in on March 26, 2018

มุสาผู้บริโภคต้องเจอดี

read |

Views

สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศที่มีระบบการให้สิทธิและอำนวยเสรีภาพแก่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ใครที่คิดจะหากินด้วยการหลอกลวงขายสินค้าไร้สาระนั้น ประเทศนี้ยินดีเชิญชวนให้เข้าทำกิจการ เพียงแต่อย่างให้มีผู้บริโภคหรือนักร้อง (เรียน) คนใดทนไม่ไหวนำเรื่องส่งถึงศาลว่า มีการโฆษณาโดยไม่มีหลักฐานว่าเป็นจริง เมื่อนั้นผู้ทำการค้าแบบไม่สุจริตจะพบความจริงว่า การลงโทษนั้นมีจริงบนโลกนี้

บทความนี้จะยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในประเทศที่มีการบริหารเสรีภาพอย่างสุด ๆ และมีการบังคับใช้กฏหมายแบบไม่มีการยกเว้น (ต่างจากบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้เท่าที่เป็น เพราะพัฒนาต่อไปไม่ไหวแล้ว) โดยเรื่องราวต่อไปนี้สอนให้รู้ว่า จะโฆษณาขายสินค้าแบบมั่ว ๆ ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้นะ เพราะประเทศนี้ก็มีนักร้อง (เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค) ระดับชาติเหมือนบางประเทศทางเอเชีย (ที่คอยร้องเรียนพฤติกรรมมั่วซั่วทางการเมือง) และศาลอเมริกันนั้นเอาจริงเสมอถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับละเมิดผลประโยชน์ของผู้บริโภค

โฆษณารองเท้าวิเศษ เรื่องแรกที่ขอนำมาบอกเล่าเพื่อเปรียบเทียบว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในบ้านเราหรือไม่คือ มีบริษัทหนึ่งขายรองเท้าโดยโฆษณาว่าเป็น “รองเท้าที่ใส่แล้วเหมือนวิ่งด้วยเท้าเปล่า” โดยรองเท้านี้ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาช่วงล่าง ปรับปรุงการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความว่องไว ช่วยให้เท้าและลำตัวเคลื่อนที่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ลักษณะพิเศษของรองเท้านี้คือ มันต่างจากรองเท้ายี่ห้ออื่นที่โด่งดังในวงการวิ่งทั้งหลายตรงที่ถูกออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมีนิ้วเท้าห้านิ้วและส้นค่อนข้างบางมาก (FiveFingers shoes) นัยว่าเมื่อใส่แล้วเหมือนไม่ได้ใส่

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและอินเทรนด์มาเมื่อหลายปีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา มีการประเมินว่าอาจมีลูกค้าถึง 70 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อในราคาคู่ละเกือบ 100 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็มีนักร้อง (เรียน) ชาวอเมริกันคนหนึ่งเอาเรื่องถึงศาลว่า บริษัทเหมือนทำโฆษณาแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบในการโฆษณามั่วซั่วเกี่ยวกับสุขภาพเท้าของประชาชน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพบางคนกล่าวว่า รองเท้าประหลาดนี้อาจทำให้สุขภาพเท้าเสื่อมได้เมื่อใส่วิ่ง สุดท้ายในปี 2012 บริษัทจึงถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับให้กับทางการคือ กระทรวงพาณิชย์ (Federal Trade Commission) ราว 3.75 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ และต้องคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปราวคู่ละ 20- 50 เหรียญ

น้ำบ้วนปาก เรื่องที่สองที่แสดงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างสุด ๆ ในสหรัฐอเมริกาคือ ในปี 2005 มีน้ำบ้วนปากยี่ห้อหนึ่งซึ่ง (น่าจะ) ขายดีในบ้านเราเช่นกันถูก Federal Judge (น่าจะหมายถึง ศาลสูง) สั่งให้แพ้คดีที่บริษัทผลิตไหมขัดฟันฟ้องว่า โฆษณามั่วซั่ว เพราะไปอ้างว่า น้ำบ้วนปากของบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพดีเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกร่น ข่าวกล่าวว่า ผู้พิพากษาชาวอเมริกันเชื้อสายจีนตัดสินพร้อมให้ความเห็นว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการทำวิจัยก่อนกล่าวอ้างเอาเองแบบนี้ ซึ่งบริษัทขายน้ำบ้วนปากก็รับรู้แล้วจ่ายค่าปรับโดยดี

