in on February 11, 2016

ปั่นได้ ก็ซ่อมได้

read |

Views

ปั่นจักรยานทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังของการพึ่งตัวเองด้วยแรงน่องและพาหนะทุ่นแรงสองล้อ มนุษย์เราจะไปไหนๆ ก็ไปได้ นักเดินทางหลายชีวิตใช้จักรยานท่องโลกกว้างเพียงลำพังมานักต่อนัก  แต่คงดูไม่จืดนักถ้าเกิดยางแตกตามป่าดงแล้วต้องเข็นข้ามเขาเพื่อตามหาช่างซ่อมจักรยาน  นักเดินทางโดยจักรยานแทบทุกคนจึงฝึกเรียนรู้ที่จะซ่อมจักรยานด้วยตัวเอง

แม้เราไม่ใช่นักเดินทางท่องโลกกลมๆ แต่ทักษะการซ่อมจักรยานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ออกปั่นไปไหนๆ มั่นใจยิ่งขึ้น  ไม่ใช่แค่อุ่นใจว่าจะซ่อมได้เมื่อเกิดปัญหา  แต่ความรู้ด้านการซ่อมจะช่วยให้เราเข้าใจหลักการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ และบำรุงรักษาจักรยานได้ดียิ่งขึ้น การดูแลจักรยานให้พร้อมใช้ได้เสมอ ทำให้โอกาสเสียกลางทางก็ลดน้อยลง ไปด้วย

มาฝึกซ่อมจักรยานกันเถอะ

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิโลกสีเขียวได้เปิดอบรมซ่อมจักรยานเบื้องต้นถึง 2 หนเพราะเสียงตอบรับความต้องการฝึกซ่อมนั้นมีสูงมาก ชนิดที่ประกาศรับสมัครผู้สนใจเมื่อไหร่ ยอดสมัครก็พุ่งเต็มเป้าหมายที่รองรับได้ในชั่ววันเดียว

ปัจจุบันแม้ร้านจักรยานเกิดใหม่จะผุดขึ้นมากมาย แต่ร้านที่มีช่างรับซ่อมจักรยานจริงๆ กลับไม่ได้หาง่ายทั่วถึงเหมือนร้านสะดวกซื้อทั่วๆ ไป จักรยานเสียเมื่อไหร่เป็นอันต้องเสียเวลาเข็นจูงระยะทางไกลมาร้านทุกที ด้วยเหตุนี้ละมั้งใครๆ ก็อยากฝึกซ่อมด้วยตัวเอง

ที่จริงแล้วจักรยานเป็นกลไกที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน มองด้วยสายตาก็พอทำความเข้าใจการทำงานต่างๆ ได้ โดยแทบไม่ต้องถอดรื้อสิ่งใดเลย  การฝึกซ่อมจักรยานจึงเป็นการพัฒนาทักษะที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ไม่ยากเย็นนัก

ผมเอง ซึมซับการซ่อมจักรยานมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยการเป็นลูกมือช่วยหยิบส่งเครื่องมือต่างๆ เวลาพ่อซ่อมจักรยาน  พอซ่อมได้สำเร็จผมเองก็พลอยภูมิใจไปด้วยทุกครั้ง (แม้จะมีหน้าที่แค่จับจักรยานเฉยๆ ก็ตาม)

เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีจนโตเป็นหนุ่ม ทักษะการซ่อมจักรยานก็ติดตัวเราไปโดยแทบไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ  จุดไหนเสียก็เรียนรู้ซ่อมจุดนั้นด้วยการลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ

ผมคิดว่าเคล็ดลับสำคัญในการหัดซ่อมจักรยานจริงๆ มีอยู่ง่ายๆ แค่ หมั่นสังเกตและลงมือทำไปก็เท่านั้นเอง แต่หากจะสรุปเป็นแนวทางให้เรียนรู้รวดเร็วยิ่งขึ้น อาจแบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้


1. 
สังเกตกลไกการทำงานของส่วนต่างๆ ในเชิงการออกแบบ ไม่มีส่วนไหนที่ออกแบบมาโดยไม่มีความหมาย ความโค้ง เว้า ร่อง รูต่างๆ ล้วนออกแบบมาอย่างมีเหตุผล หากเราสังเกตรู้ได้ว่าอะไรทำงานอย่างไร คิดจะซ่อมแซมก็ไม่ใช่เรื่องยาก  แค่ลงมือทำให้กลไกที่บกพร่องทำงานได้ตามเติมเท่านั้นเอง

2. การซ่อมแซมเป็นทักษะที่ต้องฝึกลงมือทำเอง เมื่อได้ทำเอง เราจะได้เรียนรู้รายละเอียดและจดจำขั้นตอนการซ่อมแซมต่างๆ ได้ดีขึ้น หลายคนไม่กล้ารื้อจักรยานออกมาซ่อม เพราะกลัวไม่สามารถประกอบไปเหมือนเดิมได้ แต่จริงๆแล้วจักรยานทั่วๆ ไป สามารถถอดรื้อออกมาได้แทบทุกส่วนโดยไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร  ยิ่งกล้ารื้อก็จะยิ่งมีประสบการณ์มาก

3. หากกลัวแกะออกมาแล้วประกอบกลับคืนเหมือนเดิมไม่ได้  การถ่ายรูปจุดที่ต้องการรื้อไว้ก่อน ยิ่งหลายมุมยิ่งดี ก็ช่วยให้เราสามารถตรวจเช็คดูย้อนหลังได้  การถอดอะไหล่ทีละชิ้นวางเรียงส่วนต่างๆ อย่างมีลำดับก่อนหลังให้เป็นระเบียบก็เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่คนรุ่นก่อนยุคดิจิตอลใช้ซึ่งช่วยให้สามารถประกอบร่างกลับคืนได้ง่าย เหมือนเดิมเป๊ะ ชนิดน็อตต่อน็อตเลยทีเดียว

4. หากรู้สึกไม่มั่นใจในการซ่อม เราอาจเลือกไปใช้บริการร้านซ่อมจักรยานก่อนก็ได้ แล้วใช้วิธีครูพักลักจำ สังเกตขั้นตอนต่างๆ จากช่างอีกที ถ้าช่างว่างๆ บางครั้งเขาอาจช่วยแนะนำเราได้ อีกช่องทางหนึ่งคือการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันเรามีคลังความรู้ด้านจักรยานอยู่มากมายหลายเว็บไซต์มีรูปประกอบคำอธิบายแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจนก็ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้มากทีเดียว

การซ่อมด้วยตนเองบางครั้งอาจเสียเวลามากมือเปื้อนเล็บดำหรือแม้กระทั่งทำได้ไม่ดีเท่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่างมืออาชีพแต่การซ่อมจักรยานได้เองยิ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังของการพึ่งตัวเองในมิติที่กว้างขึ้น

ยิ่งพึ่งตัวเองได้มาก ชีวิตยิ่งเป็นอิสระมาก

ที่มา : นิตยสาร a day ฉบับที่ 175 (มี.ค.58)
อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=587&t=811893
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์

"ชีวิตการเดินทางในชีวิตประจำวันบนถนนเเสนจะยุ่งยาก เเถมต้องเจอกันคนอัดเเน่นบนรถเมล์เรามีจักรยานอยู่ที่บ้านทำไมไม่ลองเอามาขี่ดู" ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการจักรยาน นักรณรงค์ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิโลกสีเขียวและเป็นผู้พัฒนาเเผนที่จักรยานในกรุงเทพจนกลายมาเป็นเเอปพลิเคชัน "ปั่นเมือง" ในที่สุด เพื่อมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองจักรยาน

Email

Share