผลของยาด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็น 7 ลำดับ (คือ ได้ผล น่าจะได้ผล อาจได้ผล อาจไม่ได้ผล น่าจะไม่ได้ผล ไม่ได้ผล และหลักฐานไม่พอว่าได้ผล) ว่า กลูโคซามีนซัลเฟตน่าจะได้ผลในการลดความเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อม ในระดับเดียวกันกับการใช้ยาพาราเซ็ตตามอลหรือยากลุ่ม NSAIDs เพียงแต่ระยะเวลาต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ากลูโคซามีนไม่น่ามีประสิทธิผลในคนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่มีอาการเจ็บปวดมานาน อ้วน หรือเป็นผู้สูงวัย
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบว่าเกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน เนื่องจากมีปริมาณของโปรตีนโอไกลแคน (proteoglycans) ที่ร่างกายสร้างได้ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อลดลง เกิดอาการปวดขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก หรือมีกิจกรรมบนข้อนั้น ๆ การเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนที่พบในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอากลูโคซามีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสร้างโปรตีโอกลัยแคนที่เป็นองค์ประกอบในกระดูกอ่อนมาใช้เพื่อรักษาหรือชะลอการเสื่อมของข้อในโรคข้อเสื่อม
แม้มีบทความวิชาการบนอินเตอร์เน็ทกล่าวถึงการดูดซึมกลูโคซามีนซัลเฟตเข้าสู่ร่างกายว่า สูงกว่าร้อยละ 90 ก็ตาม แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกต (หลังจากอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทำวิจัยถึงประสิทธิผลของกลูโคซามีนในผู้ป่วยต่าง ๆ) คือ ผู้ป่วยที่ใช้กลูโคซามีนได้ผลนั้นน่าจะต้องเป็นผู้ที่ยังคงมีระบบนำสารชีวเคมีนี้ไปสร้างสิ่งที่ร่างกายต้องการได้ ระบบเหล่านี้ส่วนใหญ่คงเป็นระบบที่ต้องใช้เอ็นซัมต่าง ๆ ในการสังเคราะห์ ทั้งนี้เพราะกลูโคซามีนที่ร่างกายสร้างเองนั้นคือ กลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต (ตำราชีวเคมีทั่ว ๆ ไประบุเช่นนี้) และการสร้างสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้อต่อนั้นใช้กลูโคซามีน-6-ฟอสเฟตเป็นสารตั้งต้นทั้งสิ้น ดังแสดงในแผนผังต่อไปนี้
ดังนั้นผู้เขียนจึงสงสัยว่า กลูโคซามีนซัลเฟตซึ่งไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารเสริมจำเป็นหรือไม่ในการที่ต้องถูกร่างกายเปลี่ยนจากรูปซัลเฟตไปเป็นรูปฟอสเฟตก่อนด้วยระบบเอ็นซัมของเซลล์ในร่างกาย หรือร่างกายสามารถใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในการเปลี่ยนไปเป็นสารที่ร่างกายต้องการใช้ได้เลย
เป็นที่น่าเสียดายที่การทำวิจัยส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่า มีการคัดกรองว่าอาสาสมัครยังมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนกลูโคซามีนซัลเฟตไปเป็นสารที่ร่างกายต้องการดีอยู่หรือไม่ การขาดข้อมูลดังกล่าวจึงอาจส่งผลทำให้การศึกษาที่ใช้อาสาสมัครที่มีความสามารถในการทำงานของเอ็นซัมดังกล่าวต่างกัน ให้ผลการศึกษาที่ต่างกัน จนสรุปประสิทธิผลของกลูโคซามีนไม่ได้สักที
ข้อมูลที่ดูดีอีกหน่อยหนึ่งในอินเตอร์เน็ทกล่าวว่า กลูโคซามีนนั้นอาจจะช่วยในการบรรเทาอาการข้อต่อสะโพกเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ยืดอายุข้อเข่าในผู้ที่กินติดต่อกัน อีกทั้งผู้ที่กินยานี้มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ดีข้อมูลประการนี้ยังควรฟังหูไว้หู
Natural Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยบางชุดที่ระบุว่า มีหลักฐานไม่พอในการกล่าวว่ากลูโคซามีน (ซึ่งใช้ร่วมกับสารธรรมชาติอื่น) มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีปัญหาเจ็บข้อต่อเนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการบำบัดมะเร็งเต้านมระยะต้น คนไข้ที่มีอาการเจ็บกระเพาะปัสสาวะ (Interstitial cystitis) คนไข้เจ็บตามข้อต่อ เจ็บเข่า ปวดขากรรไกร เป็นต้น
ในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของกลูโคซามีนนั้น MedlinePlus กล่าวเป็นเชิงว่า การกินนั้นดูปลอดภัยดีถ้ากินถูกต้อง (เป็นลักษณะทั่วไปของการกินยาซึ่งเภสัชกรจะแจ้งวิธีกินให้แก่คนไข้) กลูโคซามีนนั้นน่าจะปลอดภัย (แต่ไม่ได้บอกว่าได้ผลหรือไม่) ในกรณีที่ถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นาน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟต กระดูกอ่อนปลาฉลามและการบูรนาน 8 สัปดาห์
มีข้อกังวลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตนั้นอาจก่อให้เกิดอาการ คลื่นไส้ กรดไหลย้อน ถ่ายท้อง และท้องผูกในผู้บริโภคบางคน ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดเพิ่มเติมได้คือ ง่วงซึม ความผิดปรกติของผิวหนัง และปวดหัว