เมื่อตามข่าวเกี่ยวกับน้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ในทางลึกพบว่า เมื่อปี 1976 ซึ่งขณะนั้นบริษัทที่ผลิตน้ำบ้วนปากนี้เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ได้ถูกคำพิพากษาให้ใช้เงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการทำโฆษณาเผยแพร่ว่า โฆษณาเดิมที่อ้างว่า น้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ป้องกันหวัดและอาการเจ็บคอได้ นั้นไม่เป็นความจริง

โฆษณาเกี่ยวแอพพลิเคชั่น เรื่องที่สามนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่เราพยายามเป็น ไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ โปรดพิจารณา เพราะมันเกี่ยวกับการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนซึ่งมีการอวดอ้างว่า การส่งภาพลามก (salacious pictures) ตลอดจนการเขียนหรือส่งต่อข้อความลามก (sexting) ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่บริษัทหนึ่งเขียนขึ้นนั้นจะไม่มีใครสามารถเก็บไว้ได้ (พูดง่าย ๆ คือ ถ่อยกันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวมีการเก็บไว้เป็นหลักฐาน) เพราะมันจะถูกลบไปในเวลาสั้น ๆ ตามที่ผู้ส่งกำหนดไว้

สำหรับในบ้านเรานั้น มีการแนะนำแอพพลิเคชั่นนี้บนเว็บภาษาไทยโดยตอนหนึ่งกล่าวว่า “รูปที่ส่งไป หลังจากที่ผู้ใช้งานเปิดดูรูป จะมีเวลาจำกัดในการดูตามเวลาที่ถูกตั้งไว้ สามารถกด Replay ได้ 1 ครั้ง/1 วัน หลังจากนั้น รูปนั้นก็จะหายไปจากระบบตลอดกาล (แต่เราสามารถแคปเก็บไว้ได้นะครับ) อีกทั้งไม่ใช่เพียงแต่รูปที่หายไป แต่หากเราไม่ได้กดเซฟข้อความไว้ ข้อความที่เราคุยก็จะหายไปเช่นกัน”

ข้อมูลจาก Wikipedia เล่าประมาณว่า แอพพลิเคชั่นที่ถูกร้องเรียนว่าหลอกลวงในโหมด Social Network นี้เป็นของบริษัทหนึ่งซึ่งก่อตั้งในปี 2011 โดยเริ่มแรกเป็นการสื่อสารกันผ่านรูปถ่ายและคลิปสั้น ๆ เป็นหลัก แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเรื่อย ๆ (มีเยอะมาก) จนตอนนี้สามารถ ส่งรูปถ่าย, คลิปสั้น, ข้อความ จนไปถึง Video call

ผู้เขียนพบคำอธิบายถึงการใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นภาษาไทยแล้วประมาณว่า ทั้งรูปและข้อความนั้นสามารถแคปเก็บไว้ได้ ดังนั้นผู้ใช้จึงควรคำนึงตลอดเวลาว่า ปรกติแล้วบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีปุ่ม PrtScn ไว้ให้เราเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนจอภาพอยู่แล้ว สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งผู้เขียนไม่ชำนาญนั้นก็คงมีปุ่มวิเศษนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติการในการส่งภาพหรือข้อเขียนที่สังคมไม่นิยมในที่แจ้ง (แต่อาจแอบดูในที่ลับ) ด้วยแอพพลิเคชั่นนี้แล้ว ก็ควรทำใจสบาย ๆ เกี่ยวกับผลกรรมที่อาจตามมาได้ในอนาคต

โฆษณาน้ำผลไม้คั้น การหลอกผู้บริโภคต่อไปนั้นเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมาเกี่ยวข้องกับอาหารที่เรากินคือ คำว่า Naked ที่มีความหมายว่า เปลือย คำ ๆ นี้ถูกนำไปรวมกับคำว่า น้ำผลไม้ แล้วจดทะเบียนเป็นยี่ห้อสินค้าหนึ่งซึ่งจริงแล้วคือ น้ำผลไม้ต่าง ๆ (ในรูปน้ำผลไม้สดหรือน้ำผลไม้ปั่น) ที่ผลิตแล้วจัดว่าอยู่ในชั้น premium สำหรับผู้ดื่ม โดยเมื่อสำรวจราคาในอินเตอร์เน็ทแล้ว น้ำผลไม้ชนิดนี้เมื่อขายในสหราชอาณาจักรนั้น ราคาถูกสุดคือ 2.36 ปอนด์ต่อขวดขนาด 100 มิลลิลิตร คิดเป็นเงินไทยคร่าว ๆ คือ ขวดละ 100 บาท ส่วนในสหรัฐอเมริการที่เห็นโฆษณาขายในเน็ทขวด (1 ออนซ์) ราคาประมาณ 5-25 เหรียญดอลลาร์

 

สินค้านี้แต่เริ่มเดิมนั้นเริ่มผลิตในปี 1983 เป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดแช่เย็น ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อขายแก่ขานู๊ดที่ชอบไปอาบแดดที่ชายหาด ซานตา-มอนิกา (Santa Monica) รัฐแคลิฟอร์เนีย สินค้านี้เสียง่ายมากเนื่องจากเป็นของสด ไม่มีวัตถุกันเสีย จึงต้องแช่เย็นที่ใกล้ 0 องศาเซลเซียส แต่ความที่สินค้านี้คงเป็นที่ถูกอกถูกใจขานู๊ดซึ่งมีอันจะกินทั้งหลาย มันจึงขายดีมากจนสุดท้ายในปี 2001 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่หนึ่งทนไม่ไหวต้องซื้อลิขสิทธิ์สินค้าแล้วทำการ rebranding ขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพ แล้วในปี 2012 ก็เจอดีโดนหน่วยงานรัฐฟ้องว่าโฆษณาที่ว่า “The product was 100% Juice, was “All Natural, contained Nothing Artificial, and was Non-GMO” นั้นเกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วมีการเติมน้ำตาล และน้ำตาลเทียม ใยอาหาร กลิ่นรสสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ ไม่ได้มีแต่น้ำผลไม้เพียงอย่างเดียว สุดท้ายบริษัทผู้ผลิตได้ยอมลบข้อความอวดอ้างเกินจริงออกจากฉลากอาหาร ส่วนคำว่า Non-GMO นั้นยังพิสูจน์ได้ยากจึงขอเก็บไว้บนฉลากก่อน จนกว่าจะมีนักร้องประจำชาติร้องเรียนต่อศาล

น้ำผลไม้ดังกล่าวนี้มีการโฆษณาว่า good for you ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น มันเป็นภัยต่อสุขภาพอย่างมหันต์เนื่องจากมีความหวานโคตร ๆ ตัวอย่างเช่น น้ำทับทิมผสมบลูแบร์รี่นั้นมีน้ำตาลทรายถึง 61 กรัม หรือ 5.3 ช้อนโต๊ะต่อขวด หรือ 1 ช้อนชาต่อออนซ์ ซึ่งมากกว่าน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำดำที่แสนหวานเสียอีก