ประเด็นที่ควรระวังคือ ในหญิงตั้งท้องหรือให้นมลูกนั้นพึงระวังเมื่อคิดจะกินสารนี้ เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของกลูโคซามีนซัลเฟตในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหอบหืดอาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเคยมีกรณีการแพ้ยานี้ในรายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่ง ส่วนในกรณีกลูโคซามีนเพิ่มความเสี่ยงของผู้เป็นเบาหวานประเภท 2 หรือผู้มีระดับคลอเรสเตอรอลสูงนั้นมีข้อมูลว่ามันไม่เป็นตามนั้น แต่ผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับน้ำตาลหรือคลอเรสเตอรอลเป็นประจำ เช่นเดียวกับผู้มีความดันโลหิตสูงก็ควรตรวจวัดระดับความดันเป็นประจำ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กลูโคซามีนนั้นอาจมีปฏิกิริยาต่อกันกับยาที่ใช้บำบัดโรคอื่น ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินร่วมกับยาวอร์ฟารินซึ่งใช้ลดอาการเลือดข้น เพราะมีข้อมูลว่ากลูโคซามีนทำให้ยาดังกล่าวออกฤทธิ์มากขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตผู้ป่วยต่ำลงผิดปรกติ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ตั้งข้อสงสัยว่า กลูโคซามีนอาจไปวุ่นวายต่อประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านมะเร็ง (chemotherapy)
ในสหรัฐอเมริกานั้น กลูโคซามีนถูกจัดให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งขายดีสุด ๆ (เพราะคนอเมริกันนิยมดูกีฬาแต่ไม่ค่อยเล่นกีฬา จึงมีจำนวนคนอ้วนน้ำหนักตัวเกินเยอะ) นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (US.FDA) จึงไม่มีบทบาทในการควบคุมดูแลแต่อย่างไร แม้แต่อำนาจในการขอหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของสินค้าก็ไม่มี ยกเว้นเมื่อสินค้าใดก่อคดีความเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค งานจึงจะเข้าให้ US.FDA พิสูจน์และมีบทบาทในการฟ้องร้องเพื่อผู้บริโภค
สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปนั้น กลูโคซามีนซัลเฟตถูกจัดให้เป็นยาจึงต้องขึ้นทะเบียนพร้อมหลักฐานทางวิชาการถึงประสิทธิผล พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อนำไปใช้บำบัดอาการปวดข้อต่าง ๆ อย่างไรก็ดีในปี 2014 OARSI (Osteo Arthritis Research Society International) ได้แถลงข่าวเป็นเชิงว่า ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนแก้อาการปวดเข่า (เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลยังสับสนอยู่)
จากความไม่แน่นอนทางวิชาการเกี่ยวกับประสิทธิผลของกลูโคซามีนในการรักษาอาการเจ็บข้อต่าง ๆ นั้น ทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยจึงได้ ถอนชื่อของกลูโคซามีนออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งทำให้กรมบัญชีกลางต้องมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ/สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อทราบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ เรื่องการกำหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการโดยได้กำหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีนซัลเฟต คอนดรอยตินซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปในเว็บ www.hfocus.org/content/2015/05/10007 ก็ได้พบข้อมูลว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 132 ตอนที่ 41) ได้ลงประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองได้พิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฏ นัยว่าเพื่อให้เป็นไปตามคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 502/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 503/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง โดยพิพากษา “เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีนซัลเฟต คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) …” ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยให้การเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางนั้นมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ปัจจุบันนี้การที่แพทย์จะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือเกษียณไปแล้วนั้น จำต้องมีการระบุเหตุผลความจำเป็นในการจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีแพทย์ท่านใดประสงค์จะทำสักเท่าไร เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออะไรหลาย ๆ อย่างที่อาจตามมา ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ยังคงต้องจ่ายเงินเองไปก่อน จนกว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าสารชีวเคมีชนิดนี้มีประสิทธิผลในการบำบัดอาการปวดข้อต่าง ๆ ได้ แล้วกลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