ในประเทศไทยนั้นก็ยังมีผู้ใช้ชื่อเลียนแบบน้ำผลไม้ที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ผ้านี้ โดยมีคำโฆษณาใน Facebook ประมาณว่า “น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพสกัดเย็น “Naked Juice by PPP” นั้นผลิตจากเครื่องที่ใช้ทำการสกัดเย็นโดยเฉพาะจึงรักษาวิตามินและเอนไซม์ไว้ได้นานกว่าเครื่องใบมีดที่ใช้ความร้อนในการคั้น เราคั้นสดใหม่ทุกวัน น้ำผักผลไม้แต่ละขวดยังอุดมไปด้วยวิตามินและเอนไซม์ที่ดีและมีประโยชน์สำหรับร่างกาย เหมาะสำหรับท่านที่เป็นภูมิแพ้หรือต้องการเพิ่มวิตามินให้ร่างกาย มีทั้งแบบสูตรน้ำผลไม้ธรรมดาและแบบ detox ล้างลำไส้ ซ่อมแซมระบบขับถ่าย ดื่มได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดื่มง่ายมีหลายรสชาติ” สินค้าดังกล่าวนี้ยังคงมีขายในอินเตอร์เน็ทของไทย เข้าใจว่าเพื่อสนองนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” ที่ปรากฏบนหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง

โฆษณาอาหารเช้า เมื่อปี 2009 ในสหรัฐอเมริกานั้นกระแสความตื่นกลัวของผู้บริโภคเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู (H1N1) กำลังแรง บริษัทขายอาหารเช้าชนิดที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบ ซึ่งตัวสินค้านั้นมีความละม้ายคล้ายข้าวเม่าคั่ว (เพียงแต่ข้าวเม่าคั่วบ้านเราอร่อยกว่า) ได้ทำฉลากติดพาดกลางกล่องสินค้าที่ผลิตจากข้าวโพดว่า สินค้าซึ่งบริษัทผลิตนี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็กได้ดี พร้อมการอวดอ้างว่า การกินสินค้าดังกล่าวด้วยปริมาณที่บริษัทแนะนำนั้นทำให้ผู้บริโภคได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารอาหารถึงร้อยละ 25 ของที่ร่างกายต้องการ ทันใดที่ข้อมูลบนฉลากกระทบตานักวิชาการ คำถามถึงที่มาและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลถึงที่มาของข้อความดังกล่าวก็ถูกตั้งประเด็นขึ้นบนโลกโซเชียล สุดท้ายบริษัทก็ฉีกฉลากดังกล่าวทิ้งถังขยะไป

ในปีเดียวกันนั้นกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ขอคำอธิบายจากบริษัทเดียวกันว่า การอวดอ้างว่าสินค้าหนึ่งซึ่งทำจากข้าวสาลีนั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการเกี่ยวกับ ความเอาใจใส่ (attentiveness) สูงขึ้นร้อยละ 20 นั้น ท่านได้แต่ใดมา ซึ่งทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจึงได้สั่งแบบปราณีให้บริษัทถอดโฆษณาดังกล่าวออกพร้อมสำทับว่า คราวหน้าถ้าจะโฆษณาอะไรก็ตามเกี่ยวกับสินค้าว่ามีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคนั้น ขอให้ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และปล่อยข้อมูลออกมาในลักษณะที่ไม่ทำให้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคกินฟางเป็นอาหารหลัก

ชาวอเมริกันที่มาพักโรงแรมในประเทศไทย อาจมีโอกาสได้ดูโฆษณาสินค้าอาหารบางชนิดทางโทรทัศน์แล้วคงประหลาดใจว่า โฆษณาสินค้าดังกล่าวนั้นหลุดรอดออกมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร เพราะสินค้าเหล่านั้นบอกว่า ผู้ที่กินเข้าไปแล้วจะฉลาดขึ้น เหมือนคนที่มะงุมมะงาหราอยู่ในที่มืดมานานแล้วสามารถเปิดไฟสว่างมองเห็นทางออก (ในการเข้ามหาวิทยาลัย) ได้ โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ความฉลาดของมนุษย์นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวคุม โดยสภาวะโภชนาการซึ่งเป็นผลจากการกินอาหารนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ต้องเป็นการกินอาหารที่ครบหมู่ต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่สินค้าที่คล้ายได้จากการต้มโครงหมูกระดูกไก่แล้วเติมสีคาราเมลก่อนบรรจุขวดขาย

โฆษณาเครื่องสำอาง ปัจจัยที่ห้าในชีวิตของสตรีและผู้ที่ปฏิเสธเพศสภาพเดิมต้องหามาใช้บำรุงชีวิตนั้นคือ เครื่องสำอาง ผู้เขียนได้ดูภาพยนต์สั้นเรื่องหนึ่งใน YouTube เกี่ยวกับสตรีไทยผู้มีอาชีพจริงเป็นนางแบบภาพเปลือย (ซึ่งทำให้พอเข้าใจบ้างในความหมายของคำว่า nude นั้นคืออะไร) มีตอนหนึ่งที่สะกิดใจมากคือ นางแบบนั้นขอทาอายไลเนอร์ (คงหมายถึงเขียนขอบตา) ก่อนถ่ายภาพทั้งที่วันนั้นจะถ่ายภาพที่มองไม่เห็นส่วนดวงตาของเธอก็ตาม ซึ่งก็เป็นข้อคำนึงว่า สตรีส่วนใหญ่ถ้ามีโอกาสต้องขอจัดการบริเวณหน้าสักหน่อย ไม่ว่าก่อนนอนหรือออกไปไหน ๆ โดยหวังว่ามันจะช่วยให้ดูไม่แก่ตามกาลเวลาที่ผ่านไป

 

ในปี 2009 นั้นผู้ดูแลด้านกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษ (U.K.’s Advertising Standards Authority) ได้สั่งห้ามการโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นครีมที่ใช้การทะนุบำรุงผิวหนังบริเวณหลังตาที่มีการขายไปทั่วโลก โดยการสั่งห้ามนั้นมาจากสาเหตุที่ในการโฆษณานั้นได้ใช้นางแบบวัยดึกอายุราว 60 ปี คนหนึ่งซึ่งเคยถูกขนานนามว่า สวยแบบผอมกระหร่องที่สุดในโลก (นางเข้าวงการเดินแบบเมื่ออายุ 15 ปีในปี 1966 โดยเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสไตล์ “Androgyny” ซึ่งเป็นสไตล์กึ่งหญิงกึ่งชาย หรือในความหมายที่อธิบายให้ง่ายคือ มองด้านหน้าเหมือนเห็นด้านหลังนั่นเอง) มาอวดอ้างว่า ครีมนั้นป้องกันตีนกา (ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า crow’s feet) ได้ หลังจากการพูดจากันระหว่างผู้ดูแลกฏหมายและผู้ประกอบการซึ่งสุดท้ายก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า ภาพที่โฆษณานั้นใช้การตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์ (retouching) เพื่อกำจัดริ้วรอยของความแก่ตามวัยที่หางตานางแบบนั้นออกไป และสุดท้ายของสุดท้ายบริษัทก็เปลี่ยนภาพนางแบบวัยดึกให้เป็นสตรีเยาวัยแทน

จะเห็นว่าปรากฏการณ์เอาเรื่องของผู้ดูแลกฏหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางในอังกฤษนั้น ยากที่จะเกิดในหลายประเทศ เพราะผู้ดูแลกฏหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางส่วนใหญ่ในประเทศที่หวังจะพัฒนานั้น มักใช้กระบวนการประมาณว่า (สมน้ำหน้า) ถ้าเครื่องสำอางนั้นใช้ไม่ได้ผลก็ให้โยนลงถังขยะแล้วอย่า (โง่) ไปซื้อมาใช้อีก โดยไม่คำนึงเลยว่า ค่าโง่ของผู้บริโภคนั้นมันหลายเงินทีเดียว

โฆษณาขนมที่ไม่ขนมอย่างที่คิด คนไทยส่วนใหญ่คงเคยกินผลไม้กวน โดยผลไม้กวนที่น่าจะเป็นผู้นำในความอร่อยและราคาไม่แพงคือ มะม่วงกวน สำหรับคนอเมริกันซึ่งหลายส่วนไร้โอกาสได้กินมะม่วงกวนของไทยนั้น เมื่อจะกินผลไม้กวนที่ผลิตในประเทศนั้นอาจพบว่า มันเป็นผลไม้กวนปลอมปนได้ ดังในกรณีที่บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเมื่อเริ่มตั้งบริษัทนั้นขึ้นชื่อในการผลิตอาหารที่ทำจากแป้ง จากนั้นก็ขยายผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย พร้อมธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารที่ขึ้นชื่อลือชามากคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดอบกรอบชนิดที่ขายดีในวันฮาโลวีน) ได้ผลิตขนมผลไม้กวนม้วนดูคล้ายมะม่วงกวนบ้านเรา โดยใช้ชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำจากสตอร์เบอรรี่ ทั้งที่มีส่วนผสมหลักคือ น้ำคั้นจากลูกแพร์เข้มข้น ผสมน้ำตาลข้าวโพดเข้มข้น (corn syrup) น้ำตาลทราย และอื่น ๆ เช่น เพ็กตินซึ่งช่วยทำให้สินค้าเป็นแผ่นเหมือนผลไม้กวน และอาจมีสตอร์เบอรรี่บ้างแต่ไม่ถึงร้อยละ 2

การหลอกพ่อแม่เด็กชาวอเมริกันว่า สินค้านั้นทำจากผลไม้ธรรมชาติแล้วโฆษณาว่า เด็กจะมีสุขภาพดีเพราะได้สารอาหารเหมือนกินผลไม้แท้นั้น กระตุ้นให้ The Center for Science in the Public Interest (CSPI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรมีที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้นเกิดอาการหัวร้อนจัดการฟ้องร้องบริษัทนี้ในด้านการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2011 จนสุดท้ายมีการตกลงกันนอกศาล (ตามระบบของสหรัฐอเมริกา) ว่า ผู้ผลิตจะเลิกใช้รูปผลไม้บนฉลากสินค้า เลิกอวดอ้างว่าทำจากผลไม้แท้ หรือข้อมูลที่ทำให้ผู้จ่ายเงินซื้อเข้าใจว่า ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้แท้ การเปลี่ยนแปลงนี้กระทำครบอย่างไม่เต็มใจในปี 2014

บทสรุป จากการดูตัวอย่างการลงโทษการโฆษณาสินค้าอย่างไร้ยางอายในสหรัฐอเมริกานั้น อาจทำให้ท่านผู้อ่านคิดถึงผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีขายในบ้านเราที่ยังลอยนวลอยู่ได้ ผู้เขียนยกตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบเมื่อสมัยยังทำงานสอนอยู่คือ หลังจากการชงกาแฟ 3 in 1 ยี่ห้อหนึ่ง ปรากฏว่าเกิดกลิ่นหอมออกไปจากห้องทำงานถึงทางเดินส่วนกลางจนมีผู้ตามกลิ่นเข้ามาดูว่า กาแฟอะไรทำไมถึงหอมอย่างนี้ ซึ่งเมื่อดูที่ฉลากบนซองแล้ว ปรากฏมีการระบุชัดเจนว่า เติมกลิ่นรสกาแฟสังเคราะห์ ซึ่งน่าจะเป็นสารเคมีชนิดเดียวกันกับที่ผู้เขียนได้เคยประสบมาแล้ว เมื่อวันหนึ่งเดินเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเวลาประมาณ 10.30 น. ก็ได้กลิ่นกาแฟหอมฉุยมาจากร้านกาแฟร้านหนึ่ง จึงเดินตามกลิ่นไปดู สิ่งที่พบคือ พนักงานร้านยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟ เพียงแต่เอาสเปรย์กลิ่นกาแฟฉีดทำบรรยากาศเท่านั้น

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สินค้าที่ท่านซื้อมาในวันนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการได้ในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีในการตบตาทั้งการผลิตและโฆษณานั้นก้าวล้ำไปไกลแล้ว

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share